ศาลปกครองกลางมีคำพิพากษาให้เพิกถอนประกาศกรุงเทพมหานคร (กทม.) เรื่องการกำหนดค่าโดยสารโครงการรถไฟฟ้าสายสีเขียว โดยให้มีผลย้อนหลังไปตั้งแต่วันที่ 15 ม.ค.64 ที่ได้ออกประกาศดังกล่าว
“พิพากษาเพิกถอนประกาศกรุงเทพมหานคร ลงวันที่ 15 มกราคม 2564 เรื่องการกำหนดค่าโดยสารโครงการรถไฟฟ้าสายสีเขียว โดยให้มีผลย้อนหลังไปตั้งแต่วันที่ออกประกาศดังกล่าว”
คำพิพากษาศาลปกครองกลาง ระบุ
คดีนี้นายสิริพงศ์ อังคสกุลเกียรติ ผู้สมัคร ส.ส.ศรีสะเกษ พรรคภูมิใจไทย กับพวกรวม 6 คน ได้ยื่นฟ้องกรุงเทพมหานคร (กทม.) และผู้ว่าฯ กทม. โดยขอให้ศาลมีคำพิพากษาเพิกถอนหรือยกเลิกประกาศเรื่องการกำหนดค่าโดยสารโครงการรถไฟฟ้าสายสีเขียวลงวันที่ 15 ม.ค.64 และสั่งระงับการปรับขึ้นค่าโดยสารไว้เป็นการชั่วคราวจนกว่าศาลจะมีคำสั่งหรือคำพิพากษาถึงที่สุด
ศาลปกครองกลางเห็นว่า แม้รัฐธรรมนูญจะบัญญัติรับรองให้ กทม.ซึ่งเป็นราชการบริหารส่วนท้องถิ่นที่มีความเป็นอิสระ แต่การใช้อำนาจบริหารราชการและการจัดทำบริการสาธารณะของ กทม.โดยผู้ว่าฯ กทม.ต้องเป็นไปตามที่กฎหมายบัญญัติภายใต้การกำกับดูแลของรัฐบาลตามหลักการกระจายอำนาจทางปกครองของรัฐ แม้การจัดเก็บค่าโดยสารโครงการรถไฟฟ้าสายสีเขียวจะอยู่ในความรับผิดชอบของ กทม. และเป็นอำนาจของผู้ว่าฯ กทม.ที่สามารถกระทำได้ แต่โครงการดังกล่าวไม่ได้จำกัดอยู่เฉพาะพื้นที่ กทม.เท่านั้น ยังครอบคลุมไปถึงพื้นที่เขตปริมณฑลและเป็นโครงการที่รัฐบาลกำหนดไว้ในแผนแม่บทระบบขนส่งมวลชนทางรางใน กทม.และปริมณฑล
นอกจากนี้ยังมีโครงการระบบขนส่งมวลชนโดยรถไฟฟ้าสายอื่นๆ อันเป็นบริการสาธารณะที่รัฐจัดทำขึ้น โดยมีวัตถุประสงค์บรรเทาปัญหาการจราจร และเพิ่มทางเลือกในการเดินทางที่มีประสิทธิภาพให้กับประชาชน ลดปริมาณการใช้รถยนต์ส่วนบุคคลซึ่งเป็นสาเหตุสำคัญให้การจราจรติดขัด ดังนั้นเพื่อให้การจัดทำบริการสาธารณะด้านขนส่งมวลชนของรัฐเกิดการบูรณาการทางด้านการเดินรถให้เป็นไปอย่างต่อเนื่อง อำนวยความสะดวกให้กับประชาชนผู้ใช้บริการในการเดินทาง การกำหนดอัตราค่าโดยสารที่เหมาะสมเป็นธรรมของโครงการรถไฟฟ้าสายต่างๆ การจัดเก็บค่าโดยสารโครงการรถไฟฟ้าสายสีเขียวของ กทม.จึงต้องพิจารณาโดยภาพรวมให้สอดคล้องกับนโยบายของรัฐบาลทั้งนี้เพื่อประโยชน์สูงสุดแก่ประชาชนผู้ใช้บริการ
ทั้งนี้ กทม.มีหน้าที่ต้องปฏิบัติตามมติ ครม.เมื่อวันที่ 26 พ.ย.61 คือบูรณาการร่วมกับกระทรวงคมนาคมในการกำหนดอัตราค่าโดยสารที่เหมาะสมเป็นธรรม ไม่ก่อให้เกิดภาระต่อประชาชนผู้ใช้บริการมากเกินไป ทั้งต้องดำเนินการให้สอดคล้องกับนโยบายของรัฐบาลตามความเห็นกระทรวงการคลัง รวมทั้งพิจารณากำหนดค่าโดยสารให้เหมาะสมสอดคล้องกับค่าครองชีพของผู้ใช้บริการด้วย
เมื่อข้อเท็จจริงไม่ปรากฏว่าก่อนการดำเนินการออกประกาศเพื่อกำหนดอัตราค่าโดยสารโครงการรถไฟฟ้าสายสีเขียว กทม. โดยผู้ว่าฯ กทม. ดำเนินการร่วมกับกระทรวงการคลังในการพิจารณากำหนดอัตราค่าโดยสารตามที่ ครม.มอบหมาย กรณีจึงเป็นการกระทำโดยไม่ถูกต้องตามขั้นตอนหรือวิธีการอันเป็นสาระสำคัญที่กำหนดไว้ อันเป็นการกระทำที่ไม่ชอบด้วยกฎหมาย
