พล.ต.ท.กรไชย คล้ายคลึง ผู้ช่วยผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ (ผช.ผบ.ตร.) แถลงผลการดำเนินงานของศูนย์อำนวยการป้องกันและลดอุบัติเหตุทางถนน (ศปถ.) ช่วงเทศกาลสงกรานต์ พ.ศ.2567 ว่า ในวันที่ 14 เม.ย.67 ซึ่งเป็นวันที่สี่ของการรณรงค์ “ขับขี่อย่างปลอดภัย เมืองไทยไร้อุบัติเหตุ” ได้เกิดอุบัติเหตุ 317 ครั้ง ผู้บาดเจ็บ 311 คน ผู้เสียชีวิต 38 ราย สาเหตุที่ทำให้เกิดอุบัติเหตุสูงสุด ได้แก่ ขับรถเร็ว 37.22% ดื่มแล้วขับ 25.87% ทัศนวิสัยไม่ดี 15.46% ยานพาหนะที่เกิดอุบัติเหตุสูงสุด ได้แก่ รถจักรยานยนต์ 87.51% ส่วนใหญ่เกิดบนเส้นทางตรง 80.76% ถนนกรมทางหลวง 35.65% ถนนใน อบต./หมู่บ้าน 35.33% ช่วงเวลาที่เกิดอุบัติเหตุสูงสุด ได้แก่ เวลา 18.01-19.00 น. 7.57% ผู้บาดเจ็บและเสียชีวิตสูงสุดอยู่ในช่วงอายุ 20-29 ปี 20.92% จัดตั้งจุดตรวจหลัก 1,763 จุด เจ้าหน้าที่ปฏิบัติงาน 51,529 คน โดยจังหวัดที่เกิดอุบัติเหตุสูงสุด ได้แก่ น่าน (14 ครั้ง) จังหวัดที่มีผู้บาดเจ็บสูงสุด ได้แก่ น่าน (16 คน) จังหวัดที่มีผู้เสียชีวิตสูงสุด ได้แก่ นครสวรรค์ (3 ราย)
ขณะที่สถิติอุบัติเหตุทางถนนสะสมในช่วง 4 วันของการรณรงค์ (11-14 เม.ย.67) เกิดอุบัติเหตุรวม 1,259 ครั้ง ผู้บาดเจ็บรวม 1,279 คน ผู้เสียชีวิต รวม 162 ราย จังหวัดที่ไม่มีผู้เสียชีวิต (ตายเป็นศูนย์) มี 21 จังหวัด จังหวัดที่เกิดอุบัติเหตุสะสมสูงสุด ได้แก่ นครศรีธรรมราช (50 ครั้ง) จังหวัดที่มีผู้บาดเจ็บสะสมสูงสุด ได้แก่ นครศรีธรรมราช (54 คน) จังหวัดที่มีผู้เสียชีวิตสะสมสูงสุด ได้แก่ กรุงเทพมหานครและร้อยเอ็ด (10 ราย)
พล.ต.ท.กรไชย กล่าวว่า วันนี้ประชาชนบางส่วนเริ่มทยอยเดินทางกลับเข้ากรุงเทพมหานครและจังหวัดที่เป็นแหล่งเศรษฐกิจในแต่ละภาค ทำให้เส้นทางสายหลักเริ่มมีการจราจรหนาแน่น ศปถ.จึงได้ประสานจังหวัดเพิ่มความเข้มข้นการดูแลความปลอดภัยในการใช้รถใช้ถนน โดยพื้นที่ที่ยังมีการเล่นน้ำสงกรานต์ให้เจ้าหน้าที่ประจำจุดเพิ่มความถี่ในการเรียกตรวจประเมินความพร้อมของผู้ขับขี่ โดยเฉพาะเส้นทางโดยรอบสถานที่จัดงานสงกรานต์และในช่วงเวลากลางคืน ส่วนในเส้นทางสายหลักขาเข้ากรุงเทพฯ และเส้นทางที่เชื่อมต่อระหว่างภูมิภาค เน้นการจัดตั้งจุดตรวจและเพิ่มความถี่เรียกตรวจในเส้นทางเสี่ยง โดยเฉพาะทางตรงที่มีระยะทางไกลและจุดเสี่ยงเกิดอุบัติเหตุบ่อยครั้ง เพื่อกวดขันพฤติกรรมเสี่ยงขับรถเร็ว ดื่มแล้วขับ ไม่ใช้อุปกรณ์นิรภัย
พร้อมกันนี้ได้เน้นย้ำให้จังหวัดดูแลความเรียบร้อยของพื้นที่ที่จัดการเล่นสงกรานต์ โดยดูแลไม่ให้มีความวุ่นวาย การทะเลาะวิวาท การพกอาวุธเข้าไปในพื้นที่จัดงาน การจำหน่ายเครื่องดื่มแอลกอฮอล์นอกเวลาที่กฎหมายกำหนดและจำหน่ายให้แก่เด็กและเยาวชนที่มีอายุต่ำกว่า 20 ปี หากมีกรณีเด็กและเยาวชนเสียชีวิตจากการดื่มแล้วขับ ขอให้พื้นที่เร่งติดตาม ตรวจสอบ และสืบสวนหาผู้ที่จำหน่ายหรือสนับสนุนให้เด็กและเยาวชนดื่มแอลกอฮอล์เพื่อดำเนินคดีตามกฎหมายต่อไป
นายไชยวัฒน์ จุนถิระพงศ์ อธิบดีกรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย (ปภ.) ในฐานะประธานการประชุมคณะอนุกรรมการเฉพาะกิจศูนย์อำนวยการป้องกันและลดอุบัติเหตุทางถนนตลอดทั้งปี และเลขานุการ ศปถ. กล่าวว่า สถิติอุบัติเหตุทางถนนสะสมในช่วง 4 วันที่ผ่านมา แม้จำนวนครั้งของการเกิดอุบัติเหตุ จำนวนผู้บาดเจ็บและเสียชีวิตจะลดลงจากช่วงเวลาเดียวกันของเทศกาลสงกรานต์ปีก่อน แต่ ศปถ.ยังกำชับให้จังหวัดดำเนินการป้องกันและลดอุบัติเหตุทางถนนอย่างต่อเนื่อง โดยใช้ศูนย์อำนวยการความปลอดภัยทางถนนจังหวัด ศูนย์ปฏิบัติการความปลอดภัยทางถนนอำเภอ และศูนย์ปฏิบัติการความปลอดภัยทางถนนองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ติดตามข้อมูลการเกิดอุบัติเหตุทางถนน วิเคราะห์หาสาเหตุเชิงลึกของการเกิดอุบัติเหตุ เพื่อปรับการทำงานในพื้นที่ให้สอดคล้องกับสถานการณ์และปัจจัยเสี่ยง รวมถึงป้องกันพฤติกรรมเสี่ยงตั้งแต่ต้นทาง โดยใช้กลไกของชุมชน ทั้งผู้นำชุมชน กำนัน ผู้ใหญ่บ้าน และครอบครัว ในการป้องปรามไม่ให้คนในครอบครัวหรือชุมชุนที่มีสภาพร่างกายไม่พร้อมขับขี่ยานพาหนะ ไม่ว่าจะเป็นการดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์หรือร่างกายอ่อนเพลีย รวมไปถึงการคาดเข็มขัดนิรภัยและการสวมหมวกกันน็อค
โดย สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (15 เม.ย. 67)
Tags: 7 วันอันตราย, กรชัย คล้ายคลึง, สงกรานต์, อุบัติเหตุ