พญ.อภิสมัย ศรีรังสรรค์ ผู้ช่วยโฆษกศูนย์บริหารสถานการณ์โควิด-19 (ศบค.) เปิดเผยว่า ศบค.ขยายปิดกิจการ หรือปิดสถานที่แบบมีเงื่อนไขเพิ่มเติมอีก 10 กิจการตามข้อกำหนดออกตามความในมาตรา 9 แห่งพระราชกำหนดการบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน พ.ศ.2548 (ฉบับที่ 28) โดย ศปก.ศบค.ได้พิจารณาร่วมกันแล้วมีความเห็นว่า เพื่อให้เป็นไปตามเจตนารมย์ของข้อบังคับฉบับที่ 28 ที่มุ่งเน้นให้ลดการเดินทางและการออกนอกเคหะสถานของประชาชน จึงมีข้อเสนอแนะให้ ผู้ว่ากทม.หรือผู้ว่าราชการจังหวัด โดยเฉพาะพื้นที่สีแดงเข้ม 13 จังหวัดอาศัยอำนาจตามกฏหมายว่าด้วยโรคติดต่อ
พิจารณาสั่งปิดสถานที่กิจการที่มีความเสี่ยงต่อการแพร่ระบาด ดังนี้
1.สนามกีฬาทุกประเภททั้งประเภทในร่ม เช่น แบดมินตัน สนามฟุตซอล บาสเกตบอลวอลเลย์บอล และประเภทกลางแจ้ง เช่น สนามกอล์ฟ สนามซ้อมกอล์ฟ สนามฟุตบอล และสนามเทนนิส
2.สระน้ำเพื่อการเล่นกีฬา หรือกิจกรรมทางน้ำเพื่อการสันทนาการ สระว่ายน้ำสาธารณะหรือกิจการอื่นๆในทำนองเดียวกัน
3.ลานกีฬา
4.ศูนย์แสดงสินค้า ศูนย์ประชุมหรือสถานที่จัดนิทรรศการ
5.ศูนย์การเรียนรู้ หรือศูนย์วิทยาศาสตร์เพื่อการศึกษา อุทยานวิทยาศาสตร์ ศูนย์วิทยาศาสตร์และวัฒนธรรมหรือหอศิลป์
6.ห้องสมุดสาธารณะ ห้องสมุดชุมชน ห้องสมุดเอกชนและบ้านหนังสือ
7.พิพิธภัณฑ์ พิพิธภัณฑ์สถาน พิพิธภัณฑ์ท้องถิ่นรวมถึงพิพิธภัณฑ์ในลักษณะเดียวกัน แหล่งประวัติศาสตร์ หรือโบราณสถาน
8.ศูนย์พัฒนาเด็กเล็กและเด็กก่อนวัยเรียน
9.ร้านเสริมสวยร้านตัดผมหรือแต่งผมร้าน ทำเล็บ หรือร้านสัก
10.สวนสาธารณะและสวนพฤกษศาสตร์ต่างๆ
ทั้งนี้ พญ.อภิสมัย กล่าวว่า ส่วนสถานที่และกิจการที่สามารถเปิดให้บริการได้ ประกอบด้วย
1.สถานที่รับเลี้ยงเด็กเฉพาะสถานที่รับเลี้ยงเด็กในโรงพยาบาลและที่มีการรับตัวไว้พักค้างคืนเป็นปกติธุระ
2.สถานที่ดูแลผู้สูงอายุ เฉพาะที่มีการรับตัวไว้พักค้างคืนเป็นปกติธุระ
3.ตลาดนัดเฉพาะส่วนที่ขายอาหาร หรือวัตถุดิบเพื่อการบริโภค
พญ.อภิสมัย กล่าวว่า ศบค.เน้นย้ำในส่วนตลาดสดและตลาดนัด เนื่องจากกระทรวงสาธารณสุขมีความเป็นห่วง แต่ที่ประชุมศบค.มีความเข้าใจว่า ตลาดสด และตลาดนัดเชื่อมโยงใกล้ชิดกับชุมชน หากมีการปิดทั้งหมดเกรงว่าจะกระทบกับการดำเนินชีวิตของประชาชน จึงฝากไปยังคณะกรรมการจังหวัด และผู้ว่าราชการจังหวัดและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องให้มีการกำกับดูแลเข้มงวดในส่วนของตลาดสดและตลาดนัด
และหากมีพื้นที่ที่มีความเสี่ยง ให้เป็นอำนาจของคณะกรรมการจังหวัด และผู้ว่าราชการจังหวัดสามารถพิจารณาปิดเพิ่มเติม นอกเหนือจากข้อกำหนดดังกล่าวได้ จึงขอให้ประชาชนให้ความร่วมมือ เพราะเมื่อมีการพยายามที่จะกำหนดมาตรการอย่างเข้มงวด การกำกับติดตามต้องพยามทำอย่างเข้มงวดเช่นกัน และใน 14 วัน ถ้าเราสามารถทำให้สถานการณ์ดีขึ้นการผ่อนคลายก็จะตามมา
โดย สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (21 ก.ค. 64)
Tags: COVID-19, มาตรการคุมโควิด, ล็อกดาวน์, ศบค., อภิสมัย ศรีรังสรรค์, โควิด-19