สธ. พัฒนา AI ช่วยระบุรหัสโรค ยกระดับบริการทางการแพทย์!

กระทรวงสาธารณสุข เดินหน้าใช้ปัญญาประดิษฐ์ (AI) พัฒนาระบบบริการทางการแพทย์ ล่าสุดประยุกต์ใช้กับแพลตฟอร์ม “สอน.บัดดี้” ช่วยระบุรหัสโรค ประมวลอาการผู้ป่วยผ่านคำสั่งเสียงของบุคลากรแพทย์ ทำให้บริหารและวิเคราะห์ข้อมูลสะดวก รวดเร็ว ถูกต้องแม่นยำ ลดขั้นตอน เตรียมนำมาใช้สรุปข้อมูลทางการแพทย์และประวัติการรักษาผู้ป่วย พร้อมคาดการณ์สภาวะสุขภาพ

นพ.พงศธร พอกเพิ่มดี รองปลัดกระทรวงสาธารณสุข เปิดเผยว่า ในส่วนของกระทรวงสาธารณสุข ได้มีการนำ AI มาบูรณาการทางการแพทย์และสาธารณสุข เพื่อช่วยเพิ่มประสิทธิภาพและความแม่นยำ ทั้งในการวินิจฉัยโรค การดูแลรักษาผู้ป่วย และลดภาระของบุคลากรทางการแพทย์ เช่น การใช้ AI ช่วยประมวลผลและคัดกรองภาพทางการแพทย์ในระบบ MOPH Imaging HUB ของกระทรวงสาธารณสุข เป็นต้น

ล่าสุด ได้นำ AI เข้ามาประยุกต์ใช้ในแพลตฟอร์ม “สอน.บัดดี้” (Buddy Care) เพื่อการบริการและจัดเก็บข้อมูลสุขภาพที่ถูกต้องแม่นยำมากยิ่งขึ้น โดย สอน.บัดดี้ ถูกพัฒนาขึ้นภายใต้โครงการพัฒนาเครื่องมือด้านสารสนเทศเพื่อการขับเคลื่อนงานด้านสุขภาพสำหรับสถานีอนามัยเฉลิมพระเกียรติ 60 พรรษา นวมินทราชินี ในช่วงปี 2565-2566 ระหว่างมูลนิธิพัฒนาสถานีอนามัยเฉลิมพระเกียรติ 60 พรรษา นวมินทราชินี กระทรวงสาธารณสุข และสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) มุ่งเน้นการใช้งานในหน่วยบริการปฐมภูมิและการดูแลสุขภาพประชาชนเชิงรุก ต่อยอดสู่การใช้ดูแลผู้ป่วยที่บ้าน การเยี่ยมบ้าน และให้บริการสาธารณสุขทางไกล

ด้าน นพ.โสภณ เมฆธน ประธานคณะอนุกรรมการพัฒนาการจัดบริการสุขภาพปฐมภูมิ กล่าวว่า AI ที่นำมาประยุกต์ใช้ในแพลตฟอร์ม สอน.บัดดี้ มีหลากหลายรูปแบบ เช่น การช่วยระบุรหัสโรค ICD10 ในการวินิจฉัยการแสดงข้อมูลให้คำแนะนำและการดูแลสุขภาพตนเองของผู้ป่วยแต่ละโรค อีกทั้งยังมีระบบ Speech to Text หรือการใช้ AI ช่วยประมวลผลอาการของผู้ป่วยจากการใช้คำสั่งด้วยเสียงของบุคลากรการแพทย์ ซึ่งทั้งหมดนี้ช่วยให้เกิดระบบการบริหารจัดการและการวิเคราะห์ข้อมูลที่รวดเร็ว สะดวก ถูกต้องแม่นยำ เพิ่มประสิทธิภาพและลดขั้นตอนในการทำงานของบุคลากรทางการแพทย์ เกิดประโยชน์สูงสุดแก่ผู้รับบริการ

นอกจากนี้ยังมีแผนนำ AI มาใช้ในกระบวนการต่างๆ ในอนาคต เช่น การสรุปข้อมูลทางการแพทย์และประวัติการรักษาผู้ป่วยของกระทรวงสาธารณสุข (FMR และ MOPH AI Summary) การคาดการณ์สภาวะสุขภาพโดยวิเคราะห์ปัจจัยด้านการเจ็บป่วย พันธุกรรม พฤติกรรมการใช้ชีวิตและสิ่งแวดล้อม (MOPH AI Prediction) ซึ่งจะต่อยอดไปสู่การพยากรณ์ความเสี่ยงในการเกิดโรค เช่น โรคหัวใจ โรคเบาหวาน โรคมะเร็ง และนำไปใช้จัดเตรียมแผนการดูแลสุขภาพที่เหมาะสมกับผู้ป่วยเฉพาะรายล่วงหน้าได้อย่างแม่นยำ

โดย สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (08 ก.พ. 68)

Tags: , , ,