นายประจักษ์ บุญยัง ผู้ว่าการตรวจเงินแผ่นดิน เปิดเผยว่า ตามที่กรุงเทพมหานคร (กทม.) ได้จัดทำแผนพัฒนากรุงเทพมหานครระยะ 20 ปี (2556 – 2575) เพื่อใช้เป็นกรอบในการพัฒนาให้ก้าวสู่การเป็น “มหานครแห่งเอเชีย” ในปี 2575 นั้น คณะกรรมการตรวจเงินแผ่นดิน ให้ความสำคัญกับการตรวจสอบผลสัมฤทธิ์และประสิทธิภาพของการใช้จ่ายเงินแผ่นดิน ประกอบกับความสำคัญของแผนพัฒนากรุงเทพมหานครระยะ 20 ปี ดังกล่าว
สำนักงานการตรวจเงินแผ่นดิน (สตง.) จึงได้เลือกตรวจสอบเรื่องดังกล่าวโดยวางแผนการตรวจสอบการดำเนินงานแบบต่อเนื่องหลายปี (Multi-year Performance Audit Plan) จำนวน 3 ครั้ง
โดยครั้งที่ 1 และครั้งที่ 2 เป็นการตรวจสอบผลสัมฤทธิ์และประสิทธิภาพการดำเนินงานมหานครปลอดภัย ด้านปลอดมลพิษ ด้านปลอดอาชญากรรมและยาเสพติด และด้านปลอดโรคคนเมือง อาหารปลอดภัย ซึ่งได้มีการเผยแพร่ผลการตรวจสอบให้สาธารณชนได้รับทราบแล้ว
ส่วนครั้งที่ 3 นี้ เป็นการตรวจสอบตามแผนพัฒนากรุงเทพมหานครระยะ 20 ปี ระยะที่ 1 (พ.ศ. 2556-2560) และต่อเนื่องระยะที่ 2 ช่วงปี 2561-2562 ในด้านปลอดอุบัติเหตุ ด้านปลอดภัยพิบัติ และด้านสิ่งก่อสร้างปลอดภัย เพื่อให้ทราบถึงผลการดำเนินงานว่าเป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพ ประสิทธิผล หรือไม่ ตลอดจนเพื่อให้ทราบปัญหาอุปสรรคในการดำเนินงาน และให้ข้อเสนอแนะเพื่อนำไปสู่แนวทางการแก้ไขข้อบกพร่องที่อาจเกิดขึ้นต่อไป
จากการตรวจสอบผลสัมฤทธิ์ และประสิทธิภาพการดำเนินงาน “มหานครปลอดภัย” ด้านปลอดอุบัติเหตุ ด้านปลอดภัยพิบัติ และด้านสิ่งก่อสร้างปลอดภัย มีประเด็นข้อตรวจพบที่สำคัญ ดังนี้
1. ด้านปลอดอุบัติเหตุ แผนพัฒนากรุงเทพมหานคร ระยะ 20 ปี มีเป้าประสงค์ให้กรุงเทพมหานครมีระบบขนส่งมวลชนที่ปลอดอุบัติเหตุ และการลดอุบัติเหตุบนท้องถนน
จากการตรวจสอบพบว่า การดำเนินงานเพื่อลดอุบัติเหตุทางถนนไม่เป็นไปตามเป้าหมายที่กำหนดให้จำนวนอุบัติเหตุหรือความผิดพลาดที่เกิดจากการปฏิบัติงานระบบขนส่งมวลชนของกรุงเทพมหานครเป็นศูนย์ กล่าวคือ ตั้งแต่ปี พ.ศ. 2560 – 2562 มีอุบัติเหตุที่เกิดขึ้นจากการปฏิบัติงานของรถโดยสารประจำทางด่วนพิเศษ (BRT) และรถบริการสำหรับผู้พิการและผู้สูงอายุที่ใช้รถเข็น ทั้งในส่วนที่เกี่ยวข้องกับพนักงานขับรถและสภาพรถโดยสาร รวมทั้งสิ้น 156 ครั้ง
