นพ.ทวีทรัพย์ ศิรประภาศิริ นายแพทย์ทรงคุณวุฒิ กรมควบคุมโรค กระทรวงสาธารณสุข (สธ.) กล่าวถึงผลการศึกษาประสิทธิผลของวัคซีนป้องกันโควิด-19 จากการใช้จริง ว่า ที่ผ่านมา ประเทศไทยได้มีการใช้วัคซีนโควิดเพื่อป้องกันการติดเชื้อ การป่วยรุนแรง และการเสียชีวิต ซึ่งข้อมูลประสิทธิผลของการใช้วัคซีนป้องกันโควิด นับว่ามีความสำคัญกับการติดตาม และการตัดสินใจจะฉีดวัคซีน โดยข้อมูลการใช้วัคซีนในประเทศไทย นอกเหนือจากเพื่อศึกษาประสิทธิผลจากการตรวจหาภูมิคุ้มกันแล้วก็จะติดตามจากผลการใช้งานจริง ว่าสามารถป้องกันการติดเชื้อได้มากน้อยแค่ไหน
โดยได้มีการเก็บข้อมูลประสิทธิผลของวัคซีนป้องกันโควิด-19 ในช่วงเดือน ก.ค.-ธ.ค. 64 ซึ่งเป็นช่วงที่ประเทศไทยอยู่ในสถานการณ์แพร่ระบาดของไวรัสโควิดสายพันธุ์เดลตา พบว่า
- กลุ่มผู้สัมผัสเสี่ยงสูง ที่ได้รับวัคซีน 2 เข็ม มีประสิทธิผลในการป้องกันการติดเชื้อได้ 65% และป้องกันการป่วยรุนแรง/เสียชีวิต 88%
- กลุ่มผู้สัมผัสเสี่ยงสูง ที่ได้รับวัคซีน 3 เข็ม มีประสิทธิผลในการป้องกันการติดเชื้อได้สูงถึง 94% และป้องกันการป่วยรุนแรง/เสียชีวิต ถึง 98%
ทั้งนี้ ในผู้ที่ได้รับวัคซีนครบ 2 เข็มเมื่อเดือน ก.ค. 64 จะมีประสิทธิผลในการป้องกันการติดเชื้อได้ 81%, มีประสิทธิผลในการป้องกันการป่วยรุนแรง/เสียชีวิต ได้ 89% และเมื่อถึงเดือน ธ.ค.64 ประสิทธิผลในการป้องกันการติดเชื้อได้ จะลดลงเหลือ 50% และป้องกันการป่วยรุนแรง/เสียชีวิต ลดลงมาอยู่ที่ 79%
ขณะที่ ผู้ที่ได้รับวัคซีนครบ 3 เข็มเมื่อเดือน ก.ค. 64 จะมีประสิทธิผลในการป้องกันการติดเชื้อได้ 82%, มีประสิทธิผลในการป้องกันการป่วยรุนแรง/เสียชีวิต ได้ถึง 94% และเมื่อถึงเดือน ธ.ค. 64 ประสิทธิผลในการป้องกันการติดเชื้อ ขึ้นไปที่ 90% และประสิทธิผลในการป้องกันการป่วยรุนแรง/เสียชีวิต ขึ้นไปถึง 96%
“วัคซีน 2 เข็มจะมีประสิทธิผลในการป้องกันช่วงแรก แต่เมื่อเวลาผ่านไป การป้องกันการติดเชื้อจะลดลงตามระยะเวลา แต่ถ้าเป็นเรื่องของการเจ็บป่วยรุนแรง/เสียชีวิต ประสิทธิผลจะยังค่อนข้างสูงต่อเนื่อง และเมื่อฉีดเข็ม 3 จะเห็นได้ว่าการป้องกันการติดเชื้อจะสูงถึงเกือบ 90% โดยตลอด และป้องกันการเจ็บป่วยรุนแรง/เสียชีวิต จะสูงถึง 94-98%” นพ. ทวีทรัพย์ กล่าว
ส่วนผลเบื้องต้นประสิทธิผลการใช้จริงวัคซีนโควิด-19 ของ จ.เชียงใหม่ ซึ่งแบ่งการสำรวจเป็น 2 ส่วน คือ ส่วนแรก ต.ค.-ธ.ค.64 (เชื้อเดลตา) และ ม.ค. 65(เชื้อโอมิครอน) พบว่า
ช่วงเวลา ต.ค. – ธ.ค. 64 (เดลตา)
- รับวัคซีน 2 เข็ม ป้องกันการติดเชื้อได้ 71% ป้องกันการเสียชีวิต ได้ 97%
- รับวัคซีน 3 เข็ม (5 สูตรไขว้) ป้องกันการติดเชื้อเฉลี่ย 93% ป้องกันการเสียชีวิต เฉลี่ย 99%
