น.ส.ศิริกัญญา ตันสกุล สส.บัญชีรายชื่อ พรรคประชาชน กล่าวในการพิจารณาญัตติด่วน ถึงผลกระทบและแนวทางรับมือนโยบายภาษีของสหรัฐอเมริกาว่า การขึ้นภาษีของสหรัฐฯ ส่งผลกระทบอย่างลึกซึ้งต่อเศรษฐกิจไทย และเศรษฐกิจโลก เฉพาะที่กระทบกับประเทศไทย มีความลึก กว้าง และยาว ผลกระทบครั้งนี้ลึก เพราะการประกาศขึ้นภาษีสูงสุดในรอบร้อยกว่าปีหนักยิ่งกว่ายุคเศรษฐกิจตกต่ำ ในปี 1929 ที่เรียกว่า Great Depression ซึ่งเริ่มมาจากการขึ้นภาษีและตอบโต้กันไปมา จนเกิดผลกระทบเป็นวงกว้างทั่วโลก สินค้าถูกจากทุกทิศทุกทางจะไหลเข้ามาในประเทศไทย ส่งออกได้น้อยลง ท่องเที่ยวก็อาจน้อยลง กำลังซื้อในประเทศที่ตอนนี้ก็ย่ำแย่อยู่แล้ว ก็จะย่ำแย่ไปอีก
น.ส.ศิริกัญญา กล่าวว่า สิ่งที่เราเผชิญอยู่เป็นแค่ศึกแรกเท่านั้น กระบวนการเจรจาไม่รู้ว่าจะสิ้นสุดลงเมื่อไร ตอนนี้สหรัฐฯ บอกว่ามีกว่า 70 ประเทศต่อคิวเข้าพบ อาจจะต้องเจอกับลูกหลงที่ประเทศไทยต้องเจอหางเลขไปด้วย ซึ่งหนักขึ้นทุกวัน ถามว่ากระทบกับเราหรือไม่ การที่เขาตอบโต้กันไปมากระทบกันแน่ เพราะเราเข้าไปเป็นส่วนหนึ่งของซัพพลายเชนในการผลิตสินค้าจีนเรียบร้อยแล้ว ถ้าสินค้านั้นต้องส่งไปขายที่สหรัฐฯ ก็ต้องเจอผลกระทบที่ตอบโต้กันไปมาแน่ ไม่ลดคำสั่งซื้อก็เลิกซื้อ กระทบมาถึงผู้ผลิตไทยแน่ ยอดขายหายทันที
น.ส.ศิริกัญญา กล่าวว่า เมื่อวานนี้นายกรัฐมนตรี พูดถึงเรื่องนี้ด้วยคำ 3 คำ ได้แก่ รู้เขา รู้เรา เร็ว และแม่นยำ ขณะที่วันก่อนหน้านี้ นายศุภวุฒิ สายเชื้อ ที่ปรึกษาของนายกรัฐมนตรี กล่าวว่า เรายังดูท่าที ไม่รีบ ตกลงว่าจะเร็ว หรือรอ ควรไปตกลงกันให้เรียบร้อย พร้อมฝากถึงนายพิชัย ชุณหวชิร รองนายกรัฐมนตรี และรมว.คลัง ก่อนที่จะไปคุยกับเกษตรกรอเมริกา ควรไปคุยกับเกษตรกรไทยก่อน รวมถึงหากเล็งช่องทางการร่วมลงทุนท่อก๊าซในอลาสก้า ได้หารือกับประเทศอื่นที่ใช้ช่องทางนี้แล้วหรือยัง เรื่องเครื่องบินหรืออาวุธยุทธโธปกรณ์ ก็ไม่ได้อยู่ในเรื่องที่นายพิชัย แถลงเมื่อวานนี้ จึงอยากสอบถามว่า วันนี้เป็นส่วนหนึ่งของการเจรจาหรือไม่
“สิ่งที่อยู่บนโต๊ะเจรจา ไพ่ที่เราจะไปคุยกับเขา มันไม่ได้ให้ความรู้สึกถึงความ Phenomenal (มหัศจรรย์) อย่างที่ประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ ต้องการ ใหญ่เบิ้ม อัศจรรย์อย่างที่ทำต้องการ เป็นไปตามที่นายศุภวุฒิ เคยพูดไว้ ว่าเราไม่มีอะไร Phenomenal อย่างที่ทรัมป์ต้องการ แถมแต้มต่อที่เคยมีก็หายไปทุกวัน ๆ” น.ส.ศิริกัญญา กล่าว
น.ส.ศิริกัญญา กล่าวว่า ปฏิเสธไม่ได้ว่าการที่ไทยส่งชาวอุยกูร์กลับประเทศจีน กลายเป็นได้รับผลกระทบ และทำให้มิตรกลายเป็นอื่น เหตุการณ์ยังเลวร้ายไปอีก เมื่อมีการแจ้งจับนักวิชาการอาจารย์พอล แชมเบอร์ส ด้วยข้อหา ม.112 และ พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ฯ
“ถ้าผู้แทนการค้าสหรัฐ ยังรับสายไทยอยู่ ถือเป็นเรื่องน่าประหลาดใจมาก ยังสงสัยว่า เขายังจะเจรจากับเราหลังจากนี้เรื่องนี้อยู่หรือไม่ แม้ประเทศอื่นบางประเทศ ไม่ได้ใช้วิธีการเชิงรุก แต่เขาก็เตรียมการอย่างตรงไปตรงมา เช่น สิงคโปร์ เกาหลีใต้ จึงขอเรียกร้องให้รัฐบาลเร่งเยียวยา พยุง กระตุ้น ฟื้นฟูเศรษฐกิจในประเทศ สิ่งสำคัญ คืออยากให้รัฐบาลเร่งทำความเข้าใจกับเอกชนที่เตรียมโยกย้ายฐานการผลิตกลับไปอเมริกา” น.ส.ศิริกัญญา ระบุ
