ศ.เกียรติคุณ ดร.วสันต์ จันทราทิตย์ หัวหน้าศูนย์จีโนมทางการแพทย์ คณะแพทยศาสตร์ โรงพยาบาลรามาธิบดี มหาวิทยาลัยมหิดล เปิดเผยว่า มีการค้นพบสายพันธุ์ย่อยของเดลตาในประเทศไทยทั้งหมด 4 สายพันธุ์ โดยขณะนี้อยู่ระหว่างการเฝ้าจับตาสายพันธุ์ย่อยทั้งหมด เนื่องจากการถอดรหัสพันธุกรรมทั้งจีโนมของเชื้อ SARS-Cov-2 ยังมีกลุ่มตัวอย่างจำนวนน้อย จึงยังไม่มีข้อมูลความรุนแรงของเชื้อที่กลายพันธุ์ และความสามารถในการแพร่เชื้อว่ามีความแตกต่างจากเดิมหรือไม่ โดยหลังจากนี้จะมีการศึกษา สุ่มตรวจ เพื่อทำการถอดรหัสพันธุกรรมเพิ่มเติมต่อไป
“เชื้อสายพันธุ์เดลตาที่กลายพันธุ์ทั้ง 4 สายพันธุ์ที่พบในไทย เป็นลูกหลานของสายพันธุ์หลักที่ระบาดในประเทศไทยอยู่แล้ว ทั้งนี้ไม่ใช่สายพันธุ์ไทยแต่อย่างใด และในขณะนี้ยังไม่พบข้อมูลความแตกต่างของการกลายพันธุ์ว่าจะส่งผลกระทบต่อประสิทธิภาพของวัคซีน และประสิทธิภาพในการรักษาโรคที่รุนแรงขึ้นหรือไม่”
ศ.เกียรติคุณ ดร.วสันต์ กล่าว
โดยการค้นพบในครั้งนี้มาจากการส่งข้อมูลรหัสพันธุกรรมทั้งจีโนมของตัวอย่างทั้งหมดที่ประเทศไทยถอดได้ และทำการอัพโหลดขึ้นบนฐานข้อมูลโควิดโลก “GISAID” เพื่อให้นานาชาติได้ร่วมกันใช้ประโยชน์ในด้านการป้องกัน ดูแล และรักษาโรคโควิด-19 ซึ่งในประเทศไทยพบสายพันธุ์อัลฟา B.1.1.7 ในสัดส่วน 11%, สายพันธุ์เบตา B.1.351 ในสัดส่วน 14% และสายพันธุ์เดลตา B.1.617.2 ในสัดส่วน 71%
นอกจากนี้ได้มีการค้นพบสายพันธุ์ย่อยของเดลตาในประเทศไทยทั้งหมด 4 สายพันธุ์ ได้แก่
1. สายพันธุ์ AY.4 หรือ B.1.617.2.4 (สายพันธุ์ย่อยของเดลตา) จากการสำรวจในเดือนมิ.ย.-ส.ค. พบทั้งหมด 9 ราย ได้แก่ จังหวัดปทุมธานี 4 ราย, บุรีรัมย์ 1 ราย, กำแพงเพชร 1 ราย, เชียงใหม่ 1 ราย, สมุทรปราการ 1 ราย และชลบุรีอีก 1 ราย
2. สายพันธุ์ AY.6 หรือ B.1.617.2.6 (สายพันธุ์ย่อยของเดลตา) จากการสำรวจในเดือนก.ค. พบ 1 ราย ในพื้นที่กทม.
3. สายพันธุ์ AY.10 หรือ B.1.617.2.1 (สายพันธุ์ย่อยของเดลตา) จากการสำรวจในเดือนก.ค. พบ 1 ราย ในพื้นที่กทม.
