นพ.ธงชัย กีรติหัตถยากร รองปลัดกระทรวงสาธารณสุข (สธ.) เปิดเผยว่า สธ. ได้ให้ประชาชนใช้สิทธิรักษาโควิดฟรี (UCEP COVID) มาเป็นระยะเวลา 2 ปี อย่างไรก็ดี ขณะนี้ทั่วโลกมีความรู้เรื่องโควิด-19 มากขึ้น โดยการแพร่ระบาดของโอมิครอนพบว่าผู้ป่วยส่วนใหญ่ 90% มีอาการน้อย จึงสามารถรักษาในระบบ Home Isolation (HI) และ Community Isolation (CI) ได้ และมีเพียงประมาณ 10% เท่านั้นที่ต้องเข้ารับการรักษาในโรงพยาบาล
ดังนั้น ขณะนี้การใช้สิทธิ UCEP จะเข้าสู่ระบบปกติ และยกเลิกการใช้สิทธิรักษาโควิดฟรีในทุกโรงพยาบาล เปลี่ยนเป็นการรักษาตามสิทธิรักษาพยาบาลของประชาชนแต่ละคน เพื่อสำรองเตียงสำหรับผู้ป่วยโควิดที่มีอาการหนักจริงๆ เท่านั้น และเพื่อให้มีเตียงเพียงพอแก่ผู้ป่วยโรคอื่นๆ ด้วย
ปัจจุบัน มีการรับรู้ข้อมูลชัดเจนแล้วว่า การระบาดของโอมิครอนมีความรุนแรงน้อย โดยมีผู้ป่วยใส่เครื่องช่วยหายใจน้อยกว่าเดลตา 7 เท่าตัว และมีผู้เสียชีวิตน้อยกว่าเดลตาถึง 10 เท่า อย่างไรก็ดี แม้อาการป่วยจะลดลง แต่ก็ยังขอความร่วมมือประชาชนในการฉีดวัคซีนเข็มบูสเตอร์ เพื่อป้องกันการป่วยหนัก และเสียชีวิต
“วันนี้ หากเดินทางไปโรงพยาบาลเอกชน และตรวจโควิด-19 แล้วพบเชื้อ จะไม่สามารถขอนอนโรงพยาบาลได้เลย หากไม่มีอาการ หรือมีอาการเล็กน้อยมาก สามารถรักษาระบบ HI หรือ CI โดยสิทธิ UCEP จะเอาไว้รักษาผู้ป่วยโควิดที่วิกฤตเท่านั้น เช่น มีอาการช็อค หมดสติ หายใจหอบรุนแรง แขนขาอ่อนแรง เป็นต้น” นพ.ธงชัย กล่าว
“ถ้าเราเอาผู้ป่วยที่มีอาการเล็กน้อย ไปนอนในแสนกว่าเตียงนั้น ผู้ป่วยโรคอื่นๆ ที่ไม่ใช่โรคโควิด-19 เช่น ความดัน เบาหวานที่มีภาวะแทรกซ้อน ก็จะมีเตียงไม่เพียงพอ เนื่องจากหากนำผู้ป่วยโควิดไปนอนในวอร์ดนั้น คนไข้อื่นๆ จะไม่สามารถนอนร่วมกันในวอร์ดนั้นได้ เช่น มีเตียง 20 เตียง ผู้ป่วยโควิดนอน 1 คน ที่เหลือต้องทิ้งว่างเปล่า” นพ.ธงชัย กล่าว
อย่างไรก็ตาม ขณะนี้ยังมีเตียงเพียงพอในการรับผู้ป่วยวิกฤติกว่า 30,000 เตียง และมีเตียงสีเขียวที่รองรับผู้ป่วยโควิดกว่า 130,000 เตียง ซึ่งสามารถปรับเปลี่ยนมาเป็นเตียงสำหรับดูแลผู้ป่วยฉุกเฉินได้ทันที
ด้านนพ.ธเรศ กรัษนัยรวิวงค์ อธิบดีกรมสนับสนุนบริการสุขภาพ (สบส.) เปิดเผยว่า ขณะนี้สถานการณ์ปัจจุบันเป็นการระบาดของโอมิครอน และได้พบปรากฎการณ์บางอย่าง เช่น ประชาชนนิยมไปรักษาพยาบาลในโรงพยาบาลบางแห่ง เช่น โรงพยาบาลใหญ่ โรงพยาบาลมหาวิทยาลัย ทำให้โรงพยาบาลเหล่านั้นไม่สามารถรักษาผู้ป่วยโรคอื่นๆ ได้
ดังนั้น จึงได้มีการประชุมร่วมกันของอนุกรรมการการรักษาเมื่อวันที่ 26 ม.ค. 65 ซึ่งเห็นตรงกันว่าควรปรับการรักษาโรคโควิด ให้เป็นการรักษาตามสิทธิการรักษาต่างๆ เช่น สิทธิประกันสุขภาพถ้วนหน้า สิทธิประกันสังคม สวัสดิการราชการ โดยย้ำว่าไม่มีค่าใช้จ่ายในการรักษาโรคโควิด-19
สำหรับแนวทางการเข้ารับบริการ การรักษาโรคโควิด-19 ตามสิทธิการรักษา ได้แก่
– กรมบัญชีกลาง เข้ารับการรักษาโรงพยาบาลรัฐ สามารถบิกค่าบริการรักษาสวัสดิการข้าราชการได้
– สำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) ผู้มีสิทธิประกันสุขภาพถ้วนหน้า (บัตรทอง) สามารถเข้ารับรักษาได้ทุกสถานพยาบาลที่เป็นเครือข่ายของสปสช.
