นายวีริศ อัมระปาล ผู้ว่าการการรถไฟแห่งประเทศไทย (รฟท.) เปิดเผยว่า หลังจากที่ได้รับตำแหน่งตั้งแต่วันที่ 19 กันยายน 2567 พบว่า การรถไฟฯ มีปัญหาเร่งด่วนหลายเรื่องที่ต้องเร่งแก้ไขและหาทางออก ซึ่งมีทั้งที่เป็นประเด็นทางกฎหมาย ประเด็นทางระเบียบการจัดซื้อจัดจ้าง ดังนั้น ตนจึงได้แต่งตั้งคณะทำงานขึ้น 3 ชุด คือ 1.คณะทำงานศึกษาติดตามปัญหาการดำเนินโครงการ ของการรถไฟแห่งประเทศไทย 2. แต่งตั้งคณะทำงานศึกษาด้านกฎหมาย ของการรถไฟแห่งประเทศไทย 3. แต่งตั้งคณะทำงานศึกษากระบวนการจัดซื้อจัดจ้างและการบริหารพัสดุ ของการรถไฟประเทศไทย เพื่อให้เป็นที่ปรึกษา ช่วยตรวจสอบข้อมูล รายละเอียดในประเด็นที่เกี่ยวข้อง โดยเป็นบุคคลภายนอกที่มีความเชี่ยวชาญทางกฎหมายและระเบียบจัดซื้อจัดจ้าง เช่น อัยการ สำนักงานการตรวจเงินแผ่นดิน (สตง.) เป็นต้น
โดยขณะนี้มีการรวบรวมประเด็นปัญหาได้เกือบ 10 เรื่องที่ต้องแก้ปัญหา ซึ่งเป็นประเด็นเร่งด่วนประมาณ 6-7 เรื่อง เช่น โครงการระบบรถไฟชานเมือง (สายสีแดง) ช่วงบางซื่อ-รังสิต และช่วงบางซื่อ-ตลิ่งชัน กรณีคำสั่งเปลี่ยนแปลงงานเพิ่มเติม (Variation order – VO) วงเงินกว่า 4,204 ล้านบาทซึ่งล่าสุด ศาลปกครองสูงสุดได้มีคำสั่งไม่รับคำอุทธรณ์ของการรถไฟฯ ยืนตามคำสั่งศาลปกครองชั้นต้น ทำให้รถไฟจ่ายเงินผู้รับเหมาเพิ่มอีก 4 พันล้านบวกดอกเบี้ยตามคำชี้ขาดข้อพิพาทของคณะอนุญาโตตุลาการ ซึ่งเรื่องนี้ต้องเร่งพิจารณาเพราะดอกเบี้ยเพิ่มขึ้นทุกวัน นอกจากนี้ จะต้องสรุปเรื่องเสนอคณะรัฐมนตรี(ครม.) เพื่อขออนุมัติปรับเพิ่มกรอบวงเงินโครงการอีกด้วย
อีกเรื่องที่เร่งด่วนที่คณะทำงานได้เริ่มศึกษาข้อมูลแล้ว คือ กรณีขนส่งขบวนรถดีเซลรางปรับอากาศ Kiha จำนวน 20 คัน จากประเทศญี่ปุ่นดำเนินการไม่เป็นไปตามสัญญา เท่าที่ทราบ ทางเอกชนอยากเดินต่อ โดยส่งวิศวกรไปอบรมเรื่องการถอดแคร่ ล้อ ที่ประเทศญี่ปุ่นเพื่อให้ได้การรับรอง แต่ในส่วนของการรถไฟฯเราต้องแยกแต่ละเรื่อง แต่ละปัญหาออกมาก่อน เช่น ดูกระบวนการขั้นตอน ข้อสังเกตุ คำถาม มาพิจารณาเรื่องระเบียบพัสดุฯ ว่าจะสามารถเดินหน้าต่อไปได้อย่างไร รวมถึงการจะจ่ายเงินที่เหลือได้หรือไม่อย่างไร ค่าปรับเป็นอย่างไร และมีใครที่ต้องรับผิดชอบในแต่ละกรณีบ้าง ขณะนี้ยังไม่มองไปถึงเรื่องแก้สัญญา
“หลักการ คือ หากนำรถออกมาดำเนินการตามเป้าหมาย รฟท.จะทำอย่างไรได้บ้างที่ไม่ผิด ตรงนี้ต้องตรวจสอบให้รอบคอบเพราะเรื่องนี้มีคำถามมาก ส่วนจะได้รถออกมาปรับปรุงและนำมาให้บริการเมื่อไหร่ ตอนนี้ ทางเอกชนต้องทำไทม์ไลน์การส่งมอบรถด้วย”
นอกจากนี้ยังมีประเด็น ที่ดินเขากระโดง ,โครงการสรรหาเอกชนเพื่อร่วมลงทุนเป็นผู้ประกอบการสถานีบรรจุและแยกสินค้ากล่อง (ไอซีดี) ที่ลาดกระบัง ,การแก้สัญญาร่วมทุน โครงการรถไฟความเร็วสูงเชื่อม 3 สนามบิน (ดอนเมืองสุวรรณภูมิ อู่ตะเภา) รวมไป ถึงกรณีป้ายชื่อ สถานีกลางกรุงเทพอภิวัฒน์ ราคา 33 ล้านบาท เป็นต้น
นายวีริศกล่าวว่า ปัญหาเกือบ 10 เรื่อง เป็นปมร้อน ที่ต้องแก้ไขเร่งด่วน ได้พยายามรวบรวมข้อมูลในแต่ละเรื่องให้มากที่สุด เพื่อให้คณะทำงานได้นำไปศึกษา ไม่นานน่าจะส่งผลศึกษา ซึ่งจะนำไปพิจารณากับระเบียบของการรถไฟฯ หากพบว่า เรื่องไหนเข้าข่ายมีความบกพร่อง ผิดพลาด ก็จะมีการแต่งตึ้งคณะกรรมการตรวจสอบฯต่อไป ส่วนเรื่องที่ไม่มีประเด็นทางระเบียบหรือกฎหมาย ก็จะได้ให้ดำเนินการต่อไปให้ถูกต้องและให้ได้ข้อยุติ ไม่ปล่อยให้ค้างคาไว้แบบนี้ ตนอยากให้เดินหน้าทำงานต่อไปตามหลักการที่ถูกต้องชี้แจงได้
การตรวจสอบข้อมูลเพื่อเกิดความชัดเจน และเป็นธรรมกับทุกฝ่าย ทั้งผู้ที่เกี่ยวข้องและสังคม หลักการของตนคือ ต้องเป็นธรรมและพนักงานต้องมีขวัญกำลังใจ
โดย สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (31 ธ.ค. 67)
Tags: การรถไฟแห่งประเทศไทย, รฟท., วีริศ อัมระปาล