สธ. เผยไทยพบโอมิครอนแล้ว 2,062 ราย ติดเชื้อในปท. 957 ราย จับตาสายพันธุ์ย่อย

นพ.ศุภกิจ ศิริลักษณ์ อธิบดีกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ กระทรวงสาธารณสุข (สธ.) เปิดเผยผลการจำแนกสายพันธุ์เฝ้าระวัง ตั้งแต่เปิดประเทศ วันที่ 1 พ.ย. 64 พบติดเชื้อโอมิครอนสะสมจำนวน 2,062 ราย คิดเป็น 19.08% โดยแบ่งเป็นผู้ที่เดินทางมาจากต่างประเทศ 1,150 ราย ติดเชื้อในประเทศ 957 ราย โดยขณะนี้พบการแพร่ระบาดของโอมิครอนแล้วใน 54 จังหวัด และพบการแพร่ระบาดในทุกเขตสุขภาพ

“การระบาดของโอมิครอนจะเริ่มส่งผลให้จำนวนการติดเชื้อในภาพรวมมากขึ้น แต่ยังไม่ส่งผลต่อจำนวนการเสียชีวิต โดยการติดเชื้อโควิด-19 วันนี้ยังเป็นสายพันธุ์เดลตาส่วนใหญ่ 70-80% ดังนั้น ต้องระวังกลุ่ม 608 (ผู้สูงอายุ 60 ปีข้นไป ผู้ป่วย 7 กลุ่มโรคเรื้อรัง และสตรีมีครรภ์ 12 สัปดาห์ขึ้นไป) ให้มาก เนื่องจากยังมีโอกาสป่วยหนักและเสียชีวิต” นพ.ศุภกิจ กล่าว

สำหรับการตรวจสายพันธุ์หาเชื้อโอมิครอน ขณะนี้จะเริ่มใช้ระบบเฝ้าระวังปกติตามเกณฑ์ เพื่อประเมินสถานการณ์ โดยจะสุ่มตรวจหาเชื้อด้วยวิธี WGS (Whole Genome Sequencing ) ในบางรายเท่านั้น เนื่องจากที่ผ่านมาการตรวจด้วยวิธี SNP (Single nucleotide polymorphisms) ไม่ผิดพลาด และมีความแม่นยำถึง 100% จึงไม่จำเป็นต้องยืนยันผลทุกราย

นพ.ศุภกิจ ยังได้กล่าวถึงการศึกษาของประเทศแอฟริกาใต้ พบว่า ผู้ติดเชื้อโอมิครอน ภายหลังการติดเชื้อจะมีภูมิคุ้มกันสูงถึง 14-15 เท่า ซึ่งสามารถป้องกันโควิดสายพันธุ์โอมิครอนได้ ในขณะเดียวกัน ผู้ติดเชื้อบางส่วนจะมีภูมิคุ้มกันที่สามารถลบล้างฤทธิ์ (Neutralization) เชื้อสายพันธุ์เดลตาได้ประมาณ 4 เท่า โดยเฉพาะในกลุ่มที่ได้รับวัคซีนแล้ว

ส่วนกรณีที่ประเทศฝรั่งเศสพบโควิดสายพันธุ์ที่มีความใกล้เคียงกับโอมิครอน คือ B.1.640.2 ซึ่งเป็นสายพันธุ์ย่อยของ B.1.640 โดยสายพันธุ์นี้พบครั้งแรกในประเทศสหพันธรัฐคองโก ตั้งแต่ช่วงเดือนก.ย. 64 โดยองค์การอนามัยโลก (WHO) ได้จัด B.1.640 เป็น Variants under monitoring (VUM) หรือสายพันธุ์ที่ต้องจับตามอง

จากข้อมูล ณ วันที่ 2 ม.ค. 65 พบสายพันธุ์ B.1.640 จำนวน 400 ตัวอย่างในฐานข้อมูล GISAID โดยพบส่วนใหญ่ที่ประเทศฝรั่งเศส จากการวิเคราะห์ทาง Phylogenetics พบว่า สายพันธุ์ดังกล่าวมีความใกล้เคียงกับสายพันธุ์โอมิครอน โดยสายพันธุ์ B.1.640 ณ ปัจจุบัน ได้แยกย่อยเป็น B.1.640.1 และ B.1.640.2 อย่างไรก็ตามปัจจุบันสายพันธุ์หลักที่ระบาดในฝรั่งเศส ยังคงเป็นสายพันธุ์โอมิครอน

ในส่วนของสายพันธุ์ย่อย B.1.640 นั้น พบการกลายพันธุ์บน Spike protein ชนิด SNPs 14 ตำแหน่ง และการขาดหายไปอีก 9 ตำแหน่ง ซึ่งพบ N501Y และ E4840 ได้เหมือนในสายพันธุ์เบตา แกมมา และโอมิครอน ส่วนการกลายพันธุ์ F490S สามารถพบได้ในแลมป์ดา

“ขอให้ประชาชนยังไม่ต้องกังวลเนื่องจากการกลายพันธุ์สามารถเกิดขึ้นได้ โดยขณะนี้อยู่ระหว่างการจับตาทุกๆ สายพันธุ์ โดยเฉพาะสายพันธุ์ย่อยของโอมิครอน BA.2 ที่อาจพบในไทย” นพ.ศุภกิจ กล่าว