– สำนักงานประกันสังคม อยู่ระหว่างรอเข้าประชุมคณะกรรมการการแพทย์วันที่ 15 ก.พ. 65 ซึ่งคาดว่าจะเสนอในหลักการ คือ สามารถรักษาในเครือข่ายประกันสังคมได้ทั้งโรงพยาบาลรัฐ และเอกชน
– กองเศรษฐกิจสุขภาพ และหลักประกันสุขภาพ ในส่วนของประกันสุขภาพต่างด้าว ให้แรงงานต่างด้าวและผู้ติดตาม เข้ารับการรักษารพ.ตามที่ขึ้นทะเบียน ส่วนคนต่างด้าวไร้สิทธิ ให้เข้ารับการรักษารพ.รัฐในสังกัดกระทรวงสาธารณสุข และสำนักการแพทย์ กทม. สำหรับบุคคลที่มีปัญหาสถานะและสิทธิ ให้เข้ารับการรักษารพ.รัฐในสังกัดกระทรวงสาธารณสุขตามที่ขึ้นทะเบียน
ทั้งนี้ ผู้ป่วยโควิด-19 ที่มีภาวะฉุกเฉินวิกฤต (คนไทยทุกสิทธิ รวมถึงบุคคลที่มีปัญหาสถานะและสิทธิ) สามารถเข้ารับการรักษาในโรงพยาบาลโดยใช้ UCEP ได้
“ผู้ป่วยที่มีอาการไม่หนัก จะรักษาในระบบ HI โดยอยู่ในระบบไหนก็จะมี HI ของระบบนั้นๆ อย่างไรก็ดี ทุกระบบจะอำนวยความสะดวกแก่ประชาชน และไม่เป็นอุปสรรคต่อการเข้ารับการรักษา โดยให้ผู้ป่วยสามารถเข้ารับการรักษาในโรงพยาบาลเครือข่ายได้ สรุปคือ ยังเป็นการรักษาฟรีตามสิทธิ แต่หากใครประสงค์รักษาที่โรงพยาบาลอื่นๆ หรือเอกชน ถ้าไม่ใช่กรณีฉุกเฉินจะต้องเสียค่าใช้จ่ายเอง” นพ.ธเรศ กล่าว
นพ.ธเรศ กล่าวว่า ในช่วงเปลี่ยนผ่านรูปแบบการรักษา ประชาชนต้องดูแลสุขภาพ ปฎิบัติตามสิทธิ VUCA และเช็คสิทธิของตนเอง เมื่อมีการติดเชื้อก็ติดต่อตามสิทธิของตนเอง ขณะเดียวกันกรมฯ ได้ประชุมเรื่องการเปลี่ยนผ่าน โดยเฉพาะการทำความเข้าใจ เช่น หากผู้ป่วยไปสถานพยาบาลที่ไม่ใช่คู่สัญญาตามสิทธิ ขอให้โรงพยาบาลทั้งรัฐ และเอกชนอธิบายให้ผู้ป่วยเข้าใจ หรือติดต่อไปที่ 1330 เพื่อเป็นการส่งต่อประชาชน
สำหรับระบบประกันที่ประชาชนจ่ายเงินเองนั้น ให้เป็นไปตามระบบกรมธรรม์ อย่างไรก็ตาม ได้รับทราบปัญหาว่า มีบริษัทประกันบางแห่งมีข้ออ้างในการไม่จ่ายค่าประกันแก่ผู้ที่พักรักษาตัวในระบบ HI หรือ Hospitel ซึ่งได้มีการประชุม และดูข้อกฎหมายที่เกี่ยวข้อง และอยู่ระหว่างการทำหนังสือยืนยันไปสำนักงานคณะกรรมการกำกับและส่งเสริมการประกอบธุรกิจประกันภัย (คปภ.) ว่าผู้ป่วยโควิด-19 ที่เข้ารับการรักษาดังกล่าว เป็นการรักษาตามผู้ป่วยใน ตามประกาศที่กรมสนับสนุนบริการสุขภาพได้ออกแบบไว้ ดังนั้น มีสิทธิในกรมธรรม์ที่จะได้รับการชดเชย เยียวยา และไม่สามารถอ้างได้ว่าไม่ใช่การแอดมิทในโรงพยาบาล
ส่วนระบบ Hospitel ที่เป็นไปตามประกาศสถานพยาบาลชั่วคราวนั้น ยังไม่มีการยกเลิก เนื่องจากยังเป็นประโยชน์แก่ประชาชน
โดย สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (14 ก.พ. 65)
Tags: lifestyle, UCEP, ธงชัย กีรติหัตถยากร, โอมิครอน