ผลการศึกษาที่เผยแพร่ในวันนี้ (5 เม.ย.) แสดงให้เห็นว่า มีขยะพลาสติกมากถึง 11 ล้านตันจมอยู่ที่พื้นมหาสมุทร
ทีมงานวิทยาศาสตร์จากองค์การวิจัยวิทยาศาสตร์และอุตสาหกรรมแห่งเครือจักรภพ (CSIRO) ซึ่งเป็นสถาบันวิจัยชั้นนำของออสเตรเลีย และมหาวิทยาลัยโตรอนโต (University of Toronto) ในแคนาดา ได้ดำเนินการวิจัยดังกล่าวโดยใช้ระบบจำลองการคาดการณ์ 2 ระบบ เพื่อประเมินปริมาณและการกระจายตัวของพลาสติกบนพื้นมหาสมุทร
ดร.เดนิส ฮาร์เดสตี นักวิทยาศาสตร์วิจัยอาวุโสของ CSIRO ระบุว่า การศึกษาดังกล่าวถือเป็นการประมาณการครั้งแรกของโลกเกี่ยวกับปริมาณพลาสติกที่จมลงสู่พื้นมหาสมุทร และพื้นที่ที่ขยะพลาสติกกองรวมกัน โดยเธอกล่าวว่า “เรารู้ว่ามีการทิ้งขยะพลาสติกหลายล้านตันลงสู่มหาสมุทรของเราทุกปี แต่สิ่งที่เราไม่รู้คือมีปริมาณพลาสติกจมลงสู่พื้นมหาสมุทรของเรามากน้อยเพียงใด”
นอกจากนี้ ดร.ฮาร์เดสตี เสริมว่า “เราค้นพบว่าพื้นมหาสมุทรกลายเป็นแหล่งกักเก็บมลพิษจากพลาสติกส่วนใหญ่ โดยคาดว่าพลาสติกจำนวน 3-11 ล้านตันจมลงสู่พื้นมหาสมุทร”
สำนักข่าวซินหัวรายงานว่า การประมาณการดังกล่าวอิงจากข้อมูลจากยานพาหนะควบคุมระยะไกล และการลากอวนลากจากพื้นมหาสมุทร
ข้อมูลของยานพาหนะควบคุมระยะไกลระบุว่า มวลพลาสติกบนพื้นมหาสมุทรกระจุกตัวอยู่ทั่วทวีปต่าง ๆ โดย 46% ของขยะพลาสติกทั้งหมดอยู่ที่ความลึกไม่ถึง 200 เมตร และอีก 54% อยู่ที่ความลึกประมาณ 200-11,000 เมตร
โดย สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (05 เม.ย. 67)
Tags: ขยะพลาสติก, มหาสมุทร