“วิโรจน์” ผิดหวังปฏิรูปกองทัพ ไร้นโยบายใหม่ เคลมผลงานรบ.เดิม

นายวิโรจน์ ลักขณาอดิศร สส.บัญชีรายชื่อ พรรคก้าวไกล ได้อภิปรายเกี่ยวกับนโยบายปฏิรูปกองทัพของรัฐบาล โดยระบุว่าจากการตรวจสอบการทำงานของรัฐบาลแล้ว นโยบายต่างๆ ในการบริหารกองทัพ ไม่ได้มีนโยบายใหม่ แต่เป็นการนโยบายที่รัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา อดีตนายกรัฐมนตรี ทำแล้ว ทำอยู่ มาทำต่อเท่านั้น

จวกตัดงบซื้อเรือฟริเกต ตัดโอกาสประเทศ

นายวิโรจน์ กล่าวถึงการจัดซื้อฟริเกตของกองทัพเรือ วงเงิน 17,000 ล้านบาทว่า ในอีก 2 ปี เรือฟริเกรตไทยต้องจะต้องปลดระวางลงอีก 1 ลำ ทำให้เหลือเรือฟริเกรตไทยเพียง 3 ลำ อาจทำให้ไม่เพียงพอ ทั้งที่มีความจำเป็น เพราะจะต้องคุ้มครองเส้นทางคมนาคมทางเรือ คุ้มกันเรือน้ำมัน และเรือสินค้า รวมถึงลาดตระเวนแท่นขุดเจาะน้ำมัน แต่มีคนของรัฐบาล พยายามต่อสายจะคุยกับกองทัพเรือ แต่กองทัพเรือปฏิเสธ และยอมถูกตัดงบเหลือ 850 ล้านบาท แต่สุดท้ายกองทัพเรือกลับถูกตัดงบประมาณดังกล่าว แม้กองทัพเรือจะขออุทธรณ์ กรรมาธิการงบประมาณ ก็ยังตัดงบประมาณ

การตัดงบประมาณครั้งนี้ จึงเป็นการตัดโอกาสประเทศ และอาจจะต้องรอถึงปี 2569 กองทัพเรือ ถึงจะสามารถของบประมาณใหม่ได้

“ราคาเรือฟริเกตเป็นราคาที่พอจะพิจารณาได้ และจะเป็นครั้งแรกในประวัติศาสตร์ที่ไทยได้รับการถ่ายทอดเทคโนโลยีและระบบการติดตั้งในเรือให้อุตสาหกรรมการต่อเรือของประเทศ เกิดการจ้างงานมากกว่า 1.2 ล้านชั่วโมง มีการจัดซื้อวัสดุในประเทศหลาย 1 พันล้านบาท ต่างจากการซื้อเรือดำน้ำ” นายวิโรจน์ กล่าว

ลดจำนวนนายพล เป็นนโยบายรัฐบาลเดิม

นโยบายที่รัฐบาลประกาศจะลดจำนวนนายพลลง 50% ในปี 2570 ถือเป็นการตบตาประชาชน เพราะจำนวนนายพล จะลดลงอยู่แล้ว ซึ่งที่ผ่านโรงเรียนเตรียมทหาร รับจำนวนนักเรียนเตรียมทหารลดลง 150 คน ตั้งแต่รุ่นผู้บัญชาการเหล่าทัพชุดปัจจุบัน ตั้งแต่นั้นเป็นต้นมา จึงเป็นการฉวยโอกาสนำมาอ้างเป็นผลงาน เช่นเดียวกับโครงการ Early Retrie ที่ดำเนินการมาตั้งแต่สมัยรัฐบาลพล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา และงบประมาณบุคลากรของกองทัพไม่ได้ลดลง