ทั้งนี้ น.ส.ศิริกัญญา เรียกร้องให้รัฐบาลขยายเพดานหนี้สาธารณะ เพราะเชื่อว่า สส.ก็เห็นด้วย ถ้าไม่ได้กู้เงินมาแจกสะเปะสะปะอย่างที่ผ่านมา ฟื้นฟูประเทศ ในระยะสั้น และระยะยาว
“กู้เลยค่ะ ถ้าต้องการนำเงินมาเยียวยาภาคธุรกิจอุตสาหกรรม แรงงานที่ได้รับผลกระทบ กู้ได้ ถ้าท่านจะใช้งบประมาณเพื่อเดินหน้าปรับโครงสร้างทางเศรษฐกิจอย่างจริงจัง เพิ่มความสามารถในการแข่งขันให้ผู้ประกอบการไทย ดิฉันคิดว่าไม่มีโอกาสไหนที่ใหญ่กว่าโอกาสนี้ ในการปฏิรูปโครงสร้างทางเศรษฐกิจครั้งใหญ่ ฟื้นฟูเศรษฐกิจฟื้นฟูประเทศ” น.ส.ศิริกัญญา กล่าว
ด้านนายสิทธิพล วิบูลธนากุล สส.บัญชีรายชื่อ พรรคประชาชน เสนอญัตติด่วนขอให้สภาฯ พิจารณาแนวทางการรับมือผลกระทบของสงครามการค้าต่อเศรษฐกิจไทย เพื่อให้กรรมาธิการ (กมธ.) การพัฒนาเศรษฐกิจ สภาผู้แทนราษฎรศึกษาแนวทางต่อไป โดยกล่าวว่า สงครามการค้าระลอกใหม่เกิดขึ้นแล้ว และรุนแรงกว่าครั้งไหน ๆ เป็นการหันหัวกลับของยุคโลกาภิวัฒน์ของระบบการค้าโลก และหลังจากนายโดนัล ทรัมป์ ประธานาธิบดีสหรัฐฯ ประกาศขึ้นภาษีนำเข้าจากทั่วโลก ซึ่งสินค้าส่วนใหญ่ของไทยที่ส่งไปสหรัฐฯ โดนภาษีเกือบ 50% ในฐานะที่สหรัฐฯ เป็นตลาดส่งออกสำคัญของไทย คิดเป็นสัดส่วน 1 ใน 5 ของมูลค่าส่งออกทั้งหมดที่ไทยส่งไปยังต่างประเทศ ซึ่งผลกระทบรุนแรงต่อผู้ผลิตและผู้ส่งออกที่พึ่งพาตลาดสหรัฐ
นายสิทธิพล กล่าวว่า จากการขึ้นภาษีส่งผลกระทบต่อสินค้าที่ส่งออกไปสหรัฐฯเป็นหลัก ไม่ว่าเป็นเครื่องใช้ไฟฟ้า ยางรถยนต์ กลุ่มเหล่านี้จะได้รับผลกระทบรุนแรง จึงอยากรัฐบาลไปดูในรายสินค้าว่า สินค้าใดที่ได้รับผลกระทบสูง เช่น สินค้าประเภทยางไปสหรัฐฯ แต่มาเลเซียก็ส่งไปเหมือนกัน แต่ภาษีนำเข้าไม่เท่ากัน เพราะไทยโดนไป 36% แต่มาเลเซียโดนแค่ 24% ทำให้สินค้าไทยเสียเปรียบและแข่งขันยากเมื่อเทียบกับคู่แข่ง หรือผลไม้หลายชนิดที่ไทยส่งไปสหรัฐ แต่ฟิลิปปินส์ก็ส่งไปเหมือนกัน เช่น สัปปะรด มะพร้าว กล้วย หรือผลไม้แปรรูปต่างๆ เพราะไทยโดนภาษี 36% แต่มาเลเซียโดนแค่ 17 % เมื่อเป็นแบบนี้ สินค้าไทยเมื่อถึงสหรัฐฯ จะขายได้ยากขึ้นแน่นอน
นายสิทธิพล กล่าวว่า ทุกตลาดที่ไทยเคยส่งออกได้นั้น ยอดขายกำลังเจอการแข่งขันที่รุนแรงขึ้น จากสินค้าของทุกประเทศที่ต้องหนีตายจากสหรัฐฯ และมีแนวโน้มที่ต้องแข่งกันลดราคา ดังนั้นการที่รัฐบาลจะหาตลาดใหม่ ๆ เพื่อรองรับสงครามการค้าครั้งนี้ จึงอาจไม่ใช่เรื่องง่าย
พร้อมกับฝากรัฐบาลว่า แม้รัฐบาลจะเดินหน้าเจรจาที่ไม่รู้ว่าจะเสร็จเมื่อไร หรือได้อะไรกลับมาบ้าง แต่มีหลายเรื่องทำได้ทันที คือ เตรียมตัวเราเองให้พร้อมว่า ผู้ประกอบการกลุ่มไหนที่ได้รับผลกระทบ เราจะช่วยเหลือเขาตอนนี้อย่างไร มีมาตรการอะไรที่เราทำได้เพื่อสร้างให้เราเข้มแข็ง
โดย สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (09 เม.ย. 68)
Tags: ภาษีนำเข้า, ศิริกัญญา ตันสกุล, สหรัฐ