นอกจากนี้ ยังพบว่าโครงการ/กิจกรรมเพื่อลดความสูญเสียจากอุบัติเหตุจราจร ภายใต้ 4 มาตรการที่สำคัญ ได้แก่ 1) มาตรการตรวจสอบและปรับปรุงสภาพถนน 2) มาตรการสร้างระบบวิเคราะห์และคาดการณ์การเกิดอุบัติเหตุทางถนน 3) มาตรการติดตั้งระบบตรวจจับผู้ทำผิดกฎจราจรอิเล็กทรอนิกส์ และ 4) มาตรการจัดกิจกรรมรณรงค์วินัยจราจร ยังมีการดำเนินการไม่ครบถ้วน
โดยมีสาเหตุมาจากหน่วยงานผู้รับผิดชอบยังขาดฐานข้อมูลด้านอุบัติเหตุทางถนนในพื้นที่กรุงเทพมหานคร เพื่อนำมาวิเคราะห์และกำหนดมาตรการในการแก้ไข อีกทั้งยังไม่มีการหารือร่วมกันระหว่างกรุงเทพมหานครกับบริษัทที่เป็นผู้รับมอบกิจการในอำนาจหน้าที่กรุงเทพมหานครถึงประเด็นการเกิดอุบัติเหตุจากการปฏิบัติงานทั้งในระบบและนอกระบบการให้บริการของ BRT เพื่อนำไปสู่การแก้ไขปรับปรุง ซึ่งส่งผลกระทบให้เกิดความเสี่ยงที่ผู้รับบริการระบบขนส่งสาธารณะและผู้ใช้รถใช้ถนนจะไม่ได้รับความปลอดภัยในชีวิตและทรัพย์สิน รวมทั้งคุณภาพชีวิตของประชาชนในพื้นที่กรุงเทพมหานคร
2. ด้านปลอดภัยพิบัติ แผนพัฒนากรุงเทพมหานคร 20 ปี มีเป้าประสงค์ให้กรุงเทพมหานครมีความพร้อมในการรับมือกับน้ำท่วมทั้งจากน้ำฝน น้ำหนุน และน้ำหลาก
แต่จากการตรวจสอบรายงานผลน้ำท่วมบนถนนสายหลัก ช่วงเดือนพฤษภาคม – เดือนตุลาคมในปี 2561-2562 โดยเปรียบเทียบเหตุการณ์น้ำท่วมขังของทั้งสองปีพบว่า แม้ปริมาณฝนสะสมในปี 2562 จะลดลงจากปี 2561 คิดเป็น 33.51% แต่กลับพบว่า ปี 2562 ยังคงมีน้ำท่วมขังในจุดเดิมและมีจุดน้ำท่วมขังที่เกิดขึ้นใหม่ คิดเป็น 66.46% ของจุดน้ำท่วมขังทั้งหมด ซึ่งนอกจากระดับความลึกของน้ำท่วมขังที่ไม่ลดลงแล้ว ยังพบว่ามีจำนวนเหตุการณ์น้ำท่วมขัง และระยะเวลาการระบายน้ำที่เพิ่มขึ้นเมื่อเทียบกับปี 2561 อีกด้วย
“การดำเนินงานในการป้องกันและแก้ไขปัญหาน้ำท่วมขังจากน้ำฝน ยังมีความเสี่ยงต่อการไม่บรรลุวัตถุประสงค์ เนื่องจากการนำระบบสารสนเทศน้ำมาใช้ในการแก้ไขปัญหาและป้องกันน้ำท่วม ยังเป็นไปอย่างไม่เต็มประสิทธิภาพ เกณฑ์ตัวชี้วัดความสามารถการระบายน้ำท่วมขังในถนนสายหลักไม่สามารถสะท้อนสภาพปัญหาความเดือดร้อนของประชาชนที่เกิดขึ้นได้จริง และการดำเนินโครงการยุทธศาสตร์เพื่อเพิ่มความสามารถในการระบายน้ำไม่เป็นไปตามเป้าหมายแผนงานที่กำหนด ทำให้ประชาชนชาวกรุงเทพมหานครได้รับความเดือดร้อนจากภัยพิบัติน้ำท่วมขัง อีกทั้งยังทำให้การใช้จ่ายเงินงบประมาณในการดำเนินงานเพื่อป้องกันและแก้ไขปัญหา น้ำท่วมขังจากน้ำฝนเป็นไปอย่างไม่คุ้มค่าและไม่เกิดประโยชน์แก่ประชาชน” รายงานผลการตรวจสอบ ระบุ