ส่วนที่ กทม.อ้างว่าปฏิบัติตามมติ ครม.เมื่อวันที่ 26 พ.ย.61 แล้ว เห็นว่าข้อเท็จจริงตามคำให้การของ กทม.และผู้ว่าฯ กทม.เป็นกรณีการตั้งคณะกรรมการกำกับดูแลและติดตามผลการดำเนินงานที่มี รมช.คมนาคม เป็นประธานคณะกรรมการ เพื่อทำการศึกษาบูรณาการเกี่ยวกับการรับโอนและบริหารจัดการโครงการรถไฟฟ้าสายสีเขียว ไม่ปรากฏว่า กทม.ได้ร่วมกับกระทรวงคมนาคมพิจารณากำหนดอัตราค่าโดยสารตามที่ ครม.มอบหมายแต่อย่างใด ข้ออ้างดังกล่าวจึงฟังไม่ขึ้น
โดยระหว่างการพิจารณาคดี กทม.ได้ออกประกาศลงวันที่ 8 ก.พ.64 ให้เลื่อนการจัดเก็บค่าโดยสารโครงการรถไฟฟ้าสายสีเขียวออกไปก่อน และปัจจุบันยังไม่มีการจัดเก็บค่าโดยสารตามประกาศพิพาทก็ตาม แต่ประกาศกรุงเทพมหานครฉบับลงวันที่ 8 ก.พ.64 ไม่ได้มีผลเป็นการยกเลิกหรือเพิกถอนประกาศพิพาท ซึ่งเป็นเหตุแห่งความเดือดร้อนหรือเสียหาย อันเป็นเหตุแห่งคดีพิพาทจึงยังไม่หมดสิ้นไปการแก้ไขหรือบรรเทาความเดือดร้อนเสียหายจึงต้องมีคำบังคับของศาล
ส่วนที่ กทม.อ้างว่าการบริหารจัดการโครงการรถไฟฟ้าสายสีเขียวนั้น กทม.มีภาระหนี้สินจำนวนมากที่ค้างจ่ายกับเอกชน อีกทั้งไม่ได้รับการจัดสรรงบประมาณจากรัฐบาล หากไม่ได้รับการแก้ไขย่อมส่งผลกระทบต่อการจัดบริการสาธารณะด้านขนส่งมวลชนโครงการรถไฟฟ้าสายสีเขียวต้องหยุดชะงัก จึงจำเป็นต้องออกประกาศพิพาทเพื่อเรียกเก็บค่าโดยสารจากผู้ใช้บริการนั้นเห็นว่า แม้ กทม.จะมีอำนาจตามกฎหมายในการเรียกเก็บค่าบริการสำหรับการให้บริการระบบขนส่งมวลชนสาธารณะในส่วนของที่ กทม.รับผิดชอบได้ แต่เมื่อ ครม.มีมติมอบหมายให้ กทม.ต้องบูรณาการร่วมกับกระทรวงคมนาคม เพื่อกำหนดอัตราค่าโดยสารที่เหมาะสมเป็นธรรม ไม่ก่อให้เกิดภาระต่อประชาชนผู้ใช้บริการเกินสมควรเร่งรัดและพิจารณาการใช้ระบบตั๋วร่วมให้สอดคล้องกับนโยบายรัฐบาล
ดังนั้น การดำเนินโครงการรถไฟสีเขียวเฉพาะในส่วนนี้จึงต้องปฏิบัติให้เป็นไปตามมติ ครม. ภาระหนี้สินจำนวนมากที่อ้างนั้นอาจเกิดจากหลายปัจจัยที่เกี่ยวเนื่องหรือเชื่อมโยงกัน เช่น การบริหารสัญญาสัมปทานโครงการรถไฟฟ้าสายสีเขียวส่วนหลัก การเจรจาต่ออายุสัมปทาน การแบ่งปันผลประโยชน์ระหว่างรัฐกับเอกชนผู้รับสัมปทาน การจัดทำร่างสัญญาสัมปทานฉบับแก้ไข ต่างเป็นเรื่องที่รัฐบาลและกทม.ต้องพิจารณาแก้ไขร่วมกันต่อไป โดยปฏิบัติให้เป็นไปตามกฎหมายว่าด้วยการร่วมลงทุนระหว่างรัฐและเอกชนและกฎหมายอื่นที่เกี่ยวข้อง เพื่อประโยชน์สูงสุดของรัฐและประชาชนโดยคำนึงถึงหลักความได้สัดส่วนระหว่างประโยชน์สาธารณะหรือประโยชน์ส่วนรวมที่จะได้รับกับภาระหรือผลกระทบที่จะเกิดกับเอกชนประกอบกัน
โดย สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (13 เม.ย. 66)
Tags: กทม., รถไฟฟ้าสายสีเขียว, ศาลปกครอง