จี้กลาโหมเร่งปฏิรูปกองทัพ

นายวิโรจน์ กล่าวว่า มี 5 ประเด็นที่อยากสะท้อนต่อรัฐบาล ดังนี้

1. การปรับลดกำลังพล: ถ้าจะปฏิรูปกองทัพอย่างแท้จริง กระดุมเม็ดแรกคือการปรับปรุงโครงสร้างหน่วยงานภายในกลาโหม ควบรวม หรือยกเลิกหน่วยงานที่ซับซ้อน และประเมินภัยคุกคามและบริบทของภัยมั่นคงยุคใหม่ นำภารกิจของหน่วยงานต่างๆ มากางดูว่าต้องใช้กำลังพลในแต่ละภารกิจเท่าไร ซึ่งบริบทของโลกยุคใหม่ ความต้องการกำลังพลที่เป็นทหารราบลดลงในทุกประเทศอยู่แล้ว และที่สำคัญคือต้องเอาภารกิจที่ไม่เกี่ยวกับการทหาร ทั้งพลทหารรับใช้ เลี้ยงเป็ด ไก่ เด็กเสิร์ฟ เด็กปั๊ม รับเหมาก่อสร้างต่างๆ ออกจากระบบให้หมด

หากรัฐบาลเร่งปรับลดพลทหารมาอยู่ในระดับที่จำเป็น นอกจากจะช่วยขับเคลื่อนเศรษฐกิจแล้ว ยังทำให้รัฐบาลมีงบประมาณเพียงพอในการปรับปรุงสวัสดิการ และทำสัญญาจ้างทหารอาชีพแบบสมัครใจระยะยาว 4-5 ปีได้ และการที่ได้พลทหารแบบสมัครใจ จะทำให้การฝึกทหารและการปฏิบัติภารกิจมีประสิทธิภาพ การบังคับเกณฑ์ทหารแบบที่เป็นอยู่ ทำให้เกิดปัญหามากมาย ทั้งปัญหาสุขภาพจิต ซึ่งโรงพยาบาลรามาธิบดีรายงานว่า พลทหารใหม่มีภาวะซึมเศร้าสูงถึง 19.95% ขณะที่ปัญหายาเสพติด พบว่า บางผลัดพบพลทหารใหม่เกี่ยวพันกับยาเสพติดถึง 30%

2. ลดจำนวนนายพล: ไม่ต้องทำอะไรในปี 72 จำนวนนายพลก็จะลดลงอัตโนมัติ อย่าหลอกลวงประชาชนด้วยการนำตัวเลขนักเรียนเตรียมทหารที่น้อยลงมาเคลมผลงาน นอกจากนี้ ยังมี Early Retire โครงการนี้ทำแล้วทำอยู่ทำต่อตั้งแต่ปี 63 ซึ่งตั้งคำถามว่าถ้าสำเร็จงบบุคลากรควรลดลงหรือไม่

3. ที่ดินราชพัสดุทั้งหมด 12 ล้านไร่ ถูกครอบครองโดยกองทัพ 6.25 ล้านไร่ แบ่งเป็น กองทัพบก 4.5 ล้านไร่ โดยอยู่ในจ.กาญจนบุรีคาบเกี่ยวไปราชบุรีถึง 3 ล้านไร่ ส่วนกองทัพอากาศ และกองทัพเรือรวม 1.75 ล้านไร่ โดยที่ผ่านมารัฐบาลนี้พยายามนำที่ดินของกองทัพมาให้ประชาชนใช้ประโยชน์ โครงการ “ธนารักษ์เอื้อราษฎร์” แต่ไม่ใช่โครงการใหม่ ทำมาตั้งแต่ปี 47 ซึ่งเปลี่ยนชื่อมาเรื่อยๆ โดยรูปแบบโครงการเหมือนเดิม คือ นำที่ที่ประชาชนรุกล้ำมาให้ประชาชนเช่า โดยประชาชนต้องยอมสละสิทธิ์การโต้แย้งในกรรมสิทธิ์

“ถ้ารัฐบาลนี้คิดที่จะแก้ปัญหาเรื่องที่ดินจริงจัง จะต้องจัดสรรงบประมาณเร่งรัดการพิสูจน์สิทธิ ไม่ใช่หลอกให้ประชาชนสละสิทธิการโต้แย้งกรรมสิทธิ์ และเช่าที่ดินของตัวเองแบบนี้ และรัฐบาลควรเอาที่ดินที่เกินจำเป็นของกองทัพส่งคืนให้รัฐบาล เพื่อให้รัฐบาลนำมาพิจารณาจัดสรรให้ท้องถิ่นส่วนหนึ่ง และนำมาจัดสร้างสาธารณูปโภคที่จำเป็นต่างๆ และเมื่อชุมชนเข้าถึงสาธารณูปโภค ความเจริญ การพัฒนาเศรษฐกิจชุมชน และคุณภาพชีวิตที่ดีจะตามมา” นายวิโรจน์ กล่าว

