นพ.ศุภกิจ ศิริลักษณ์ อธิบดีกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ กระทรวงสาธารณสุข (สธ.) แนะให้กลุ่มผู้สูงอายุ เร่งเข้ารับบริการฉีดวัคซีนโควิดกระตุ้นภูมิคุ้มกัน เพื่อลดความเสี่ยงเกิดอาการป่วยรุนแรงและเสียชีวิต หลังพบการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโควิด-19 สายพันธุ์โอมิครอน BA.2 มีแนวโน้มเพิ่มขึ้นต่อเนื่อง โดยสามารถแพร่ระบาดได้เร็วกว่าสายพันธุ์โอมิครอน BA.1 ถึง 1.4 เท่า
ซึ่งหากมีการแพร่ระบาดในครอบครัวจะมีความเสี่ยงสูงกว่าเดิม 10% ขณะที่มีความดื้อต่อวัคซีนที่มีใช้งานอยู่เล็กน้อย แต่ยังไม่มีนัยสำคัญทางสถิติ แต่การใช้ Monoclonal Ab ไม่สามารถรักษาอาการป่วยโควิดสายพันธุ์ BA.2 โดยขณะนี้ยังไม่พบสายพันธุ์ใหม่ และโอมิครอน BA.3
โดยการตรวจสอบเชื้อโควิด-19 สายพันธุ์ที่มีการแพร่ระบาดในประเทศไทยเมื่อสัปดาห์ก่อน จำนวน 1,900 ตัวอย่าง พบเป็นสายพันธุ์เดลตา 7 ตัวอย่าง ที่เหลือเป็นสายพันธุ์โอมิครอนทั้งหมด หรือคิดเป็นสัดส่วน 99.6% ซึ่งแพร่กระจายไปทั่วประเทศเกือบทุกจังหวัดแล้ว ส่วนชาวต่างชาติที่เดินทางมาจากต่างประเทศ หากตรวจพบเชื้อก็เป็นสายพันธุ์โอมิครอนทั้งหมด โดยมีสัดส่วนของโอมิครอน BA.2 อยู่ที่ 51.8% ส่วนอีก 48.2% เป็นโอมิครอน BA.1 ขณะที่องค์การอนามัยโลก (WHO) ยังไม่มีข้อมูลยืนยันว่า BA.1 และ BA.2 มีอาการรุนแรงแตกต่างกัน
“BA.2 มีอิทธิฤทธิ์ในการแพร่เร็วกว่า BA.1 จะค่อยๆ เบียด สัปดาห์ต่อไปจะพบสัดส่วนที่สูงกว่านี้จนแทน BA.1 ยกเว้นว่าจะมีตัวอื่น เช่น BA1.1 ซึ่งต้องเฝ้าดูกันต่อไป โดย BA.2 แพร่ได้เร็วกว่า BA.1 ถึง 1.4 เท่า ถ้าติดใครสักคนในครัวเรือน จะแพร่ระบาดได้สูงกว่าอีก 10%”
นพ.ศุภกิจ กล่าว
อธิบดีกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ กล่าวว่า กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ ได้ปรับปรุงคำแนะนำในการวินิจฉัยยืนยันการติดเชื้อในผู้ป่วยที่อยู่ระหว่างการสอบสวนโรคให้สอดคล้องกับคุณภาพของเครื่องมือตรวจหาเชื้อที่มีประสิทธิภาพดีขึ้น เพื่อให้มีการบริหารจัดการเตียงเป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพ, การอำนวยความสะดวกสำหรับผู้เดินทางเข้าประเทศ
“ถ้าเราช่วยกัน จำนวนเตียงในโรงพยาบาลก็จะไม่มีปัญหา คนป่วยวันละ 2-3 หมื่น เป็นไปไม่ได้ที่ทุกคนจะไปอยู่โรงพยาบาล จะเอาเตียงที่ไหนในประเทศนี้”
นพศุภกิจ กล่าว
โดย สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (07 มี.ค. 65)
Tags: ฉีดวัคซีนโควิด, ผู้สูงอายุ, วัคซีนเข็มกระตุ้น, ศุภกิจ ศิริลักษณ์, โอมิครอน