- ศบค.สรุปยอดผู้ติดเชื้อโควิด-19 ในไทย วันนี้ (12.30 น.)
- ผู้ติดเชื้อสะสม 177,467 คน (+2,671)
- เป็นผู้ป่วยรายใหม่จากระบบเฝ้าระวังและระบบบริการ = 1,095 ราย
- เป็นผู้ติดเชื้อจากการตรวจเชิงรุกในชุมชน = 889 ราย
- เป็นผู้ติดเชื้อจากเรือนจำ/ที่ต้องขัง = 604 ราย
- เป็นผู้ติดเชื้อจากต่างประเทศอยู่ในสถานกักกันที่รัฐจัดให้ (State Quarantine) = 83 ราย
- รักษาหายแล้ว 126,517 คน (+2,242)
- รักษาอยู่ในโรงพยาบาล 49,714 คน (+224)
- เสียชีวิตสะสม 1,236 คน (+23)
ศูนย์บริหารสถานการณ์โควิด-19 (ศบค.) รายงานสถานการณ์การแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 ในประเทศวันนี้ว่า พบผู้ติดเชื้อรายใหม่ 2,671 ราย ประกอบด้วย
- ผู้ติดเชื้อในประเทศจากระบบเฝ้าระวังและระบบบริการ 1,095 ราย
- จากการค้นหาผู้ติดเชื้อเชิงรุกในชุมชน 889 ราย และจากเรือนจำ/ที่ต้องขัง 604 ราย
- ผู้ที่เดินทางมาจากต่างประเทศ 83 ราย โดยในจำนวนนี้ยังพบผู้ลักลอบเข้าเมืองแบบผิดกฎหมายจากกัมพูชา
- มีผู้เสียชีวิตเพิ่ม 23 ราย เป็นชาย 12 ราย หญิง 11 ราย อายุระหว่าง 32-79 ปี ส่วนใหญ่มีโรคประจำตัวเป็นปัจจัยเสี่ยงต่อความรุนแรงของโรค และผู้ที่ไม่มีโรคประจำตัวเพียง 1 ราย
สำหรับจำนวนผู้ป่วยยืนยันสะสมในประเทศตั้งแต่ต้นปี 63 จนถึงล่าสุดอยู่ที่ 177,467 ราย โดยมีผู้ป่วยรักษาหายแล้ว 126,517 ราย เพิ่มขึ้น 2,242 ราย ยอดเสียชีวิตสะสมเพิ่มเป็น 1,236 ราย
นพ.ทวีศิลป์ วิษณุโยธิน โฆษกศูนย์บริหารสถานการณ์โควิด-19 (ศบค.) เปิดเผยว่า จังหวัดกรุงเทพฯ ยังคงมีจำนวนผู้ติดเชื้อรายวันเพิ่มขึ้นสูงสุด โดยวันนี้มีผู้ติดเชื้อโควิดเพิ่มอีก 675 ราย รองลงมา สมุทรสาคร 288 ราย, เพชรบุรี 196 ราย, นนทบุรี 163 ราย และสมุทรปราการ 124 ราย ซึ่งทั้ง 5 จังหวัดนี้ยังพบยอดผู้ติดเชื้อเพิ่มขึ้นมากกว่าระดับ 100 ราย/วัน
โดยวันนี้ในกรุงเทพฯ พบคลัสเตอร์การระบาดใหม่เพิ่มใน 4 เขต รวม 5 คลัสเตอร์ ประกอบด้วย เขตดุสิต ตลาดเทเวศร์, เขตราชเทวี ชุมชนเพชรบุรี ซอย 10/ซอยหลัง รร.กิ่งเพชร, เขตลาดพร้าว แคมป์ก่อสร้าง บริษัทซิโน-ไทย, เขตวัฒนา ชุมชนมาชิม และชุมชนเฉลิมอนุสรณ์ ซึ่งปัจจุบันกรุงเทพฯ ยังมีคลัสเตอร์ที่ต้องเฝ้าระวังรวมทั้งหมด 63 แห่ง
