สำนักข่าวบลูมเบิร์กรายงานผลวิจัยของสเตลเลนบอสช์ (Stellenbosch) ที่จัดทำร่วมกับมหาวิทยาลัยควาซูลู-นาทาล (University of KwaZulu-Natal) โดยยกกรณีศึกษาจากหญิงวัย 22 ปีชาวแอฟริกาใต้รายหนึ่ง ซึ่งเป็นผู้ป่วยติดเชื้อไวรัส HIV ที่ไม่ได้รับการรักษาและมีเชื้อโควิด-19 อยู่ในร่างกายเป็นเวลา 9 เดือน ผลวิจัยพบว่า เชื้อโควิด-19 สายพันธุ์เบตาที่อยู่ในผู้ป่วยรายนี้มีการกลายพันธุ์เพิ่มขึ้นอย่างน้อย 21 จุด
หลังจากหญิงดังกล่าวได้รับยาต้านเชื้อไวรัส และระบบภูมิคุ้มกันของร่างกายกลับมาแข็งแรงดีแล้ว เธอก็หายจากโรคโควิด-19 ได้ภายในเวลา 6-9 สัปดาห์
งานวิจัยครั้งนี้เป็นอีกหนึ่งหลักฐานที่สนับสนุนว่า โควิด-19 จะกลายพันธุ์อย่างรวดเร็วเมื่ออยู่ในร่างกายของผู้ป่วยที่ภูมิคุ้มกันอ่อนแอ เช่น ผู้ป่วยติดเชื้อ HIV จนอาจเป็นสาเหตุของการเกิดสายพันธุ์ใหม่
อนึ่ง แอฟริกาใต้เป็นหนึ่งในประเทศที่มีเชื้อไวรัส HIV แพร่ระบาดมากที่สุดในโลก โดยมีประชากร 8.2 ล้านคนจากทั้งหมด 60 ล้านคนที่ติดเชื้อ HIV และสายพันธุ์เบตาซึ่งทำให้หญิงรายดังกล่าวติดเชื้อนั้นก็มีการค้นพบครั้งแรกในแอฟริกาใต้ เช่นเดียวกันกับสายพันธุ์โอมิครอน
รายงานวิจัยระบุว่า “กรณีศึกษานี้ชี้ให้เห็นถึงขั้นตอนการเกิดเชื้อไวรัสสายพันธุ์ใหม่ ผลวิจัยของเราสนับสนุนรายงานก่อนหน้านี้ที่ว่า การรักษาด้วยการให้ยาต้านไวรัสอย่างมีประสิทธิภาพถือเป็นส่วนสำคัญในการป้องกันไม่ให้เกิดสายพันธุ์ใหม่ ๆ ขึ้น”
ทั้งนี้ งานวิจัยดังกล่าวยังไม่ได้รับการตรวจสอบโดยผู้เชี่ยวชาญ
โดย สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (31 ม.ค. 65)
Tags: COVID-19, มหาวิทยาลัยควาซูลู-นาทาล, โควิด-19, โควิดกลายพันธุ์