สำนักงานจัดการทรัพย์สิน จุฬาฯ ปั้นบรรทัดทอง-สามย่าน ให้เป็นแหล่งรวมร้านสตรีทฟู้ดที่มีความหลากหลาย เน้นสุขอนามัย คุณภาพและความอร่อย โดยตั้งอยู่ใจกลางเมือง เดินทางสะดวก เพื่อดึงดูดผู้บริโภคและผู้ประกอบการทั้งชาวไทยและต่างชาติ นับเป็นการปลุกพลัง Soft Power ที่ได้รับความนิยมจากนานาประเทศ
“ที่นี่จะเป็นอีกย่านหนึ่งได้รับความนิยมไม่แพ้สยามสแควร์ หรืออาจจะมากกว่าก็ได้”
รองศาสตราจารย์ ดร.จิตติศักดิ์ ธรรมาภรณ์พิลาศ รองอธิการบดี ด้านการจัดการทรัพย์สินและกายภาพ และผู้อำนวยการสำนักงานจัดการทรัพย์สิน จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย (PMCU) กล่าวถึงเป้าหมายที่จะพัฒนาบรรทัดทอง-สามย่านให้เป็นสวรรค์ของนักชิม รวมความอร่อยหลากหลาย ทั้งอร่อยระดับตำนาน ระดับมิชลินไกด์ และอร่อยตามกระแส
“นอกจากนักชิมจะได้ลิ้มรสความอร่อยที่หลากหลายและถูกหลักอนามัยแล้ว ยังจะได้สัมผัสบรรยากาศ Thai Street Food แบบใหม่ ที่มีระบบสาธารณูปโภคที่ดี ร้านอาหารเป็นระเบียบ ไม่กีดขวางทางสัญจร ปลอดภัย ลูกค้าเดินทางมาง่ายและมีจุดจอดรถสะดวก” รศ.ดร.จิตติศักดิ์ กล่าวเน้นจุดเด่นของย่านอาหารริมทางแนวใหม่
รศ.ดร.จิตติศักดิ์ กล่าวถึงย่านจุฬาฯ บรรทัดทอง และสามย่าน ว่า เป็นย่านที่มีศักยภาพสูงด้วยหลายปัจจัยที่ลงตัว ประการแรก สำนักงานจัดการทรัพย์สิน จุฬาฯ (PMCU) มีโครงการพัฒนาที่ดินขนาดใหญ่อยู่แล้ว มีการจัดหมวดหมู่ร้านค้า (zoning) ให้มีเอกลักษณ์และความชัดเจน อย่างที่เลือกให้บรรทัดทอง-สามย่านเป็นแหล่งรวม Thai Street Food
“ย่านบรรทัดทอง-สามย่านมีต้นทุนที่ดีมากอยู่แล้ว คือ เป็นถนนที่มีร้านอาหารหลากหลาย ทั้งร้านดั้งเดิมและร้านอาหารที่ย้ายมาจากตลาดน้อยและเยาวราช”
รศ.ดร.จิตติศักดิ์ กล่าวว่า การตั้งร้านของหาบเร่แผงลอยริมถนนอาจทำลายทัศนียภาพของเมืองไปบ้าง แต่ก็ตอบโจทย์การใช้ชีวิตของคนเมืองอย่างลงตัว เนื่องจากอาหารริมทางตอบโจทย์ความหลากหลายของอาหาร การตั้งร้านหรือแผงลอยมีลักษณะคล้ายศูนย์อาหารที่ตั้งอยู่ในพื้นที่โล่ง ผู้บริโภคสามารถเลือกอาหารที่ชอบได้หลายประเภท ทั้งอาหารคาว หวาน ทานเล่น เครื่องดื่ม โดย street food ตอบโจทย์เรื่องราคา ด้วยความที่ไม่มีค่าเช่าที่ หรือค่าเช่าราคาไม่แพง ทำให้แผงลอยหรือร้านอาหารริมทางเป็นที่พึ่งของกลุ่มคนจนเมืองและกลุ่มผู้ใช้แรงงาน
ส่วนในมุมเศรษฐกิจมหภาค อาหารริมฟุตบาท ร้านอาหารริมทาง เป็นสีสันทางวัฒนธรรมที่ตอบโจทย์เศรษฐกิจของประเทศ โดยศูนย์วิจัยกสิกรไทยได้ประมาณไว้ว่ามูลค่าตลาดของธุรกิจอาหารริมทางในปี 2566 จะสูงถึง 4.25 แสนล้านบาท
สำหรับความอร่อยสไตล์สตรีทฟู้ดย่านนี้ มี 3 แนวด้วยกัน คือ
1. ร้านดังในตำนาน เป็นร้านอาหารดั้งเดิมที่เคยอยู่ในพื้นที่นี้ ขายกันตั้งแต่รุ่นพ่อถึงรุ่นลูก เช่น ร้านโจ๊กสามย่าน ร้านเจ๊แดง ร้านน้ำเต้าหู้เจ้วรรณ
2. ร้านดังระดับมิชลินไกด์ เช่น ข้าวต้มปลากิมโป้ ร้านเอลวิสสุกี้ & ซีฟู้ด ร้านล้งเล้งลูกชิ้นปลา
3. ร้านอร่อยตามกระแส เช่น ร้าน CQK Mala Hotpot ร้านหนึ่ง-นม-นัว ร้านฉันจะกินชาเย็นทุกวัน ร้านขนมไทยแม่เดือน
โดย สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (20 ธ.ค. 66)
Tags: Soft Power, จิตติศักดิ์ ธรรมาภรณ์พิลาศ, จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย, บรรทัดทอง, สตรีทฟู้ด, สามย่าน, สำนักงานจัดการทรัพย์สิน จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย