พญ. สุมนี วัชรสินธุ์ ผู้อำนวยการสำนักสื่อสารความเสี่ยงและพัฒนาพฤติกรรมสุขภาพ กรมควบคุมโรค กระทรวงสาธารณสุข เปิดเผยว่า สถานการณ์การระบาดของไวรัสโควิด-19 ในประเทศวันนี้ พบว่าจำนวนผู้ติดเชื้อโควิดที่เดินทางมาจากต่างประเทศมีจำนวนลดลงอย่างต่อเนื่อง เมื่อเทียบกับการติดเชื้อภายในประเทศ โดยล่าสุดในเดือนมี.ค. 65 มีผู้ติดเชื้อโควิดที่เดินทางมาจากต่างประเทศ คิดเป็นสัดส่วนเพียง 0.59% เมื่อเทียบกับจำนวนผู้ติดเชื้อภายในประเทศ ขณะที่เดือน ก.พ. มีสัดส่วน 2.25% และเดือนม.ค. 65 มีสัดส่วน 3.73%
สำหรับผู้ติดเชื้อภายในประเทศที่ยังอยู่ในระบบการรักษา มีทั้งสิ้น 246,770 ราย ในจำนวนนี้รักษาตัวอยู่ในโรงพยาบาล 62,747 ราย อยู่ใน รพ.สนาม และสถานกักตัวอื่นๆ อีก 184,023 ราย โดยผู้ป่วยที่มีอาการหนัก ปอดอักเสบ มีจำนวนทั้งสิ้น 1,808 ราย ในจำนวนนี้ต้องใส่เครื่องช่วยหายใจ 713 ราย อัตราการครองเตียงของผู้ป่วยระดับ 2-3 อยู่ที่ 29.5% โดย 3 จังหวัดแรกที่มีผู้ป่วยปอดอักเสบรักษาตัวอยู่ใน รพ.มากที่สุด คือ กรุงเทพฯ 200 ราย รองลงมา คือ นครราชสีมา 110 ราย และ สมุทรปราการ 81 ราย
“แนวโน้มของผู้ติดเชื้อรายวัน ทั้งผู้ป่วยปอดอักเสบ ผู้ป่วยใส่ท่อช่วยหายใจยังมีทิศทางเพิ่มขึ้น ในช่วงนี้ประเทศไทยยังเป็นช่วงขาขึ้น เพราะฉะนั้นมาตรการต่างๆ ยังมีความสำคัญ และต้องเน้นย้ำให้ประชาชนปฏิบัติตามอย่างเคร่งครัด ที่สำคัญคือการฉีดวัคซีน เพราะจะลดอาการหนัก ไม่ต้องเข้าแอดมิทใน รพ.” พญ.สุมนี กล่าว
สำหรับอัตราการครองเตียงในจังหวัดที่พบว่าสูงเกิน 50% มี 2 จังหวัด คือ สุราษฎร์ธานี อัตราการครองเตียง 50.9% และสงขลา อัตราการครองเตียง 65.7% ซึ่งทำให้สถานพยาบาลในจังหวัดดังกล่าวได้เตรียมจัดการและรองรับผู้ป่วยหนักให้มีความพร้อมมากขึ้น เพราะการระบาดในช่วงนี้ยังถือว่าเป็นช่วงขาขึ้น ขณะที่เดือนเม.ย. จะเป็นช่วงที่มีการรวมกลุ่มกันทำกิจกรรมในเทศกาลสงกรานต์ด้วย
ส่วนอัตราการครองเตียงรวมของผู้ป่วยโควิดระดับปานกลาง-หนักทั่วประเทศ จากเดิมจะอยู่ในระดับ 24-25% หรือคิดเป็น 1 ใน 4 ของจำนวนเตียงผู้ป่วยทั่วประเทศ แต่ล่าสุดพบว่าอัตราการครองเตียงของผู้ป่วยโควิดระดับปานกลาง-หนัก เพิ่มขึ้นเป็นเกือบ 30% หรือคิดเป็น 1 ใน 3 ของจำนวนเตียงผู้ป่วยทั่วประเทศ ดังนั้นยังต้องย้ำให้ปฏิบัติตามมาตรการด้านสุขอนามัยส่วนบุคคลอย่างเคร่งครัด ทั้งการเว้นระยะห่าง หมั่นล้างมือ และสวมหน้ากากอนามัยตลอดเวลา โดยเฉพาะผู้ที่อาศัยอยู่ร่วมกับผู้สูงอายุ หรือผู้ที่มีโรคประจำตัว
