ศาลปกครองสูงสุดมีคำตัดสินกลับคำพิพากษาศาลชั้นต้น โดยให้ยกฟ้องการรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย (รฟม.) และคณะกรรมการคัดเลือกตามมาตรา 36 เนื่องจากเห็นว่ามีอำนาจยกเลิกประกาศเชิญชวนการร่วมลงทุนและยกเลิกการคัดเลือกเอกชนในโครงการรถไฟฟ้าสายสีส้มโดยชอบด้วยกฎหมาย
ทั้งนี้ ศาลปกครองสูงสุด วินิจฉัยว่าการยกเลิกประกาศเชิญชวนเอกชนสามารถทำได้ตาม พ.ร.บ.ร่วมลงทุนระหว่างภาครัฐและเอกชน ปี 62 และในเอกสาร RFP ได้ระบุไว้ว่า รฟม.สงวนสิทธิในการยกเลิกการคัดเลือกเอกชนโครงการรถไฟฟ้าสายสีส้มเมื่อ 3 ก.ค.63 ได้ และเป็นการกระทำโดยสุจริต
ศาลระบุว่า จากข้อเท็จจริงที่คณะกรรมการคัดเลือดมาตรา 36 และ รฟม.ยกเลิกการประมูลโครงการรถไฟฟ้าสายสีส้ม ช่วงบางขุนนนท์-มีนบุรี (สุวินทวงศ์) เนื่องจากการดำเนินโครงการส่วนตะวันตก (บางขุนนนท์-ศูนย์วัฒนธรรมฯ) จะล่าช้า ซึ่งจะมีผลกระทบต่อผลตอบแทนทางการเงิน รวมถึงจะทำให้การให้บริการส่วนตะวันออก (ศูนย์วัฒนธรรม-มีนบุรี) ล่าช้า ส่งผลให้ค่าใช้จ่ายงานโยธาส่วนตะวันออกเพิ่มขึ้น เมื่อเปิดให้บริการทั้งเส้นคาดว่าจะมีผู้ใช้บริการ 439,736 คนเที่ยวต่อวัน หากเปิดล่าช้าจะทำให้ผู้ใช้บริการสูญเสียประโยชน์ ซึ่งศาลเห็นว่าคณะกรรมการคัดเลือกมาตรา 36 ใช้ข้อมูลถูกต้องแล้ว
อีกทั้งคดีรถไฟฟ้าสายสีส้มมีการฟ้องร้องคดีหลายสำนวนของศาลปกครอง จึงไม่สามารถทราบวันเวลาสิ้นสุดว่าคดีจะสิ้นสุดเมื่อไร ดังนั้น เพื่อลดความเสี่ยงที่จะทำให้โครงการฯมีปัญหาล่าช้า คณะกรรมการคัดเลือกตามมาตรา 36 จึงเดินหน้าเปิดประมูลใหม่โดยไม่ต้องรอให้ศาลวินิจฉัย ซึ่งศาลเห็นว่าเป็นการวินิจฉัยทั่วไปที่สามารถยอมรับได้
ส่วนกรณีที่ศาลเห็นว่าการยกเลิกไม่ขัดความเสมอภาคและเป็นการดำเนินการโดยสุจริต เพราะคณะกรรมการคัดเลือกตามมาตรา 36 ยังไม่ได้พิจารณาข้อเสนอเอกชนรายใด ทำให้การยกเลิกไม่ได้เอื้อประโยชน์ต่อเอกชนรายใดรายหนึ่ง นอกจากนี้คณะกรรมการคัดเลือกตามมาตรา 36 ไม่ได้รับอิทธิพลจากปัจจัยภายนอก และใช้ดุลพินิจโดยชอบ ดังนั้น การยกเลิกการประกาศเชิญชวนเอกชนร่วมลงทุนและการคัดลือดเอกชนในโครงการรถไฟฟ้าสายสีส้มจึงเป็นการกระทำโดยชอบด้วยกฎหมาย
โดย สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (30 มี.ค. 66)
Tags: ประมูลรถไฟฟ้า, รถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย, รถไฟฟ้าสายสีส้ม, รฟม.