นพ.สุวรรณชัย วัฒนายิ่งเจริญชัย อธิบดีกรมอนามัย กระทรวงสาธารณสุข (สธ.) เปิดเผยว่า จากสถานการณ์โควิด-19 ตั้งแต่ช่วงปีใหม่ที่ผ่านมา จะเห็นได้ว่ามีจำนวนผู้ติดเชื้อที่มีแนวโน้มสูงขึ้นเรื่อยๆ โดยที่ผ่านมาในช่วง 7 วันพบผู้ติดเชื้อถึงจำนวน 1 หมื่นราย/วัน ทั้งนี้ จากการสำรวจพบการติดเชื้อเป็นกลุ่มก้อนในตลาดมากขึ้น ซึ่งสูงกว่าในร้านอาหาร สถานบันเทิง และกิจกรรมรวมกลุ่ม โดยพบการระบาดในตลาดกระจายไปกว่า 20 จังหวัดทั่วประเทศ และมีแนวโน้มเพิ่มมากขึ้นเรื่อยๆ
สำหรับจุดเสี่ยงในตลาดที่อาจทำให้ติดโควิด-19 คือ การสัมผัสธนบัตร และเศษเหรียญ, การสัมผัสผักผลไม้ เนื้อสัตว์, เชื้อโรคที่ปนมากับถุงพลาสติก และไม่มีการเว้นระยะห่างระหว่างที่ใช้บริการ ดังนั้น ขอให้ประชาชนล้างมือทุกครั้งหลังสัมผัสจุดเสี่ยง และสวมหน้ากากอนามัยทุกครั้ง
ทั้งนี้ จากสถานการณ์การเข้ามาประเมินตนเอง และผลการประเมินของตลาดสด ตลาดนัด อาหารริมบาทวิถี และค้าส่ง ใน COVID Free Setting : TSC 2 Plus พบว่า มาตรการที่ยังดำเนินการได้ไม่ดี คือ การคัดกรองความเสี่ยงผู้รับบริการด้วย Thai Save Thai, ผู้รับผิดชอบกำกับติดตาม Timeline ผู้ขายทุกราย และจัดพนักงานควบคุม, จำกัดจำนวนคนไม่เกิน 1 คน ต่อ 4 ตารางเมตร หรือรักษาระยะห่างอย่างน้อย 1-2 เมตร และเลือกวิธีการชำระเงินด้วยแอปพลิเคชันเพื่อลดการสัมผัส ดังนั้น ขอเน้นย้ำตลาดที่ยังดำเนินการไม่ผ่านเกณฑ์ทำการปรับปรุงให้ดียิ่งขึ้น
นอกจากนี้ จากข้อมูลการสังเกตจากผู้ที่ไปใช้บริการตลาดในภาพรวม ตั้งแต่วันที่ 1-7 ก.พ. 65 (N=7,000) พบว่า ประชาชน 81% สวมหน้ากากอนามัยถูกต้อง แต่อีก 19% ยังสวมหน้ากากไม่ถูกต้อง โดยมาตรการที่สามารถทำได้ดี คือ การกำหนดจุดเข้า-ออกชัดเจน และวัดอุณหภูมิก่อนเข้า มีจุดบริการล้างมือด้วยสบู่ หรือเจลแอลกอฮอล์อย่างเพียงพอ และมีการประชาสัมพันธ์ให้สวมหน้ากากอย่างถูกวิธี ส่วนมาตรการที่ต้องปรับปรุง คือ ไม่ค่อยเห็นใบประกาศ COVID Free Setting หรือ Thai Stop COVID Plus ที่ตลาด ภาชนะรองรับขยะไม่มีฝาปิดมิดชิด และมาตรการควบคุมจำนวนผู้ใช้บริการไม่ให้แออัด และเว้นระยะห่างอย่างน้อย 1 เมตร
อย่างไรก็ดี กรมอนามัย ขอความร่วมมือให้ปฏิบัติตามมาตรการ COVID Free Setting อย่างเคร่งครัดทั้ง 3 ด้าน ได้แก่ ด้านอนามัยสิ่งแวดล้อม ด้านผู้ให้บริการ และด้านผู้ใช้บริการ พร้อมทั้งให้มีการกำกับ ติดตาม และดำเนินการตามแผนเผชิญเหตุในกรณีที่พบผู้ติดเชื้อ เพื่อให้สามารถควบคุมได้ในขอบเขตของพื้นที่ตลาด ลดการแพร่ระบาดเป็นกลุ่มก้อน หรือเกิดคลัสเตอร์ซ้ำขณะเดียวกัน เป็นการสร้างความเชื่อมั่นต่อมาตรการป้องกันโควิด-19 ให้กับประชาชนผู้ใช้บริการภายในตลาด จะได้เลือกซื้อสินค้าได้อย่างมั่นใจ
“เน้นย้ำว่าผู้ประกอบการตลาด และผู้กำกับดูแลต้องร่วมกันทำแผนเผชิญเหตุ เนื่องจากช่วงการระบาดของโอมิครอนสามารถแพร่ระบาดได้ง่ายกว่าที่ผ่านมา เพื่อให้สามารถดำเนินการได้โดยไม่กระทบทั้งตลาด เช่น หากพบการระบาดให้ปิดพื้นที่ที่ควรปิดบางส่วนเท่านั้น เป็นต้น” นพ.สุวรรณชัย กล่าว
