รศ.พญ.ปาริชาติ เพิ่มพิกุล หัวหน้าภาควิชาเวชศาสตร์การธนาคารเลือด คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล มหาวิทยาลัยมหิดล เปิดเผยว่า เนื่องจากสถานการณ์โควิด 19 ซึ่งทวีความรุนแรง ประชาชนเดินทางออกจากบ้านน้อยลง และส่วนหนึ่งทำงานที่บ้านเพื่อลดความเสี่ยง ประกอบกับการตั้งจุดบริจาคเลือดของโรงพยาบาลทำได้ยากลำบากขึ้น และจำนวนผู้บริจาคเลือดลดลง ขณะที่โรงพยาบาลศิริราชยังมีผู้ป่วยฉุกเฉินที่ต้องรับการผ่าตัด ผู้ป่วยโรคเลือดที่จำเป็นต้องใช้เลือดในการรักษา ส่งผลให้ขณะนี้เลือดสำรองในธนาคารเลือดของโรงพยาบาลขาดแคลนอย่างหนักทุกหมู่เลือด โดยเฉพาะหมู่เลือด O (โอ) ซึ่งทำให้ไม่สามารถให้บริการผู้ป่วยได้อย่างต่อเนื่อง สำหรับสถานการณ์ทั่วประเทศนั้น มีการขาดแคลนเลือดมาตั้งแต่มีการระบาดของเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 เป็นวงกว้าง ซึ่งศูนย์บริการโลหิตแห่งชาติ สภากาชาดไทย ได้พยายามประชาสัมพันธ์ เชิญชวนให้ช่วยกันบริจาคโลหิตมาโดยตลอด
“เมื่อสัปดาห์ที่ผ่านมาโรงพยาบาลศิริราชขาดแคลนเลือดสำรองอยู่ในขั้นวิกฤติอย่างไม่เคยเป็นมาก่อน ซึ่งในสถานการณ์ปกติ ปริมาณเลือดสำรองมีเป็นสัปดาห์ แต่ตอนนี้ความต้องการเลือดมีมาก จึงไม่เพียงพอ โดยมีผู้มาบริจาคเลือดน้อย วันละประมาณ 40-50 ยูนิต และวันเสาร์อาทิตย์ มีจำนวน 80-100 ยูนิต ขณะที่มีคนไข้หนัก คนไข้โรคเลือดที่ต้องให้เลือดทุกสองสัปดาห์ ผู้ป่วยมะเร็งที่ได้รับเคมีบำบัดที่ต้องให้เลือดหรือเกล็ดเลือด คนไข้ผ่าตัดใหญ่ รวมทั้งผู้บาดเจ็บจากอุบัติเหตุ ต้องการเลือดวันละ 100 -160 ยูนิต ทำให้เลือดสำรองขาดแคลนอย่างหนัก จึงต้องขอเชิญชวนประชาชนร่วมบริจาคเลือดช่วยผู้ป่วยฉุกเฉิน ผู้ป่วยที่รอการผ่าตัด รวมถึงผู้ป่วยโรคเลือดที่จำเป็นต้องใช้เลือด”
รศ.พญ.ปาริชาติ กล่าว
สำหรับสถานการณ์ทั่วประเทศนั้น มีการขาดแคลนเลือดมาตั้งแต่มีการระบาดของเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 เป็นวงกว้าง ซึ่งศูนย์บริการโลหิตแห่งชาติ สภากาชาดไทย ได้พยายามประชาสัมพันธ์ เชิญชวนให้ช่วยกันบริจาคโลหิตมาโดยตลอด
รศ.พญ.ปาริชาติ ให้คำแนะนำสำหรับผู้ที่ต้องการบริจาคเลือดว่า สำหรับผู้ที่มีอายุ 18 – 60 ปี มีน้ำหนัก 48 กิโลกรัมขึ้นไป ไม่มีโรคประจำตัว ขอให้เตรียมร่างกายให้พร้อม โดยนอนหลับพักผ่อนเพียงพออย่างน้อย 5 ชั่วโมง ก่อนบริจาคเลือดสามารถรับประทานอาหารและน้ำได้ตามปกติ แต่ขอให้หลีกเลี่ยงอาหารประเภทที่มีไขมันสูง งดสูบบุหรี่ งดดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์
สำหรับผู้ที่ได้รับการฉีดวัคซีนต้านโควิดเข็มที่ 1 หรือว่าเข็มที่ 2 แล้ว สามารถบริจาคโลหิตได้หลังจากได้รับวัคซีนแล้ว 1 สัปดาห์ กรณีเป็นผู้ที่มีอาการข้างเคียงหลังฉีดวัคซีนต้องรักษาอาการให้หายดีก่อนและควรเว้นไว้อย่างน้อย 1-2 สัปดาห์ ตามความรุนแรงของอาการ ส่วนผู้ที่เคยป่วยโควิด สามารถบริจาคเลือด หลังได้รับการรักษาจนหายขาดและหยุดยาทุกชนิด อย่างน้อย 2 สัปดาห์ และผู้ที่ถูกกักตัวเนื่องจากมีความเสี่ยงในการติดเชื้อ นับจากวันที่พ้นระยะกักตัว อย่างน้อย 14 วัน ซึ่งสิ่งสำคัญที่ต้องขอความร่วมมือสำหรับผู้ที่มาบริจาคเลือดคือ การตอบคำถามคัดกรองสุขภาพตนเองด้วยความเป็นจริง
“นอกจากท่านจะมาบริจาคเลือดด้วยตนเองแล้ว ขณะนี้โรงพยาบาลศิริราชได้อำนวยความสะดวกยิ่งขึ้น ทั้งเป็นการลดความเสี่ยงสำหรับผู้บริจาคเลือดในสถานการณ์การแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 โดยท่านสามารถนัดหมายล่วงหน้าผ่านแอปพลิเคชัน Siriraj Connect ด้วย 4 ขั้นตอนง่ายๆ เมื่อนัดหมายเรียบร้อย สามารถนำมาแสดงต่อเจ้าหน้าที่ในช่วงเวลาที่ท่านทำการนัดหมายไว้ โดยไม่ต้องทำการกรอกเอกสารเพื่อประเมินความเสี่ยงซ้ำอีกครั้ง ซึ่งศูนย์รับบริจาคเลือดศิริราช มีระบบคัดกรองความเสี่ยงอย่างปลอดภัยและได้มาตรฐาน โดยเจ้าหน้าที่ทุกคนได้รับการประเมินความเสี่ยงก่อนมาปฏิบัติงาน วัดอุณหภูมิทั้งเจ้าหน้าที่และผู้บริจาคเลือดก่อนเข้าสถานที่ มีฉากกั้นระหว่างเจ้าหน้าที่และผู้บริจาคเลือดทุกจุดบริการ รวมทั้งทำความสะอาดอุปกรณ์และสถานที่อย่างสม่ำเสมอ จึงขอให้ประชาชนมั่นใจในการมาบริจาคเลือด”
รศ.พญ.ปาริชาติ กล่าว
โดย สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (30 ก.ค. 64)
Tags: คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล, ธนาคารเลือด, บริจาคเลือด, ปาริชาติ เพิ่มพิกุล, มหาวิทยาลัยมหิดล, โรงพยาบาลศิริราช