นพ.ทวีศิลป์ ยังกล่าวด้วยว่า กรุงเทพมหานคร (กทม.) ได้รายงานผลการตรวจสอบแคมป์คนงานก่อสร้างในพื้นที่กรุงเทพฯ รวมทั้งหมด 409 แห่ง ล่าสุดตรวจไปแล้ว 367 แห่ง พบว่าผ่านเกณฑ์มาตรฐาน 270 แห่ง และไม่ผ่านเกณฑ์ 97 แห่ง โดยได้มีการเข้าไปประเมินทั้งในส่วนของบริษัทที่เป็นผู้ว่าจ้าง และในส่วนของคนงาน ซึ่งในส่วนของบริษัทที่เป็นผู้ว่าจ้างนั้น พบว่ายังมีสิ่งที่ต้องดำเนินการปรับปรุงเพิ่มเติม คือ การวางแผนเตรียมพร้อมเมื่อพบผู้ติดเชื้อในแคมป์คนงาน, การสื่อสารข้อมูลและให้ความรู้กับแรงงาน ซึ่งมีทั้งแรงงานไทยและแรงงานต่างชาติ, การจัดที่นั่งรับประทานอาหารในแคมป์คนงาน ขณะที่ในส่วนของคนงานนั้น มีสิ่งที่ต้องปรับปรุง เช่น การอาบน้ำร่วมกัน, การจัดกิจกรรมหลังเลิกงาน เช่น กินอาหารร่วมกัน เป็นต้น ทั้งนี้ การประเมินผลดังกล่าวเพื่อนำไปสู่การปรับปรุงแก้ไขให้ถูกต้องและได้มาตรฐานความปลอดภัยในการควบคุมและป้องกันการแพร่ระบาดต่อไป
โฆษก ศบค. กล่าวด้วยว่า ศูนย์ปฏิบัติการแก้ไขสถานการณ์ฉุกเฉินด้านความมั่นคง (ศปม.) ยังได้กล่าวถึงการนำแรงงานสัญชาติไทยกลับเข้ามาในราชอาณาจักรว่า ข้อมูลตั้งแต่วันที่ 18 เม.ย.63 – 4 มิ.ย.64 มีคนไทยเดินทางกลับเข้าประเทศผ่านจุดผ่านแดนทางบก รวมสะสมแล้ว 43,006 คน ในจำนวนนี้เดินทางมาจากมาเลเซีย สูงสุด 30,941 ราย ลาว 6,302 ราย กัมพูชา 3,547 ราย และเมียนมา 2,216 ราย
พร้อมกันนี้ ศปม.ยังได้วางแนวทางปฏิบัติสำหรับคนไทยที่ต้องการเข้าประเทศผ่านจุดผ่านแดนในพื้นที่ชายแดน โดยขอให้ไปลงทะเบียนออนไลน์ผ่านระบบของกระทรวงการต่างประเทศ จากนั้นรอรับหนังสือรับรองการเดินทางเข้าประเทศที่ออกโดยสถานเอกอัครราชทูตไทย หรือสถานกุงสุลใหญ่ ทั้งนี้ ต้องยอมรับการกักตัวในสถานที่ที่รัฐกำหนดเป็นเวลา 14 วันเมื่อเดินทางมาถึงไทย และต้องเดินทางตามวัน และจุดผ่านแดนที่ได้กำหนดไว้เท่านั้น
ส่วนสถานการณ์การฉีดวัคซีนโควิด-19 ของประเทศไทย ล่าสุดจนถึงวันที่ 6 มิ.ย.64 จัดสรรวัคซีนทั้งหมด 4.19 ล้านโดส แบ่งเป็น ผู้ได้รับวัคซีนเข็มแรกแล้ว 2.84 ล้านราย ส่วนผู้ได้รับวัคซีนครบทั้ง 2 เข็มแล้ว 1.34 ล้านราย
ส่วนสถานการณ์การระบาดของไวรัสโควิด-19 ทั่วโลก ล่าสุดวันนี้ มียอดผู้ติดเชื้อสะสมรวมแล้ว 173,717,565 ราย เสียชีวิต3,736,092 ราย โดยประเทศที่มียอดผู้ติดเชื้อสูงสุด อันดับแรก สหรัฐอเมริกา 34,204,374 ราย อันดับสอง อินเดีย 28,808,372 ราย อันดับสาม บราซิล 16,907,425 ราย อันดับสี่ ฝรั่งเศส 5,707,683 ราย และอันดับห้า ตุรกี 5,282,594 ราย โดยประเทศไทยอยู่ในอันดับที่ 80
โดย สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (06 มิ.ย. 64)
Tags: COVID-19, ทวีศิลป์ วิษณุโยธิน, ศบค., ศูนย์บริหารสถานการณ์โควิด-19, โควิด-19