4. สายพันธุ์ AY.12 หรือ B.1.617.2.15 (สายพันธุ์ย่อยของเดลตา) จากการสำรวจในเดือนก.ค.-ส.ค. พบทั้งหมด 3 ราย ได้แก่จังหวัดสุราษฎร์ธานี 2 ราย และกทม. อีก 1 ราย
จากการศึกษาข้อมูลจากต่างประเทศ พบว่าสายพันธุ์ AY.4 พบการแพร่ระบาดของสายพันธุ์นี้ในประเทศอังกฤษอยู่ที่ 67%, สายพันธุ์ AY.6 พบการแพร่ระบาดของสายพันธุ์นี้ในประเทศอังกฤษอยู่ที่ 79%, สายพันธุ์ AY.10 พบการแพร่ระบาดของสายพันธุ์นี้ในประเทศอังกฤษอยู่ที่ 71%, สายพันธุ์ AY.12 พบการแพร่ระบาดของสายพันธุ์นี้ในประเทศเดนมาร์กอยู่ที่ 11% และ พบการแพร่ระบาดของสายพันธุ์นี้ในประเทศอเมริกาอีก 11%
นอกจากนี้สายพันธุ์เดลตายังกระจายตัวแตกเป็นสายพันธุ์ย่อยอีกถึง 27 สายพันธุ์ และมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ คือ สายพันธุ์ B.1.617.2.1- B.1.617.2.22 หรือสายพันธุ์ AY.1-AY.22 ซึ่งสามารถพบได้ในหลายประเทศทั่วโลก
ศ.เกียรติคุณ ดร.วสันต์ กล่าวต่อว่า การค้นพบสายพันธุ์ในประเทศต่างๆ ในสัดส่วนที่มากน้อยต่างกันไปขึ้นอยู่กับการสุ่มตรวจ และการส่งข้อมูลเข้าฐานข้อมูล GISAID หมายความว่าประเทศไหนมีศักยภาพในการตรวจ และถอดรหัสพันธุกรรมสูง ก็จะพบข้อมูลสายพันธุ์จำนวนมากเช่นกัน ในส่วนของประเทศที่ไม่พบสายพันธุ์ ไม่ได้แสดงว่าประเทศนั้นไม่มีสายพันธุ์ แต่อาจยังไม่มีการตรวจ หรือยังไม่ส่งข้อมูลเข้าฐานข้อมูล GISAID เช่นประเทศอังกฤษที่พบข้อมูลสายพันธุ์ AY.4, AY.6 และ AY.10 ในสัดส่วนสูง มาจากการส่งข้อมูลการถอดรหัสพันธุกรรมจำนวนมาก เป็นต้น
นพ.ศุภกิจ ศิริลักษณ์ อธิบดีกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ กระทรวงสาธารณสุข (สธ.) เปิดเผยผลการเฝ้าระวังสายพันธุ์โควิด-19 ในประเทศไทย ระหว่างวันที่ 14 ส.ค.-20 ส.ค. 64 จากการสุ่มตรวจพบผู้ติดเชื้อทั้งหมดกว่า 2,295 ราย เป็นสายพันธุ์เดลตาจำนวน 2,132 ราย (92.9%) , สายพันธุ์อัลฟาจำนวน 134 ราย (5.8%) และสายพันธุ์เบตาจำนวน 29 ราย (1.3%) ส่วนในพื้นที่กทม.พบเชื้อเดลต้าแล้ว 96.7%
ขณะนี้พบสายพันธุ์เดลตาครบทั้ง 77 จังหวัดแล้ว โดยเมื่อสัปดาห์ที่ผ่านมาพบรายงานการติดเชื้อเดลตาจำนวน 3 รายในจังหวัดสุพรรณบุรี ซึ่งเป็นจังหวัดสุดท้ายที่พบการระบาดของเดลตา ในส่วนของสายสายพันธุ์เบตายังคงพบการระบาดในพื้นที่ภาคใต้เท่านั้น โดยเฉพาะจังหวัดนราธิวาสที่พบผู้ติดเชื้อสูงสุดจำนวน 15 ราย สำหรับสายพันธุ์อื่นๆ ยังไม่พบในประเทศไทยแต่อย่างใด
โดย สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (24 ส.ค. 64)
Tags: COVID-19, วสันต์ จันทราทิตย์, โควิด-19, โควิดสายพันธุ์เดลตา, ไวรัสกลายพันธุ์