นายวิษณุ เครืองาม กรรมการกฤษฎีกา กล่าวว่า กรณีที่รัฐบาลเตรียมสอบถามเรื่องการออกร่างพ.ร.บ.เงินกู้ 5 แสนล้านบาทเพื่อใช้ในโครงการดิจิทัลวอลเล็ตว่าผิดกฎหมายหรือไม่ เป็นเรื่องที่ตอนนี้ยังตอบไม่ถูกและไม่มีใครตอบถูก เพราะรัฐบาลยังไม่ได้สอบถามมา จึงไม่ทราบว่าจะถามว่าอย่างไร
แต่หากส่งมาแล้วก็มี 2 ทางเลือก คือนำเข้าคณะทำงานที่ชำนาญด้านนี้ที่มีนายพนัส สิมะเสถียร เป็นประธาน เพราะเป็นคนร่างกฎหมายวินัยการเงินการคลัง ซึ่งอาจจะทำหน้าที่ตรงนี้ได้ดีกว่า และตนไม่ได้อยู่คณะนี้ หรืออาจจะนำเข้าคณะพิเศษ ดึงคนที่มีความชำนาญด้านต่างๆ เพราะมองแล้วไม่ใช่มิติด้านกฎหมายการเงินการคลังเพียงอย่างเดียว แต่มีกฎหมายเรื่องเงินคงคลัง กฎหมายวิธีการงบประมาณ และกฎหมายเลือกตั้งและรัฐธรรมนูญ ที่ต้องอาศัยความสามารถของกรรมการหลายคณะ
“ทางออกที่ดีควรส่งคำถามเป็น 2 ช่วง คือช่วงแรกควรถามว่า รัฐบาลประสบปัญหาวิกฤต ประเทศชาติมีวิกฤต และรัฐบาลคิดว่าจะทำอย่างนี้ถูกกฎหมายหรือไม่ ถ้าไม่ถูกขอให้ช่วยแนะนำว่าควรทำอย่างไร ถึงจะทำได้เพื่อช่วยแก้วิกฤต ซึ่งหากกฤษฎีกาตอบมาว่า ออกร่างกฎหมายกู้เงินได้ก็ค่อยส่งร่างกฎหมายไปรอบที่ 2 ไม่ใช่อยู่ดีๆ แล้วส่งร่างกฎหมายกู้เงินไปเลย เพราะถ้าทำเช่นนี้ก็จะตรวจสอบได้เฉพาะว่าร่างกฎหมายนี้ถูกต้องตามกฎหมายวินัยการเงินกันคลังหรือไม่ และถ้อยคำถูกต้องหรือไม่ ซึ่งจะไม่ได้คำตอบที่ต้องการ แล้ววันหนึ่งจะมีคดีไปถึงศาลอีกอยู่ดี ดังนั้นจึงควรถาม 2 รอบ หากถามเร็วก็ตอบเร็ว เชื่อว่าทันเดือนพฤษภาคม 2567 อย่างแน่นอน” นายวิษณุ กล่าว
สำหรับกรอบเวลาในการพิจารณานั้น หากส่งคำถามแรกไปขั้นตอนการตอบอาจจะช้ากว่าคำถามที่ 2 ซึ่งหากเร่งพิจารณาทุกวันก็น่าจะเสร็จเร็ว ส่วนคำถามที่ 2 นั้นจะสามารถตอบได้เร็วมาก เพราะมีการตอบคำถามแรกไปแล้ว เช่น ถ้ากฤษฎีกาตอบว่าออกเป็นร่างพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.)กู้เงิน ก็แสดงว่าออกได้ เมื่อส่งร่าง พ.ร.บ.ไปก็แค่ตรวจถ้อยคำ ส่วนเรื่องที่ว่าขัดต่อรัฐธรรมนูญหรือไม่ถือว่าผ่านขั้นตอนการพิจารณามาในคำถามแรกไปแล้ว ทั้งนี้กฤษฎาฎีกาชินกับการตอบคำถามเหมือนศาล ที่ถามแค่ไหนก็ตอบแค่นั้น โดยหลายเรื่องที่ถาม กฤษฎีกาไปว่าทำได้หรือไม่กฤษฎีกาก็ตอบแค่ว่าได้หรือไม่ได้ แต่ไม่เคยตอบว่าถ้าไม่ได้จะต้องทำอย่างไร จะไม่มีการชี้ช่องให้ ดังนั้นการจะถามคำถามไปยังกฤษฎีกา ควรถามให้กว้าง