4. งบประมาณของแต่ละเหล่าทัพ ปัจจุบันปัญหาความมั่นคง และภูมิรัฐศาสตร์เปลี่ยนแปลงไป แต่งบประมาณที่จัดสรรให้กองทัพที่ผ่านมา 5 ปีย้อนหลัง ใช้วิธีจัดงบประมาณแบบโควตา ไม่มีการปรับเปลี่ยนให้สอดคล้องกับบริบทความมั่นคงในรูปแบบใหม่

นายวิโรจน์ กล่าวถึงสมุดปกขาวว่า คือแผนยุทธศาสตร์พัฒนากองทัพให้มีความพร้อมในการรับมือกับภัยคุกคามและความมั่นคงในรูปแบบใหม่ ซึ่งแต่ละกองทัพต่างก็จัดทำสมุดปกขาวของตนเอง ซึ่งมองว่าการจัดทำสมุดปกขาวควรให้ทุกเหล่าทัพประชุมหารือร่วมกัน และจัดทำเล่มเดียว และจะได้จัดงบประมาณตามสมุดปกขาว และยกเลิกระบบโควตาแบบเดิม

การจัดซื้ออาวุธ ควรเปิดโอกาสให้ผู้ประกอบการในประเทศ เพื่อส่งเสริมอุตสาหกรรมการป้องกันประเทศ แทนการจัดซื้อจากบริษัทโบรกเกอร์ที่อ้างเป็น SME ใช้ช่องว่างทางกฎหมายให้ตนเองประมูล เอาอาวุธจากต่างประเทศมาขายให้กองทัพ สุดท้ายพอมีปัญหา อาวุธที่ซื้อไว้ก็ต้องจอดซ่อม หลายรายการต้องรออะไหล่

5. นโยบายชดเชย หรือออฟเซต (Offset Policy) ไม่ควรนำเงินภาษีของประชาชนไปแลกอาวุธยุทโธปกรณ์ แต่รัฐบาลต้องมีข้อแลกเปลี่ยน หรือการชดเชยผลประโยชน์ ที่เกิดประโยชน์ทางเศรษฐกิจปากท้องประชาชน ทั้งการชำระเงินส่วนหนึ่งเป็นสินค้า การลงทุนทางตรงจากต่างประเทศ การถ่ายทอดเทคโนโลยีการผลิตร่วม การวิจัยร่วม หรือการให้ความยืดหยุ่นในการดัดแปลงอัพเกรดซอฟต์แวร์ต่างๆ

นายวิโรจน์ ระบุว่า การปฎิรูปกองทัพจะทำให้กองทัพมีความโปร่งใส ประชาชนมีความเข้าใจ เชื่อใจในภารกิจทางการทหาร และทำให้กองทัพสามารถปฏิบัติหน้าที่ได้อย่างมีประสิทธิภาพ

“การปฏิรูปกองทัพเป็นกระบวนการที่ทำให้ความสัมพันธ์ของกองทัพกับประชาชนดีขึ้น ถ้าไม่มีการปฏิรูปกองทัพอย่างจริงจัง ทุกการกระทำและการเคลื่อนไหวของกองทัพ ประชาชนจะตั้งแง่และคิดในทางลบไว้ก่อน พอกองทัพดึงดันจะดึงดันเอาให้ได้ ประชาชนจะตรวจสอบก็ไม่ให้ตรวจ อ้างงบลับ อ้างเรื่องความมั่นคง ดื้อตาใสฝืนทำ ซื้อโดยไม่สนใจเสียงวิพากษ์วิจารณ์จากประชาชน พฤติกรรมเช่นนี้ถ้าปล่อยไว้เรื่อยๆ ไม่คิดหรือว่าภาพลักษณ์ของกองทัพจะตกต่ำลง และทำให้กองทัพทำงานยากลำบาก และท้ายที่สุดจะมีกลุ่มก้อนทางการเมืองกลุ่มหนึ่งที่ถือโอกาสจากการอคติของประชาชนไปตบทรัพย์ต่อรองเอาผลประโยชน์จากงบประมาณกองทัพ” นายวิโรจน์ กล่าว

โดย สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (04 เม.ย. 67)

Tags: , , , , , ,