สธ. เร่งฉีดวัคซีน-เตรียมความพร้อมศักยภาพการรักษา รองรับโควิดเข้าสู่โรคประจำถิ่น

นพ.ธเรศ กรัษนัยรวิวงศ์ อธิบดีกรมสนับสนุนบริการสุขภาพ (กรม สบส.) กระทรวงสาธารณสุข (สธ.) เป็นประธานและมอบนโยบาย “การดำเนินงานเฝ้าระวังและป้องกันโรคโควิด-19 ในการเข้าสู่โรคประจำถิ่น (Endemic approach)” โดยเปิดเผยว่า ขณะนี้สถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด-19 ในประเทศไทยเริ่มปรับตัวดีขึ้น จำนวนผู้ติดเชื้อเริ่มลดลง จึงพร้อมที่จะปรับให้โรคโควิด-19 เข้าสู่โรคประจำถิ่นแล้ว

สำหรับการเตรียมตัวเข้าสู่โรคประจำถิ่น ต้องดูอัตราการฉีดวัคซีนเป็นหลัก โดยต้องฉีดวัคซีนเข็มกระตุ้นให้ได้ 60% ส่วนกลุ่ม 607 (ผู้สูงอายุ 60 ปีขึ้นไป และผู้ป่วย 7 กลุ่มเสี่ยง) ต้องฉีดวัคซีนเข็มกระตุ้นให้ได้เกิน 70% ขึ้นไป เนื่องจากผู้เสียชีวิตจากโรคโควิดในปัจจุบันวันละ 50-60 คน เกือบ 100% มาจากกลุ่มนี้ ขณะเดียวกัน ต้องรณรงค์การฉีดวัคซีนในเด็กนักเรียนให้มากที่สุดด้วย เนื่องจากขณะนี้อยู่ในช่วงใกล้เปิดเทอม

“การเร่งฉีดวัคซีนเข็มกระตุ้นในพื้นที่ โดยเฉพาะกลุ่ม 607 เป็นอีกหนึ่งหน้าที่สำคัญของเจ้าหน้าที่ในพื้นที่ โรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบล (รพ.สต.) และอาสาสมัครสาธารณสุขประจำหมู่บ้าน (อสม.) เพื่อเตรียมพร้อมให้โควิดก้าวสู่การเป็นโรคประจำถิ่น ส่วนการเป็นโรคประจำถิ่นต้องประกาศหรือไม่ ขณะนี้ทีมกำลังดูอยู่ ทั้งนี้ การเข้าสู่โรคประจำถิ่นนั้นเราต้องป้องกันก่อน หากป้องกันไม่ได้ เมื่อติดเชื้อแล้วต้องรักษาเร็ว ซึ่งขณะนี้ยังมียารักษาที่เพียงพอ”

นพ.ธเรศ กล่าว

นพ.ธเรศ กล่าวว่า อีกสิ่งสำคัญในการก้าวเข้าสู่โรคประจำถิ่น คือ ต้องมีการเตรียมความพร้อมในชุมชน เรื่องความเข้าใจในโรคโควิด-19 และการเตรียมพร้อมเรื่องศักยภาพของสาธารณสุขในพื้นที่ นอกจากนี้ ในช่วงระยะหลังติดเชื้อโควิด-19 จะต้องมีการติดตามผู้ป่วยที่มีภาวะ Long Covid ทั้งด้านร่างกาย และจิตใจด้วย

โดย สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (11 พ.ค. 65)

Tags: , , , ,