ช่วงเวลา ม.ค. 65 (โอมิครอน)
- รับวัคซีน 2 เข็ม ไม่สามารถป้องกันการติดเชื้อโอมิครอนได้ แต่ป้องกันการเสียชีวิตได้ 89%
- รับวัคซีน 3 เข็ม (5 สูตรไขว้) ป้องกันการติดเชื้อเฉลี่ย 68% ป้องกันการเสียชีวิต เฉลี่ย 96%
นพ.ทวีทรัพย์ กล่าวสรุปว่า การฉีดวัคซีนป้องกันโควิดครบ 2 เข็มขึ้นไป จะมีประสิทธิผลในการป้องกันการป่วยรุนแรง/เสียชีวิตได้สูงมากต่อเนื่อง แต่ในการฉีดวัคซีน 2 เข็ม ประสิทธิผลในการป้องกันการติดเชื้อจะลดลงเมื่อเวลาผ่านไป และไม่เพียงพอที่จะป้องกันการติดเชื้อโควิดสายพันธุ์โอมิครอนได้ จึงจำเป็นต้องได้รับวัคซีนกระตุ้นเป็นเข็มที่ 3
ทั้งนี้ การฉีดวัคซีนเข็มกระตุ้นเป็นเข็มที่ 3 จะเพิ่มประสิทธิผลการป้องกันให้สูงขึ้น โดยโควิดสายพันธุ์โอมิครอน สามารถป้องกันการเสียชีวิตได้สูงมากถึง 96% และป้องกันการติดเชื้อได้สูงพอสมควร โดยการกระตุ้นด้วยวัคซีน Viral vector หรือ mRNA จะมีผลไม่แตกต่างกัน
ดังนั้น การควบคุมการระบาดของโควิด-19 สายพันธุ์โอมิครอนให้มีประสิทธิภาพสูงสุด จะต้องร่วมกันใช้มาตรการผสมผสาน คือ
- ระดมฉีดวัคซีนเข็ม 3 ให้เพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว และค้นหาบุคคลที่ไม่ได้รับวัคซีนให้รีบมารับบริการ
- เฝ้าระวัง/ตรวจค้นหาการติดเชื้อที่รวดเร็ว และการติดตามกำกับจุด หรือสถานที่เสี่ยงการระบาดใหญ่ในวงกว้าง
- การร่วมมืออย่างต่อเนื่องในมาตรการ Universal Prevention, Covid-Free Setting, และการตรวจ ATK หากมีอาการหรือความเสี่ยง
“ยังมีคนจำนวนมากที่อาจยังไม่ได้รับวัคซีน ก็ต้องเก็บตก คนที่ไม่ได้รับวัคซีน 2 เข็มป้องกันการป่วยรุนแรงได้แน่นอน ส่วน 3 เข็มป้องกันการติดเชื้อ การคุมโควิดที่สำคัญ จะหวังมาตรการวัคซีนอย่างเดียวไม่ได้ ต้องทำมาตรการอื่นๆ ควบคู่กัน เพราะโอมิครอนแพร่ระบาดได้ง่าย ดังนั้นประเด็นสำคัญคือ เราต้องควบคุมไม่ให้ระบาดใหญ่เป็นวงกว้างแสนๆ คนเหมือนในอเมริกา อังกฤษ ที่ใดมีความเสี่ยงต้องเน้นควบคุม กำกับ รวมทั้งหากติดเชื้อต้องมีการตรวจและเข้าสู่ระบบได้รวดเร็ว…จะทำให้ประเทศไทย สามารถต่อสู้กับโควิด เป็น Smart Living with COVID ไม่มีความจำเป็นจะต้องล็อกดาวน์ ถ้าหากประชาชนทุกคนร่วมใจกัน 2 เข็มให้ได้ 80-90% เพื่อป้องกันการเจ็บป่วยรุนแรง และเข็ม 3 ให้ได้ 70% เพื่อป้องกันการติดเชื้อ ก็คงจะทำให้การควบคุมโควิดของไทยประสบผลสำเร็จได้ในอนาคต” นพ.ทวีทรัพย์ กล่าว
โดย สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (07 ก.พ. 65)
Tags: กระทรวงสาธารณสุข, ฉีดวัคซีนโควิด, ทวีทรัพย์ ศิรประภาศิริ, วัคซีนต้านโควิด-19, วัคซีนบูสเตอร์