นพ.ศุภกิจ ศิริลักษณ์ อธิบดีกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ กระทรวงสาธารณสุข (สธ.) เปิดเผยว่าในส่วนของการค้นพบสายพันธุ์โควิด-19 ทั่วโลก ที่ล่าสุดมีการค้นพบสายพันธุ์ Mu (B.1.621) เป็นสายพันธุ์ที่น่าจับตามองและเฝ้าระวัง เนื่องจากพบว่าอาจมีการหลีกหนีภูมิคุ้มกันตามธรรมชาติได้ดีกว่าเดิม และพบการกลายพันธุ์ที่ส่งผลให้ Antigenic change
ได้แก่ E484K ซึ่งอาจมีความต้านทานต่อวัคซีนได้ (Reduce Neutralizing activity) โดยปัจจุบันมีการค้นพบแล้วในกว่า 39 ประเทศ เช่น ประเทศโคลอมเบีย, เอกวาดอร์, สหราชอาณาจักร และญี่ปุ่น เป็นต้น ซึ่งสายพันธุ์นี้มีการพบครั้งแรก และระบาดหนักในประเทศโคลอมเบีย ทั้งนี้ยังไม่มีรายงานการพบสายพันธุ์นี้ในประเทศไทย
นอกจากนี้มีการค้นพบสายพันธุ์ C.1.2 ซึ่งเป็นสายพันธุ์ที่ต้องเฝ้าระวัง เนื่องจากมีอัตราการกลายพันธุ์สูงกว่าสายพันธุ์อื่น ทั้งนี้ประเทศไทยยังไม่ต้องตื่นตระหนก เนื่องจากยังไม่มีการค้นพบในไทย และมีการค้นพบเพียง 3% เท่านั้นในการแพร่ระบาดที่ประเทศแอฟริกาใต้
สำหรับสายพันธุ์ AY.12 หรือ B.1.617.2.15 (สายพันธุ์ย่อยของเดลตา) ที่พบการแพร่ระบาดในประเทศไทยก่อนหน้านี้ จากการสำรวจพบว่ามีการพบการแพร่ระบาดเพิ่มเล็กน้อย ทั้งนี้อยู่ระหว่างการพูดคุยกับทางฐานข้อมูลโควิดโลก “GISAID” เนื่องจากทาง GISAID ระบุว่าประเทศไทยอาจมีการใส่รหัสสายพันธุ์ AY.12 ผิดเป็น AY.30 ซึ่งหากมีความคืบหน้าทางกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์จะมีการรายงานเรื่องนี้ในภายหลัง
นพ.ศุภกิจ กล่าวว่า ตั้งแต่วันที่ 1 ม.ค. 63-14 ส.ค. 64 มีการสุ่มตรวจตัวอย่างแล้วประมาณ 3 ล้านราย และตั้งแต่เดือนก.ย.-ธ.ค. 64 ตั้งเป้าทำการตรวจไว้ที่ 10,000 ราย โดยจะมีการปรับปรุงกลุ่มเป้าหมายที่จะใช้ในการตรวจอีกครั้ง เพื่อให้ผลการตรวจสามารถเป็นภาพสะท้อนที่ครอบคลุมสายพันธุ์ทั้งประเทศได้
โดยผลการเฝ้าระวังสายพันธุ์โควิด-19 ในประเทศไทย ระหว่างวันที่ 28 ส.ค.-3 ก.ย. 64 จากการสุ่มตรวจพบผู้ติดเชื้อทั้งหมดกว่า 1,523 ราย เป็นสายพันธุ์เดลตาจำนวน 1,417 ราย (93%), สายพันธุ์อัลฟาจำนวน 75 ราย (5%) และสายพันธุ์เบตาจำนวน 31 ราย (2%) ส่วนในพื้นที่กทม.พบเชื้อเดลตาแล้ว 97.6%
นพ.ศุภกิจ กล่าวว่า ขณะนี้ประเทศไทยพบการแพร่ระบาดของสายพันธุ์เดลตาทั่วประเทศแล้ว ในส่วนของสายสายพันธุ์เบตายังคงพบการระบาดในพื้นที่ภาคใต้เท่านั้น โดยเฉพาะจังหวัดนราธิวาสที่พบผู้ติดเชื้อสูงสุดจำนวน 28 ราย สำหรับสายพันธุ์อื่นๆ ยังไม่มีรายงานการตรวจพบในประเทศไทยแต่อย่างใด
โดย สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (06 ก.ย. 64)
Tags: COVID-19, lifestyle, กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์, กระทรวงสาธารณสุข, ศุภกิจ ศิริลักษณ์, โควิด-19, โควิดสายพันธุ์มิว