นายไพฑูรย์ เก่งการช่าง รองเลขาธิการสำนักงานทรัพยากรน้ำแห่งชาติ (สทนช.) เผยในการประชุมติดตามและประเมินสถานการณ์น้ำ ได้รับรายงานจากกรมอุตุนิยมวิทยา และสถาบันสารสนเทศทรัพยากรน้ำ (องค์การมหาชน) (สสน.) ว่าช่วงวันที่ 7-9 เม.ย.67 จะเกิดฝนตกหนักจากพายุฤดูร้อนในหลายพื้นที่ โดยเฉพาะในพื้นที่ภาคกลาง และภาคตะวันออกเฉียงเหนือ
ส่วนการบูรณาการเตรียมพร้อมรับมือสถานการณ์น้ำในช่วงฤดูฝน ตาม 10 มาตรการรับมือฤดูฝนปี 2567 ที่คณะกรรมการทรัพยากรน้ำแห่งชาติได้มีมติเห็นชอบแล้ว โดยให้หน่วยงานพิจารณาเพิ่มการระบายน้ำจากอ่างเก็บน้ำที่ประเมินว่าอาจเสี่ยงเกิดภาวะน้ำล้นในช่วงฤดูฝน เช่น เขื่อนอุบลรัตน์ เขื่อนกิ่วลม-กิ่วคอหมา เขื่อนวชิราลงกรณ เขื่อนบางลาง ฯลฯ ซึ่งคาดการณ์ว่าปีนี้จะมีปริมาณฝนมากจากอิทธิพลของสภาวะลานีญา หากระบายน้ำเพิ่มตั้งแต่ปลายช่วงฤดูแล้ง จะช่วยเพิ่มพื้นที่ว่างรองรับน้ำในช่วงฤดูฝน เป็นการลดความเสี่ยงเกิดอุทกภัย และป้องกันผลกระทบที่จะเกิดแก่ประชาชนได้อย่างมีประสิทธิภาพ อีกทั้งยังสอดคล้องกับความต้องการใช้น้ำของประชาชนในฤดูแล้ง และช่วยแก้ไขปัญหาให้พื้นที่ที่ประสบปัญหาคุณภาพน้ำ เช่น บริเวณรอยต่อระหว่าง จ.ราชบุรี และ จ.สมุทรสงคราม เป็นต้น
ที่ประชุมฯ ได้มอบหมายให้กรมชลประทาน การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย กรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย ร่วมกันทบทวนปรับแผนการระบายน้ำตั้งแต่ช่วงเดือน เม.ย.นี้ โดยพิจารณาจากปัจจัยต่างๆ อย่างรอบด้าน ทั้งปริมาณน้ำท่าเฉลี่ยรายปี ความจุของอ่างฯ ปริมาณการใช้น้ำ และสภาพของพื้นที่ด้านท้ายน้ำ เพื่อให้ดำเนินการได้อย่างเหมาะสม และสอดคล้องกับบริบทของแต่ละพื้นที่ และเสนอต่อคณะกรรมการลุ่มน้ำเพื่อพิจารณาต่อไป
สำหรับช่วงปลายฤดูแล้งนี้ สทนช. และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ยังคงดำเนินงานตาม 9 มาตรการรองรับฤดูแล้ง ปี 2566/67 อย่างต่อเนื่อง โดยได้เร่งแก้ไขปัญหาให้แก่พื้นที่เสี่ยงประสบปัญหาขาดแคลนน้ำ รวมถึงพื้นที่ที่เป็นแหล่งท่องเที่ยวหลายแห่ง เช่น พื้นที่ จ.กระบี่ ซึ่งก่อนหน้านี้ได้มีการประกาศจ่ายน้ำเป็นรอบเวร
ปัจจุบัน การประปาส่วนภูมิภาคได้มีการติดตั้งระบบผลิตน้ำประปาแบบเคลื่อนที่ (Mobile Plant) จำนวน 3 แห่ง โดยจะเริ่มส่งน้ำได้ประมาณวันที่ 5 เม.ย. นี้ รวมทั้งกรมฝนหลวงและการบินเกษตร ได้มีแผนปฏิบัติการในพื้นที่เพื่อช่วยเพิ่มปริมาณน้ำให้คลองกระบี่ใหญ่ ในส่วนของเกษตรกรผู้ปลูกทุเรียนใน จ.ตรัง และ จ.สตูล ที่ประสบปัญหาขาดแคลนน้ำทำการเกษตร เนื่องจากพื้นที่เพาะปลูกอยู่ในพื้นที่สูงและไม่มีแหล่งน้ำเป็นของตนเอง ประกอบกับพื้นที่บางแห่งมีปริมาณฝนตกน้อยมาก
โดยได้มอบหมายให้กรมทรัพยากรน้ำ และกรมส่งเสริมการเกษตร ลงพื้นที่เพื่อพิจารณาหาแนวทางในการให้ความช่วยเหลือ พร้อมทั้งสร้างความเข้าใจให้แก่เกษตรกรในการเลือกพื้นที่เพาะปลูก โดยพิจารณาจากแหล่งน้ำในพื้นที่ของตนเองเป็นอันดับแรก เพื่อป้องกันปัญหาขาดแคลนน้ำและความเสียหายแก่ผลผลิต
ที่ประชุมยังได้ติดตามการเพาะปลูกข้าวนาปรังรอบที่ 2 จากข้อมูลการสำรวจของ GISTDA พบว่าขณะนี้มีการเพาะปลูกไปประมาณ 80,000 ไร่ โดยจะควบคุมให้มีการเพาะปลูกไม่เกิน 100,000 ไร่ ซึ่งจะไม่กระทบต่อปริมาณน้ำที่มีอยู่ อย่างไรก็ตาม จะยังมีการรณรงค์งดการเพาะปลูกข้าวนาปรังรอบที่ 2 และติดตามควบคุมสถานการณ์อย่างเคร่งครัด
สำหรับสถานการณ์น้ำเค็มในแม่น้ำหลัก 4 สาย ที่ได้มีการดำเนินการควบคุมคุณภาพน้ำมาอย่างต่อเนื่อง ปัจจุบันมีค่าความเค็มอยู่ในเกณฑ์มาตรฐาน แต่จะมีช่วงน้ำทะเลหนุนสูงและน้ำเค็มรุกล้ำแม่น้ำอีกครั้งในวันที่ 10-15 เม.ย.67 โดย สทนช.ได้มีการประกาศแจ้งเตือนล่วงหน้า พร้อมประสานหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ให้เฝ้าระวังและดูแลประชาชนในพื้นที่เสี่ยงได้รับผลกระทบ
ทั้งนี้ ได้มีการปรับปรุงแก้ไขบริเวณที่ไม่มีแนวป้องกันน้ำถาวร (แนวฟันหลอ) ให้อยู่ในสภาพที่พร้อมสำหรับรองรับสถานการณ์ในช่วงเวลาดังกล่าวแล้ว
โดย สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (03 เม.ย. 67)
Tags: น้ำท่วม, ฝนตก, พายุฤดูร้อน, ลานีญา, อ่างเก็บน้ำ, อุทกภัย, ไพฑูรย์ เก่งการช่าง