ด้านนพ.โอภาส การย์กวินพงศ์ อธิบดีกรมควบคุมโรค กล่าวว่า ในไทยแนวโน้มพบผู้ติดเชื้อยืนยัน ผู้ป่วยอาการหนัก ผู้เสียชีวิตลดลง พบสัญญาณการเพิ่มขึ้นของผู้ติดเชื้อที่เสี่ยงต่อการแพร่ระบาดพร้อมกับการเดินทางต่างจังหวัดช่วงปีใหม่ โดยเฉพาะจังหวัดท่องเที่ยว และจังหวัดที่มีผู้เดินทางกลับภูมิลำเนาจำนวนมาก เช่น จังหวัดชลบุรี อุดรธานี อุบลราชธานี ภูเก็ต เชียงใหม่ และจังหวัดเมืองรอง โดยพบการระบาดเป็นกลุ่มก้อนในร้านอาหารกึ่งผับ หลายแห่งรับลูกค้าจนแออัด และไม่ปฏิบัติตามมาตรการ Covid-Free Setting ขาดการควบคุมกำกับของเจ้าของร้าน

ดังนั้น จึงขอให้ประชาชนกลับจากต่างจังหวัด เฝ้าสังเกตอาการตนเองอย่างน้อย 14 วัน และทำงานที่บ้าน (Work From Home : WFH) ในสัปดาห์แรกพร้อมตรวจ Antigen Test Kit (ATK) อย่างน้อย 2 ครั้งห่างกัน 3 วัน โดยเฉพาะผู้ที่เดินทางด้วยขนส่งสาธารณะนานกว่า 4 ชั่วโมง หรือไปในสถานที่มีคนรวมกลุ่มจำนวนมาก หากพบว่าผลตรวจเป็นบวก โทร. 1330 สำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) ลงทะเบียนเพื่อรับการดูแลที่บ้าน Home Isolation หรือติดต่อสถานพยาบาลใกล้บ้าน

นอกจากนี้ ให้แจ้งโรงพยาบาลศูนย์ โรงพยาบาลทั่วไป โรงพยาบาลชุมชน และโรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบล ฉีดวัคซีนให้กับกลุ่ม 608 ในคลินิกโรคเรื้อรัง คลินิกฝากครรภ์ (ANC) รวมทั้งแจ้งอาสาสมัครสาธารณสุขประจำหมู่บ้านช่วยสื่อสาร เพื่อรับการฉีดวัคซีน ทั้งผู้ที่ยังไม่เคยได้รับวัคซีน และบูสเตอร์โดส รวมทั้งเฝ้าระวัง ตรวจคัดกรองบุคลากรในโรงพยาบาล โดยเฉพาะผู้ที่เดินทางไปต่างจังหวัด หรือร่วมกิจกรรมที่มีคนรวมกันจำนวนมาก หรือไปร้านอาหารที่ดื่มสุราได้

ในส่วนของผู้ประกอบการ ให้มีมาตรการ WFH เฝ้าระวังอาการป่วย ตรวจคัดกรองด้วย ATK พนักงานก่อนกลับเข้าทำงานโรงงาน สถานประกอบการ หากพบผู้ติดเชื้อให้รับการรักษา ผู้สัมผัสใกล้ชิดเสี่ยงสูงกักตัว 14 วัน เน้นให้เปิดทำงานได้ ภายใต้การควบคุมกำกับรูปแบบ Bubble & Seal

ทั้งนี้ ผู้ที่ฉีดวัคซีนเข็ม 2 ก่อนวันที่ 1 พ.ย. 64 ให้ไปรับการฉีดวัคซีนบูสเตอร์โดสเข็ม 3 สถานพยาบาลใกล้บ้าน ส่วนบุคลากรทางการแพทย์ และเจ้าหน้าที่ด่านหน้า รวมถึงประชาชนกลุ่มเสี่ยง ที่ฉีดวัคซีนเข็ม 3 แล้วเกิน 3 เดือน ให้ฉีดวัคซีนบูสเตอร์โดสอีก 1 เข็มได้

สำหรับมาตรการแซนด์บอกซ์ในการเข้าประเทศ ขณะนี้ยังอนุญาตเพียงจังหวัดภูเก็ตนั้น ทั้งนี้ จังหวัดอื่นๆ ที่ต้องการทำแซนด์บอกซ์หากมีความพร้อมทางด้านสาธารณสุข สามารถขออนุญาตไปยังศูนย์ปฏิบัติการ ศูนย์บริหารสถานการณ์โควิด-19 (ศปก.ศบค.) ได้ อย่างไรก็ดี คาดว่าจะยังไม่อนุญาตให้นักท่องเที่ยวเดินทางเข้ามาในระบบ Test&Go ไปอีกระยะหนึ่ง จนกว่าสถานการณ์โดยรวมของทั้งในประเทศ และต่างประเทศจะดีขึ้น

ส่วนกรณีที่พบชาวอิสราเอลติดเชื้อไข้หวัดใหญ่ พร้อมติดเชื้อโควิด-19 ทางการแพทย์ถือว่าเป็นเรื่องที่สามารถเกิดขึ้นได้ แต่ไม่บ่อย ทั้งนี้ ทั้งสองโรคไม่สามารถรวมเป็นโรคเดียวกัน และกลายพันธุ์ได้ เนื่องจากเป็นเชื้อคนละชนิดกัน อย่างไรก็ตาม ทั้งสองโรคสามารถป้องกันได้ด้วยมาตรการเว้นระยะห่าง ใส่หน้ากากอนามัย และฉีดวัคซีนป้องกัน

นอกจากนี้ ในปี 65 กระทรวงสาธารณสุข ตั้งเป้าเร่งฉีดวัคซีนเข็มกระตุ้นประชาชนให้ครอบคุลม และจะปรับระบบให้โรคโควิด-19 กลายเป็นโรคประจำถิ่น ด้วยการสร้างสมดุลระหว่างเชื้อโรค สิ่งแวดล้อม และมนุษย์ให้สามารถอยู่ร่วมกันได้

โดย สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (04 ม.ค. 65)

Tags: , , , , ,