3. ด้านสิ่งก่อสร้างปลอดภัย แผนพัฒนากรุงเทพมหานคร ระยะ 20 ปี กำหนดให้กรุงเทพมหานครต้องมีโครงสร้างพื้นฐาน ได้แก่ ถนน ทางเท้า สะพาน ที่มีความปลอดภัย
อย่างไรก็ตาม สตง. ตรวจพบกรณีที่มีความเสี่ยงต่อการไม่บรรลุเป้าหมายดังกล่าว เช่น การดำเนินการตรวจสอบ ปรับปรุงและบูรณะซ่อมแซมถนน ทางเท้า และสะพานข้ามคลอง ยังขาดแนวทางปฏิบัติที่ชัดเจน โดยจากการตรวจสอบศูนย์ก่อสร้างและบูรณะถนน จำนวน 3 แห่ง พบว่า ไม่มีการจัดทำแผนการตรวจสอบ และแผนการปรับปรุงและบูรณะซ่อมแซมโครงสร้างพื้นฐานในความรับผิดชอบทั้งหมด ซึ่งอาจทำให้การปรับปรุงซ่อมแซมไม่ครอบคลุมพื้นที่ดำเนินการอย่างทั่วถึง และอาจทำให้การดำเนินการไม่สม่ำเสมอและเกิดความซ้ำซ้อนได้
นอกจากนี้ วิธีการตรวจสอบ ปรับปรุง และบูรณะซ่อมแซมถนนและทาง ไม่เป็นไปตามแนวทางที่เหมาะสม โดยจากการตรวจสอบประกอบกับการสัมภาษณ์เจ้าหน้าที่ผู้เกี่ยวข้อง พบว่าเจ้าหน้าที่ศูนย์ฯ จะออกตรวจถนนและทางเท้าในความรับผิดชอบทุกวัน และประเมินความเสียหายของถนนและทางเท้า โดยวิธีการประเมินสภาพด้วยสายตา (Visual Inspection) และจัดทำใบรายงานผลการตรวจสอบเสนอผู้บังคับบัญชาทุก 15 วัน และเมื่อพิจารณาข้อมูลในรายงานผลการตรวจสอบ พบว่าเกณฑ์การประเมินความเสียหายกำหนดขึ้นอย่างกว้าง ๆ ไม่มีรายละเอียดและหลักเกณฑ์ประกอบการพิจารณาที่ชัดเจน ส่งผลให้การจัดลำดับความสำคัญเพื่อขอจัดสรรงบประมาณในการซ่อมบำรุงไม่สอดคล้องกับสภาพของความเสียหายของสายทางที่เกิดขึ้นจริง รวมทั้งเกิดความเสี่ยงต่อความปลอดภัยในชีวิตและทรัพย์สินของประชาชน
รายงานผลการตรวจสอบของ สตง. ยังได้ระบุข้อสังเกตเพิ่มเติมในประเด็นเกี่ยวกับการจัดทำฐานข้อมูลอาคาร โดยจากการตรวจสอบแผนการปฏิบัติราชการเพื่อจัดทำฐานข้อมูลอาคาร 9 ประเภท และอาคารนอกเหนืออาคาร 9 ประเภท พบว่า การจัดทำฐานข้อมูลอาคาร 9 ประเภท ยังไม่เป็นไปตามเป้าหมายของการจัดทำฐานข้อมูลอาคารทั้งหมด และยังไม่มีการดำเนินการจัดทำข้อมูลอาคารนอกเหนืออาคาร 9 ประเภท ที่เป็นอาคารเก่า อาคารทั่วไปอื่น ๆ ที่มีความเสี่ยง จึงส่งผลให้กรุงเทพมหานครขาดฐานข้อมูลสำหรับการวางแผนปฏิบัติงานควบคุม ตรวจสอบอาคารที่มีความเสี่ยงต่อการเกิดอุบัติภัยจากการใช้อาคารและอาจไม่สามารถแก้ไขปัญหาด้านความปลอดภัยต่อการใช้อาคารที่มีความเสี่ยงได้ทันกาล
