ศาลปกครองกลางมีคำพิพากษาคดีการประกวดราคาจ้างก่อสร้างโครงการพัฒนาระบบรถไฟความเร็วสูงเพื่อเชื่อมโยงภูมิภาค งานสัญญาที่ 3-1 งานโยธา ช่วงแก่งคอย-กลางดง และช่วงปางอโศก-บันไดม้า โดยเห็นว่า บริษัท บีพีเอ็นพี จำกัดซึ่งเป็นผู้เสนอราคาต่ำสุด ไม่มีคุณสมบัติเข้าร่วมประมูลโครงการดังกล่าว เนื่องจากไม่สามารถนำผลงานก่อสร้างของผู้ถือหุ้นมาใช้แสดงเป็นผลงานก่อสร้างได้ และคำสั่งคณะกรรมการอุทธรณ์กรมบัญชีกลางที่ยกเว้นหลักเกณฑ์ไม่ชอบด้วยกฎหมาย
คดีนี้ ทางบริษัท ไชน่า เรลเวย์ นัมเบอร์เทน เอนจิเนียริ่ง กรุ๊ป จำกัด (ผู้ฟ้องคดี) ฟ้องว่า การรถไฟแห่งประเทศไทย (ผู้ถูกกฟ้องคดีที่ 1) และ คณะกรรมการวินิจฉัยปัญหาการจัดซื้อจัดจ้างและการบริหารงานภาครัฐกรมบัญชีกลางผู้ถูกฟ้องคดีที่ 2 คณะกรรมการพิจารณาอุทธรณ์และข้อร้องเรียนกรมบัญชีกลางผู้ถูกฟ้องคดีที่ 3 เพื่อขอให้ศาลมีคำพิพากษา โดยมีผู้ยื่นข้อเสนอในการประกวดราคาดังกล่าวทั้งสิ้น 6 ราย รวมทั้งบริษัท บีพีเอ็นพี จำกัด (ผู้ร้องสอด) และกิจการร่วมค้า ITD-CREC No.10 JV ซึ่งมีผู้ฟ้องคดีเป็นสมาชิกร่วมกับ บมจ.อิตาเลียนไทย ดีเวล๊อปเมนต์ (ITD) ทั้งนี้ ผู้ร้องสอดเป็นผู้เสนอราคาต่ำสุด ส่วนผู้ฟ้องคดีเสนอราคาต่ำเป็นอันดับสอง แต่ผู้ร้องสอดมีคุณสมบัติและผลงานไม่ผ่านเกณฑ์ที่กำหนด เนื่องจากผู้ร้องสอดได้จดทะเบียนเป็นนิติบุคคลใหม่
โดยระบุว่า เมื่อทางบริษัท บีพีเอ็นพี จำกัด ได้จดทะเบียนเป็นนิติบุคคลประเภทบริษัทจำกัด จึงมีสถานะความเป็นนิติบุคคลแยกต่างหากจากผู้ถือหุ้น ในนาม “บริษัท บีพีเอ็นพี จำกัด” จึงต้องมีผลงานก่อสร้างในนามบริษัทดังกล่าว โดยไม่สามารถนำผลงานก่อสร้างของผู้ถือหุ้นมาใช้แสดงเป็นผลงานก่อสร้างได้ จึงไม่มีคุณสมบัติในการยื่นข้อเสนอราคาในนามกิจการร่วมค้าที่จดทะเบียนเป็นนิติบุคคลใหม่ จึงให้ผู้ถูกฟ้องคดีที่ 1 กลับไปดำเนินการในขั้นตอนการพิจารณาผลการเสนอราคาของผู้ยื่นข้อเสนอให้ถูกต้องต่อไป
ส่วนคำสั่งคณะกรรมการพิจารณาอุทธรณ์และข้อร้องเรียน กรมบัญชีกลาง ที่ยกเว้นการปฏิบัติตามหลักเกณฑ์บางประการให้กับบริษัท บีพีเอ็นพี จำกัดนั้น ศาลปกครองกลาง เห็นว่าตามพ.ร.บ.การจัดซื้อจัดจ้างและการบริหารพัสดุภาครัฐ พ.ศ. 2560 มาตรา 29 วรรคหนึ่ง (4) บัญญัติให้ผู้ถูกฟ้องคดีที่ 2 (คณะกรรมการวินิจฉัยปัญหาการจัดซื้อจัดจ้างและการบริหารพัสดุภาครัฐ กรมบัญชีกลาง) มีอำนาจยกเว้นหรือผ่อนผัน เฉพาะการไม่ปฏิบัติตามกฎกระทรวงหรือระเบียบที่ออกตามความในพ.ร.บ.นี้ แต่มิได้บัญญัติให้อำนาจผู้ถูกฟ้องคดีที่ 2 ยกเว้นหรือผ่อนผันให้ผู้ยื่นข้อเสนอรายใดเป็นการเฉพาะ ดังนั้นการที่ผู้ถูกฟ้องคดีที่ 2 ยกเว้นการปฏิบัติ ให้แก่ผู้ร้องสอดเป็นการเฉพาะราย จึงไม่ชอบด้วยกฎหมาย
นอกจากนี้ ได้พิพากษาเพิกถอนคำสั่งผู้ถูกฟ้องคดีที่ 3 ที่อนุมัติยกเว้นให้ผู้ร้องสอดเป็นกิจการร่วมค้าที่จดทะเบียนเป็นนิติบุคคลใหม่และสามารถนำผลงานของผู้ร่วมค้าที่จดทะเบียนเป็นนิติบุคคลมาใช้แสดงเป็นผลงานในการยื่นประกวดราคา เป็นคำสั่งที่ไม่ชอบด้วยกฎหมาย โดยให้มีผลย้อนหลังถึงวันที่ผู้ถูกฟ้องคดีที่ 3 มีคำสั่งดังกล่าว คำขออื่นนอกจากนี้ให้ยก
ทั้งนี้ ให้คำสั่งศาลที่มีคำสั่งให้ทุเลาการบังคับตามคำสั่งของผู้ถูกฟ้องคดีที่ 1 ตามหนังสือ ด่วนที่สุด ลงวันที่ 21 ต.ค. 63 มีผลใช้บังคับต่อไปจนกว่าจะพ้นระยะเวลาการอุทธรณ์ ในกรณีที่ไม่มีการอุทธรณ์ หรือจนกว่าศาลมีคำสั่งถึงที่สุดไม่รับอุทธรณ์ ในกรณีที่มีการอุทธรณ์ หากศาลมีคำสั่งรับอุทธรณ์ ให้คำสั่งดังกล่าวมีผลใช้บังคับต่อไปจนกว่าศาลปกครองสูงสุดจะมีคำสั่งเป็นอย่างอื่น
โดย สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (24 ก.ย. 64)
Tags: การรถไฟแห่งประเทศไทย, บีพีเอ็นพี, รถไฟความเร็วสูง, ศาลปกครอง, ไชน่า เรลเวย์ นัมเบอร์เทน เอนจิเนียริ่ง กรุ๊ป, ไฮสปีด