นพ.ทวีทรัพย์ ศิรประภาศิริ นายแพทย์ทรงคุณวุฒิ กรมควบคุมโรค กระทรวงสาธารณสุข กล่าวว่า สำหรับแผนการฉีดวัคซีนเข็ม 3 แก่บุคลากรทางการแพทย์ด่านหน้านั้น เนื่องจากบุคลากรทางการแพทย์ส่วนใหญ่ได้รับวัคซีนซิโนแวคครบ 2 เข็ม ไปเมื่อประมาณ 3 เดือนแล้ว แต่แนวโน้มของบุคลการทางการแพทย์พบการติดเชื้อที่สูงขึ้นเรื่อยๆ ดังนั้น เพื่อเป็นการเพิ่มประสิทธิภาพในการป้องกันเชื้อโควิด-19 สายพันธุ์ใหม่ จึงต้องมีการฉีดวัคซีนบูสเตอร์เข็มที่ 3 ซึ่งชนิดของวัคซีนจะต้องมีความแตกต่างจากวัคซีนชนิดตายแบบซิโนแวค จึงจำเป็นต้องใช้วัคซีนแอสตร้าเซนเนก้า และวัคซีนไฟเซอร์ในการฉีดกระตุ้น
อย่างไรก็ดี บุคลากรทางการแพทย์มีความจำเป็นต้องได้รับวัคซีนเข็ม 3 ให้เร็วที่สุด ดังนั้นบางส่วนจะได้รับวัคซีนแอสตร้าเซนเนก้าก่อน และเมื่อวัคซีนไฟเซอร์มาถึง จะมีการพิจารณาในการใช้วัคซีนทั้ง 2 ชนิดควบคู่กันไป โดยขณะนี้ สธ.อยู่ระหว่างการสำรวจจำนวนบุคลากรด่านหน้าที่มีความเสี่ยงสูงที่มีความจำเป็นจะต้องได้รับวัคซีนบูสเตอร์ก่อนส่วนอื่นๆ
ส่วนวัคซีนไฟเซอร์ที่จะได้รับการบริจาคจากประเทศสหรัฐฯ ในเดือนส.ค. จำนวน 1.5 ล้านโดส ขณะนี้ สธ.อยู่ระหว่างการจัดสรรวัคซีนเบื้องต้น และอยู่ระหว่างการอนุมัติจากศูนย์บริหารสถานการณ์โควิด-19 (ศบค.) โดยจะทำการจัดสรรให้บุคลากรสาธารณสุขด่านหน้าเป็นกลุ่มแรก ตามด้วยกลุ่มผู้สูงอายุ กลุ่มเสี่ยง 7 โรคเรื้อรัง และผู้ที่ตั้งครรภ์ และจะจัดสรรให้กลุ่มประชาชนทั่วไปที่อยู่ในพื้นที่เสี่ยงต่อไป
โดยแผนการฉีดวัคซีนของกลุ่มสตรีที่ตั้งครรภ์ จะเป็นการจัดสรรวัคซีนให้กับผู้ที่อยู่ในพื้นที่เสี่ยงก่อน โดยในเชิงวิชาการสตรีมีครรภ์ตั้งแต่ 12 สัปดาห์สามารถรับวัคซีนได้ทุกชนิด ดังนั้นสตรีมีครรภ์ในพื้นที่เสี่ยงควรรีบเดินทางมารับวัคซีน เพื่อลดความเสี่ยงของการติดเชื้อโควิด-19 จากแม่สู่ลูก
ด้านแนวโน้มสถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด-19 ในประเทศไทย พบว่ามีผู้ติดเชื้อเพิ่มขึ้น 2-3 เท่าในทุกสัปดาห์ โดยในพื้นที่กทม. และปริมณฑลจำนวนผู้ติดเชื้อสูงขึ้น แต่ขณะนี้เริ่มเห็นการชะลอตัวลง ในขณะที่ต่างจังหวัดผู้ติดเชื้อยังคงสูงขึ้น ส่วนแนวโน้มผู้เสียชีวิตในขณะนี้เฉลี่ยต่อวันอยู่ที่ 100 ราย และคาดว่าสถานการณ์ในสัปดาห์หน้า จำนวนผู้เสียชีวิตอาจน้อยกว่า 100 ราย/วัน
โดยสถานการณ์การฉีดวัคซีนในประเทศไทย ขณะนี้สามารถฉีดวัคซีนได้เฉลี่ยวันละ 3 แสนโดส ยอดรวมการฉีดวัคซีนสะสมแล้วตั้งแต่วันที่ 28 ก.พ.- 22 ก.ค. อยู่ที่ 15,388,939 โดส
นพ.ทวีทรัพย์ ยังกล่าวถึงการวัดประสิทธิผลของวัคซีนในประเทศไทย และต่างประเทศว่า อาจมีการวัดประสิทธิผลที่แตกต่างกัน ซึ่งผลการวัดนั้นไม่สามารถนำมาเปรียบเทียบกันได้ จากความหลากหลายของปัจจัยทั้งการวัดในสถานะที่ต่างกัน เช่น ในประเทศไทยวัดผลในสถานะที่มีการระบาดของสายพันธุ์อัลฟา (อังกฤษ) แต่การวัดประสิทธิผลของต่างประเทศอาจวัดในสถานะที่มีการระบาดของสายพันธุ์อื่น
นอกจากนี้ อาจเป็นการวัดประสิทธิผลที่มีตัวบ่งชี้แตกต่างกัน เช่น วัดประสิทธิผลจากการป้องกันเชื้อโควิด-19 หรือวัดประสิทธิผลจากการลดอัตราการเสียชีวิต เป็นต้น โดยผลการวัดประสิทธิผลในประเทศไทยที่พบว่าสามารถป้องกันเชื้อโควิด-19 ได้ถึง 90% นั้น เป็นผลจากการศึกษาของการวัดประสิทธิผลของการป้องกันการติดเชื้อที่เกิดจากการใช้จริง ซึ่งในขณะที่ศึกษารวบรวมข้อมูลนั้นอยู่ในช่วงที่มีการระบาดของสายพันธุ์อัลฟา และกลุ่มตัวอย่างส่วนใหญ่ได้รับวัคซีนซิโนแวคเป็นหลัก
อย่างไรก็ตาม ขณะนี้ประเทศไทยอยู่ระหว่างการศึกษา รวบรวมข้อมูลของสายพันธุ์เดลตา (อินเดีย) เพิ่มเติม โดยจากการเฝ้าติดตามผลในเดือนมิ.ย. พบว่าประสิทธิผลในการป้องกันการติดเชื้อยังคงเดิม ซึ่งจะมีการศึกษาเพิ่มเติมในเดือนก.ค. ต่อไป ทั้งนี้ได้มีการศึกษาล่วงหน้าซึ่งพบว่าสายพันธุ์เดลตามีความรุนแรงกว่าอัลฟา จึงมีการเสนอแนวทางการฉีดวัคซีนแบบสลับ เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพในการป้องกันให้มากขึ้น
โดย สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (23 ก.ค. 64)
Tags: AstraZeneca, COVID-19, Pfizer, ทวีทรัพย์ ศิรประภาศิริ, วัคซีน, วัคซีนต้านโควิด-19, แอสตร้าเซนเนก้า, โควิด-19, โควิดสายพันธุ์เดลตา, ไฟเซอร์