พญ.สุมนี กล่าวด้วยว่า การจะให้โรคโควิด-19 เข้าสู่การเป็นโรคประจำถิ่นได้นั้น อัตราการเสียชีวิตต่อวันจะต้องไม่เกิน 80 รายต่อวัน แต่ปัจจุบันอัตราการเสียชีวิตในประเทศยังสูงเกินกว่า 80 รายต่อวันต่อเนื่องกันมา 2 วันแล้ว
อย่างไรก็ดี ในช่วงนี้ใกล้จะเข้าสู่เทศกาลสงกรานต์และจะมีวันหยุดยาว ซึ่งกระทรวงสาธารณสุข ได้มีนโยบายจัดสัปดาห์รณรงค์ฉีดวัคซีนเข็มกระตุ้นให้ผู้สูงอายุ ซึ่งจังหวัดที่มีกลุ่มผู้สูงอายุและกลุ่มผู้ป่วยโรคเรื้อรัง ได้รับวัคซีนโควิดเข็มกระตุ้นเกินกว่า 70% แล้ว มี 7 จังหวัด คือ นนทบุรี น่าน สมุทรปราการ ลำพูน มหาสารคาม ชัยนาท ภูเก็ต ขณะที่มีอีก 10 จังหวัด ที่ผู้สูงอายุและผู้ป่วยโรคเรื้อรัง ได้รับวัคซีนโควิดเข็มกระตุ้นเกิน 60% และเข้าใกล้เป้าหมายที่ 70% แล้ว ได้แก่ เชียงใหม่ เชียงราย ลำปาง อ่างทอง พระนครศรีอยุธยา ชลบุรี สมุทรสงคราม ระยอง ลพบุรี และกรุงเทพฯ
ส่วนจังหวัดที่ในภาพรวมประชาชนทุกกลุ่มได้รับวัคซีนเข็มกระตุ้นเกิน 70% ตามเป้าแล้ว ได้แก่ นนทบุรี สมุทรปราการ น่าน พระนครศรีอยุธยา ลำพูน และภูเก็ต และมีอีก 6 จังหวัดที่ประชาชนทุกกลุ่มได้รับวัคซีนเข็มกระตุ้นเกิน 60% แล้ว ได้แก่ อ่างทอง ระยอง ชัยนาท มหาสารคาม สระบุรี และกรุงเทพฯ
“สรุปสถานการณ์โควิดในไทยวันนี้ จำนวนผู้ติดเชื้อรายใหม่ ผู้ป่วยปอดอักเสบ และผู้ใส่ท่อช่วยหายใจยังมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นอย่างช้าๆ สำหรับจำนวนผู้เสียชีวิตยังเป็นไปตามคาดการณ์ ภาพรวมของอัตราการครองเตียงของผู้ป่วยอาการปานกลาง-หนัก อยู่ที่ 29.5% ซึ่งเพิ่มขึ้น ต้องขอความร่วมมือให้เจ้าหน้าที่สาธารณสุขในพื้นที่ อปท. ต้องรณรงค์ให้ผู้สูงอายุ และกลุ่มเสี่ยงมาฉีดวัคซีนเพิ่มขึ้น เพื่อให้ช่วงสงกรานต์ที่จะถึงนี้ เป็นการพบปะสังสรรค์ได้อย่างปลอดภัย ไม่เป็นคลัสเตอร์ใหม่เพิ่มขึ้น” พญ.สุมนี ระบุ
โดย สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (31 มี.ค. 65)
Tags: COVID-19, lifestyle, กรมควบคุมโรค, กระทรวงสาธารณสุข, คลัสเตอร์, วัคซีนเข็มกระตุ้น, ศบค., สงกรานต์, สุมนี วัชรสินธุ์, โควิด-19