จากผลการตรวจสอบ และข้อสังเกตดังกล่าว สตง. จึงมีข้อเสนอแนะเพื่อให้การดำเนินงานตามแผนพัฒนากรุงเทพมหานครฯ บรรลุเป้าหมาย อาทิ ให้หน่วยงานที่รับผิดชอบพิจารณากำหนดแนวทางการรวบรวมข้อมูลสำคัญด้านอุบัติเหตุทางถนน เช่น สถานที่เกิดเหตุ จุดเสี่ยงและจุดอันตราย โดยบูรณาการข้อมูลกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เพื่อวิเคราะห์และวางแผนกำหนดมาตรการลดความสูญเสียจากอุบัติเหตุจราจร
สำรวจพื้นที่ที่เป็น จุดเสี่ยงหรือจุดเฝ้าระวังน้ำท่วม และประเมินสภาพปัญหาน้ำท่วมในแต่ละพื้นที่ เพื่อพิจารณาติดตั้งสถานีวัดระดับน้ำท่วม ปรับปรุงหรือพัฒนาระบบสารสนเทศระบายน้ำให้สามารถประมวลผลและแปรผลข้อมูลได้ โดยไม่ต้องอาศัยดุลยพินิจของเจ้าหน้าที่เพียงอย่างเดียวเพื่อให้การบริหารจัดการน้ำสามารถทำได้อย่างทันกาล จัดทำแผนการตรวจสอบและแผนการซ่อมบำรุงที่ครอบคลุมโครงสร้างพื้นฐานทั้งหมด และให้มีการติดตามผลจำนวนโครงการที่ได้รับการซ่อมแซมบำรุงรักษา เพื่อให้เป็นไปตามแผนงาน
ตลอดจนบูรณาการการทำงานกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เพื่อจัดทำฐานข้อมูลอาคารในเขตพื้นที่กรุงเทพมหานคร พร้อมจัดกิจกรรมให้เจ้าของอาคารได้ตระหนักถึงอันตรายที่อาจจะเกิดจากอุบัติภัยในการใช้อาคาร โดยกำหนดไว้ในแผนปฏิบัติราชการประจำปี เพื่อนำไปสู่ การปรับปรุงแก้ไขอาคารให้เกิดความปลอดภัยต่อผู้ใช้งานอาคารต่อไป ฯลฯ
อนึ่ง กรุงเทพมหานคร (กทม.) ได้จัดทำแผนพัฒนากรุงเทพมหานครระยะ 20 ปี (พ.ศ. 2556 – 2575) เพื่อใช้เป็นกรอบในการพัฒนาให้ก้าวสู่การเป็น “มหานครแห่งเอเชีย” ในปี 2575 ซึ่งประกอบด้วยประเด็นยุทธศาสตร์สำคัญ 6 ด้าน ได้แก่
- มหานครปลอดภัย
- มหานครสีเขียว
- มหานครสำหรับทุกคน
- มหานครกะทัดรัด
- มหานครแห่งประชาธิปไตย
- มหานครแห่งเศรษฐกิจและการเรียนรู้
โดยแผนพัฒนาฯ ในระยะที่ 1 (พ.ศ. 2556 – 2560) มีเป้าหมายให้กรุงเทพมหานครเป็นมหานครปลอดภัย ประกอบด้วย 6 ด้าน ได้แก่
- 1) ปลอดมลพิษ
- 2) ปลอดอาชญากรรมและยาเสพติด
- 3) ปลอดอุบัติเหตุ
- 4) ปลอดภัยพิบัติ
- 5) สิ่งก่อสร้างปลอดภัย
- 6) ปลอดโรคคนเมือง อาหารปลอดภัย
โดย สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (17 มิ.ย. 64)
Tags: กทม., กรุงเทพมหานคร, ประจักษ์ บุญยัง, มหานครปลอดภัย, สตง., สำนักงานการตรวจเงินแผ่นดิน, แผนพัฒนากรุงเทพมหานคร