ด้านนายเก่งกาจ คุปต์อัครภิญโญ ผู้แทนสมาคมตลาดสดไทย กล่าวถึงมาตรการที่ผู้ค้าต้องปฏิบัติ ได้แก่
1. ทุกคนในแผงค้าต้องใส่หน้ากากอนามัยตลอดเวลา สำหรับแผงค้าในตลาดสด ให้ใส่หมวกคลุมผมผ้ากันเปื้อนและถุงมือให้เรียบร้อยตลอดเวลาที่อยู่ในแผง
2. ห้ามทานอาหารภายในแผงโดยเด็ดขาด ถ้าจะทานอาหารให้นำอาหารไปทานในบริเวณที่ตลาดจัดให้ ถ้าอยู่ร้านคนเดียว ก็ให้ฝากแผงไว้กับแผงข้างๆ หรือปิดแผงชั่วคราว
3. ผู้ค้าต้องทำความสะอาลแผงค้าทุกวัน ก่อนกลับบ้าน ด้วยน้ำยาฆ่าเชื้อที่ตลาดจัดให้ฟรี และล้างใหญ่ประจำทุกเดือน โดยมีทีมสำนักงานประชาสัมพันธ์ตลาดเป็นผู้ตรวจประเมินความสะอาด
4. แผงค้ามีหน้าที่ในการแจ้งเตือนลูกค้าที่ไม่สวมใส่หน้ากากอนามัย (ไม่ใส่หน้ากาก ไม่ขายของให้)
5. แผงค้าที่มีทางเข้า-ออก 2 ทาง ต้องปิดกั้นเพื่อให้ลูกค้าเข้าในร้านโดยผ่านจุดคัดกรองเท่านั้น
6. แผงค้าขายของสดที่มีตะกร้าและที่คีบของเพื่อให้ลูกค้าเลือกสินค้า เช่น แผงอาหารทะเล หมูสด ไก่สด ผักต่างๆ ให้แผงค้าทำความสะอาดตะกร้า และที่คีบสินค้าทุกครั้งหลังจากลูกค้าใช้เสร็จ และจะต้องมีเจลแอลกอฮอล์และกระดาษเช็ดมือวางไว้หน้าแผงเพื่อให้บริการลูกค้า
7. กรณีผู้ค้าแจ้งหยุดกลับต่างจังหวัด หรือมีการสัมผัสกับกลุ่มเสี่ยง ขอให้ผู้ค้าทำการกักตัวเป็นเวลา 14 วัน ก่อนกลับเข้ามาขายของ โดยในวันที่กักตัวครบ 13 วัน ขอให้ผู้ค้าทำการตรวจหาเชื้อโควิด-19 และนำผลมาให้ที่สำนักงานประชาสัมพันธ์ตลาด ก่อนที่จะกลับเข้ามาขายของในพื้นที่มาตรการที่ผู้ค้าต้องปฏิบัติ
8. ผู้ค้าและลูกจ้างที่ขายของในตลาด จะต้องผ่านการตรวจหาเชื้อโควิด-19 ก่อน และต้องได้รับบัตรเขียวเพื่อยืนยันการตรวจก่อนเข้าขายของในตลาด
9. งดจ้างแรงงานต่างด้าวใหม่โดยเด็ดขาด รวมถึงพวกเร่ร่อนที่เข้ามารับจ้างล้างแผงรายวัน ถ้าตรวจพบจะจับส่งตำรวจทั้งผู้จ้างและลูกจ้าง สำหรับแรงงานต่างด้าวที่เพิ่งรับเข้ามาไม่เกิน 1 เดือน ให้รีบเข้ามาแจ้งที่สำนักงานประชาสัมพันธ์
10. กรณีลูกจ้างที่มีบัตรเขียวลาออกจากนายจ้างเก่า มาทำงานแผงใหม่ จะต้องพาลูกจ้างไปตรวจเชื้อโควิด-1 9 (ทุกคน) ลูกจ้างจึงจะเข้าขายของกับนายจ้างได้
11. กรณีแผงค้าหยุดขายของต่อเนื่องเป็นระยะเวลา 2 วันขึ้นไป จะต้องเข้ามารายงานตัวที่สำนักงานประชาสัมพันธ์ตลาดทุกครั้ง
12. ขอให้แผงค้าและลูกจ้างในตลาดที่เป็นคนไทยทุกคน ลงทะเบียนฉีดรับวัคซีน สำหรับผู้ที่อายุเกิน 60 ปีและผู้ที่ป่วย 7 กลุ่มโรค (รวมถึงคนอ้วน) สามารถจองคิวฉีดวัดซีนได้เลย
“ตลาดในสมาคมตลาดสดทุกๆ แห่งพยายามดำเนินตามมาตรการ COVID Free Setting ทั้งนี้ ขอเชิญชวนตลาดอื่นๆ ทุกแห่งดำเนินการตามแนวทางที่กรมอนามัยวางไว้ เพื่อให้สามารถผ่านพ้นวิกฤตินี้ไปได้” นายเก่งกาจ กล่าว
โดย สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (09 ก.พ. 65)
Tags: COVID-19, คลัสเตอร์ตลาดสด, สุวรรณชัย วัฒนายิ่งเจริญชัย, โควิด-19