นพ.ศุภกิจ ศิริลักษณ์ อธิบดีกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ กระทรวงสาธารณสุข (สธ.) เปิดเผยว่า ในการเฝ้าระวังการติดเชื้อโควิด-19 สายพันธุ์ต่างๆ พบการแพร่ระบาดของสายพันธุ์เดลต้า (อินเดีย) มีแนวโน้มเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว โดยจากการตรวจทั้งหมด 3,340 ตัวอย่างในช่วงสัปดาห์ที่ผ่านมา พบเป็นเชื้อสายพันธุ์เดลต้าระบาดในภาพรวมทั่วประเทศมากสุด 62.6% สายพันธุ์อัลฟ่า (อังกฤษ) 34.1% และสายพันธุ์เบต้า (แอฟริกาใต้) 3.3%
“ขณะนี้สายพันธุ์อินเดียหรือเดลต้า ได้แซงสายพันธุ์อัลฟ่าหรืออังกฤษเดิมไปโดยสิ้นเชิงแล้ว ส่วนสายพันธุ์แอฟริกา ยังอยู่ในพื้นที่ชายแดนภาคใต้เป็นส่วนใหญ่”
นพ.ศุภกิจกล่าว
โดยในพื้นที่กรุงเทพฯ 1,745 ตัวอย่าง พบการติดเชื้อสายพันธุ์เดลต้า 76.5% และสายพันธุ์อัลฟ่า 23.5% ส่วนในภูมิภาค 1,595 ตัวอย่าง พบการติดเชื้อสายพันธุ์เดลต้า 47.3% สายพันธุ์อัลฟ่า 45.7% และสายพันธุ์เบต้า 7.0% โดยเชื้อสายพันธุ์เดลต้ามีการแพร่กระจายไปแล้ว 71 จังหวัด รวมทั้งกรุงเทพฯ เพิ่มจากสัปดาห์ก่อน 11 จังหวัด
อธิบดีกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ กล่าวว่า ในหลายจังหวัดที่ไม่พบผู้ติดเชื้อรายใหม่ แล้วเริ่มกลับมาพบการติดเชื้อสายพันธุ์เดลต้า ได้แก่ สุรินทร์ 28 ราย, ฉะเชิงเทรา 20 ราย, สมุทรสงคราม 4 ราย, แม่ฮ่องสอน 3 ราย, ตราด นครศรีธรรมราช กระบี่ ปัตตานี จังหวัดละ 2 ราย, กาญจนบุรี ชุมพร พังงา จังหวัดละ 1 ราย ยังเหลืออีก 4-5 จังหวัดเท่านั้นที่ยังไม่พบสายพันธุ์เดลต้า
“ขณะนี้ สายพันธุ์อินเดีย เป็นคำตอบว่าทำไมวันนี้จำนวนตัวเลขผู้ติดเชื้อรายวันเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว ทำให้เห็นว่าสายพันธุ์เดลต้าทำให้มีผู้ติดเชื้อเพิ่มขึ้น แต่ความรุนแรงของอัตราการป่วยตายไม่ได้มีผล แต่หากมีผู้ติดเชื้อจำนวนมากจนดูแลไม่ทัน ก็จะทำให้ได้รับผลกระทบ”
นพ.ศุภกิจกล่าว
สำหรับเชื้อสายพันธุ์เบต้านั้น พบในพื้นที่จังหวัดภาคใต้ ได้แก่ ปัตตานี ยะลา สงขลา พัทลุง นราธิวาส และชุมพร ส่วนกรณีที่พบผู้ป่วยสายพันธุ์นี้ในจังหวัดบึงกาฬ เป็นแรงงานไทยที่เดินทางกลับมาจากไต้หวัน แต่ช่วงกักตัวในสถานที่กักกันที่รัฐจัดให้ไม่พบว่ามีการติดเชื้อ จากนั้นจึงเดินทางกลับบ้านที่จังหวัดบึงกาฬ และพบว่าติดเชื้อโควิด-19 จากการสอบสวนโรคพบคนใกล้ชิดติดอีก 3 คน ซึ่งต้องรอดูว่าจะพบคนติดเชื้อเพิ่มขึ้นอีกหรือไม่ และกรณีลูกที่มาจากจังหวัดภาคใต้มาเยี่ยมพ่อในพื้นที่กรุงเทพฯ ตรวจพบว่าติดเชื้อสายพันธุ์เบต้า และมีคนในครอบครัวติดเชื้ออีก 2 คน ในสัปดาห์นี้ไม่พบผู้ติดเชื้อเพิ่ม หากสัปดาห์หน้าไม่พบคนติดเชื้อเพิ่ม ก็ถือว่าควบคุมได้
อธิบดีกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ กล่าวว่า สำหรับการใช้งาน Antigen Test Kit นั้น ควรใช้เมื่อจำเป็น เพื่อลดความสิ้นเปลือง ซึ่งในเร็วๆ นี้จะมีขายตามร้านขายยาที่มีเภสัชกรแนะนำ หรือร้องขอจากคลีนิคในเครือข่าย กรณีผลออกมาเป็นลบนั้นอาจจะมาจากไม่มีการติดเชื้อ หรือปริมาณเชื้อยังน้อยอยู่ก็ได้ แต่หากผลออกมาเป็นบวก ก็ให้ไปติดต่อสถานพยาบาลเพื่อประเมินความเป็นไปได้และความเสี่ยง ก่อนที่จะดำเนินการตามขั้นตอนต่อไปตามระดับอาการ
“ผู้ใช้งานต้องดูให้ดี เพราะมีทั้ง Antigen Test Kit กับ Antibody Test Kit ซึ่งมีความแตกต่างกัน หากฉีดวัคซีนแล้วใช้ Antibody Test Kit ตรวจสอบก็จะมีผลเป็นบวกแน่นอน”
นพ.ศุภกิจกล่าว
โดย สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (19 ก.ค. 64)
Tags: Antigen Test Kit, COVID-19, ศุภกิจ ศิริลักษณ์, โควิด-19, โควิดกลายพันธุ์, โควิดสายพันธุ์เดลตา