“ถ้าส่งร่าง พ.ร.บ.ไปรอบเดียวเขาจะตีความในมิติที่แคบ ถามช้างก็ตอบช้าง ไม่ได้ตอบม้า แต่ถ้าถามไปว่าจะช้างหรือม้าหรือวัวหรือควายดี เขาก็จะได้ตอบให้” นายวิษณุ กล่าว
หากรัฐบาลส่งร่าง พ.ร.บ.ไปถามเลยจะทำให้มีคดีความตามมาหรือไม่ ตนไม่ทราบ เพราะที่ขู่ก็ไม่ได้หมายความว่าจะถูกต้องเสมอไป ขณะนี้ต่างคนต่างไม่รู้ทั้งนั้นว่าในตอนนี้รัฐบาลจะสอบถามกฤษฎีกาว่าอย่างไร
กรณีสอบถามว่าประเทศวิกฤตจะออกเป็นพระราชกำหนด (พ.ร.ก.) เท่านั้นหรือไม่ นายวิษณุ กล่าวว่า อันดับแรกคนที่จะตัดสินว่าประเทศวิกฤตหรือไม่คือรัฐบาล และการที่จะออกเป็น พ.ร.ก.แบ่งได้เป็น 2 วรรค คือ วรรคแรกกรณีที่วิกฤตฉุกเฉินจำเป็นเร่งด่วนให้ออกเป็น พ.ร.ก.ได้ และอีกวรรคหนึ่ง เป็นการแก้ปัญหาฉุกเฉินจำเป็นเร่งด่วน ต้องเป็นไปเพื่อรักษาความมั่นคง ทางเศรษฐกิจหรือความมั่นคงทางการเมือง ซึ่งในประเด็นแรก เรื่องวิกฤตหรือไม่ฉุกเฉินจำเป็นเร่งด่วนหรือไม่ ศาลรัฐธรรมนูญไม่รับวินิจฉัย แต่เรื่องนี้จำเป็นต่อความมั่นคงทางเศรษฐกิจ และความมั่นคงทางการเมืองหรือไม่ ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยให้ได้ ดังนั้นหากเกิดวิกฤตไม่ถึงขนาดไฟลนก้น เพียงแต่เหมือนวิกฤตมาแล้วหลายเดือนและมีแนวโน้มว่าจะวิกฤตต่อก็ออกเป็น พ.ร.บ.ได้
“ปัญหามีอยู่ว่า การออก พ.ร.บ.กู้เงินมาช่วยประชาชน วิกฤตหรือไม่เป็นเรื่องหนึ่ง และเข้าใจว่า ในมาตรา 9 ของ พ.ร.บ.วินัยการเงินการคลังของรัฐ บัญญัติไว้ว่า รัฐจะไปจ่ายเงิน เพื่อประชานิยมไม่ได้ ตรงนี้เป็นเรื่องที่จะต้องตอบ และจะไปสัมพันธ์กับเรื่องที่ไม่ตรงปก ตอนที่หาเสียง พูดเอาไว้อย่างไรก็เกี่ยวโยงกับกฎหมายเลือกตั้งด้วย” นายวิษณุ กล่าว
สำหรับความระมัดระวังในการออก พ.ร.บ. เงินกู้ นั้นเป็นเรื่องที่รัฐบาลรู้อยู่แล้ว ไม่ต้องบอกผ่านสื่อ เพราะไม่ได้ทำให้อะไรดีขึ้น แต่ขอย้ำว่าถ้าถามกฤษฎีกาไป 2 ท่อน 2 ตอนอย่างที่เสนอก็คงไม่ต้องมาถามคำถามนี้ โดยเฉพาะต้องขมวดคำถามว่า ทั้งหมดถ้าทำไม่ได้แล้วต้องทำอย่างไร เช่น ถ้าบอกว่าให้ใช้งบประมาณก็ต้องใช้เงินงบประมาณแผ่นดิน การออกเป็น พ.ร.บ.กู้เงินก็ถือว่าเสี่ยง
ส่วนที่มีหลายฝ่ายมองว่าการออก พ.ร.บ.เงินกู้เป็นทางลงของรัฐบาลนั้น ตนไม่ทราบ เพราะยังไม่เห็นทางขึ้นจึงไม่ทราบว่าทางลงเป็นอย่างไร
โดย สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (06 ธ.ค. 66)