นายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรีและ รมว.มหาดไทย ในฐานะประธานกรรมการ ผู้อำนวยการศูนย์อำนวยการความปลอดภัยทางถนน (ศปถ.) เปิดเผยว่า ข้อมูลอุบัติเหตุทางถนนช่วงเทศกาลสงกรานต์ พ.ศ.2568 วันที่ 17 เม.ย.68 ซึ่งเป็นวันสุดท้ายของการรณรงค์ “ขับขี่ปลอดภัย เมืองไทยไร้อุบัติเหตุ” มียอดการเกิดอุบัติเหตุ 147 ครั้ง ผู้บาดเจ็บ 145 คน ผู้เสียชีวิต 22 ราย
สาเหตุที่ทำให้เกิดอุบัติเหตุสูงสุด ได้แก่ ขับรถเร็ว รองลงมา คือ ตัดหน้ากระชั้นชิด และทัศนวิสัยไม่ดี 15.65% ยานพาหนะที่เกิดอุบัติเหตุสูงสุด ได้แก่ รถจักรยานยนต์ 84.11% ส่วนใหญ่เกิดบนเส้นทางตรง ช่วงเวลาที่เกิดอุบัติเหตุสูงสุด ได้แก่ เวลา 18.01-21.00 น. โดยจังหวัดที่เกิดอุบัติเหตุสูงสุด ได้แก่ พัทลุง (11 ครั้ง) จังหวัดที่มีผู้บาดเจ็บสูงสุด ได้แก่ พัทลุง (11 คน) จังหวัดที่มีผู้เสียชีวิตสูงสุด ได้แก่ นครศรีธรรมราช (3 ราย)
สรุปสถิติอุบัติเหตุทางถนนสะสมในช่วง 7 วันของการรณรงค์ฯ (11-17 เม.ย.68) เกิดอุบัติเหตุ 1,538 ครั้ง ผู้บาดเจ็บ 1,495 คน ผู้เสียชีวิต 253 ราย จังหวัดที่ไม่มีผู้เสียชีวิต (ตายเป็นศูนย์) มี 6 จังหวัด ได้แก่ นครนายก พิจิตร ภูเก็ต ระนอง สตูล และสิงห์บุรี จังหวัดที่เกิดอุบัติเหตุสะสมสูงสุด ได้แก่ พัทลุง (63 ครั้ง) จังหวัดที่มีผู้บาดเจ็บสะสมสูงสุด ได้แก่ พัทลุง (61 คน) จังหวัดที่มีผู้เสียชีวิตสะสมสูงสุด ได้แก่ กรุงเทพมหานคร (19 ราย)
“จากสถิติการเกิดอุบัติเหตุทางถนน ในช่วงควบคุมเข้มข้น 7 วันของเทศกาลสงกรานต์ พ.ศ.2568 พบว่าจำนวนครั้งการเกิดอุบัติเหตุ ผู้บาดเจ็บ และผู้เสียชีวิตลดลงอย่างมีนัยสำคัญ ซึ่งเป็นผลจากการบูรณาการการดำเนินงานของทุกภาคส่วนในทุกระดับ” นายอนุทิน กล่าว
นายทรงศักดิ์ ทองศรี รมช.มหาดไทย ในฐานะประธานการประชุมคณะอนุกรรมการเฉพาะกิจ ศปถ.ตลอดทั้งปี เพื่อรณรงค์ป้องกันและลดอุบัติเหตุทางถนนช่วงเทศกาลสงกรานต์ พ.ศ.2568 กล่าวว่า จากสถิติการเกิดอุบัติเหตุทางถนนในช่วงสงกรานต์ พ.ศ.2568 พบสาเหตุที่ทำให้เกิดอุบัติเหตุทางถนนสูงที่สุด คือ การขับรถเร็ว รองลงมา เป็นการดื่มแล้วขับ โดยมีรถจักรยานยนต์เป็นพาหนะที่เกิดอุบัติเหตุสูงที่สุด
ทั้งนี้ ศปถ.ขอให้ทุกภาคส่วนถอดบทเรียนและหาแนวทางเพื่อป้องกันและแก้ไขปัญหาอุบัติเหตุที่เหมาะสม แก้ปัญหาได้อย่างตรงจุด ลดการเกิดอุบัติเหตุในรถจักรยานยนต์ ลดพฤติกรรมการขับรถเร็ว และการดื่มแล้วขับให้ได้ และขอให้ทุกหน่วยงานที่เกี่ยวข้อ งยังคงดำเนินการบังคับใช้กฎหมายอย่างจริงจังและต่อเนื่อง รณรงค์ประชาสัมพันธ์สร้างการรับรู้ ความเข้าใจ และความตระหนักในการใช้รถใช้ถนนอย่างปลอดภัย และให้ความรู้หลักการใช้พาหนะอย่างปลอดภัย อาทิ การตรวจสอบความพร้อมของยานพาหนะ การขับขี่ยานพาหนะอย่างถูกต้อง และการจัดทำประกันภัย เพื่อปรับเปลี่ยนทัศนคติของผู้ขับขี่ให้มีจิตสำนึกเรื่องความปลอดภัยทางถนน ซึ่งจะนำไปสู่การสร้างความปลอดภัยทางถนนให้เกิดขึ้นในสังคมไทยอย่างยั่งยืน และการลดจำนวนผู้เสียชีวิตจากอุบัติเหตุทางถนนให้เหลือเพียง 12 คนต่อแสนประชากรได้จริง
โดย สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (18 เม.ย. 68)
Tags: 7 วันอันตราย, สงกรานต์, อนุทิน ชาญวีรกูล, อุบัติเหตุ