ศาสตราจารย์คาร์ล ฟิลพ็อตต์ คณะแพทยศาสตร์นอร์ริช มหาวิทยาลัยอีสต์แองเกลีย ประเทศอังกฤษเผยผลการศึกษาว่า เด็กที่หายจากการติดเชื้อโควิด-19 อาจมีประสาทการรับรู้กลิ่นที่ผิดเพี้ยน ซึ่งจะทำให้อาหารที่เด็กเลือกกินนั้นเปลี่ยนไปด้วย
ภาวะการรับรู้กลิ่นผิดเพี้ยนหรือ Parosmia อาจทำให้ผู้ป่วยรับรู้กลิ่นที่แปลกไปจากปกติ เช่น ได้กลิ่นเลมอนเป็นกะหล่ำปลีเน่า หรือกลิ่นช็อกโกแลตเป็นน้ำมันเชื้อเพลิง เป็นภาวะที่พบได้มากในผู้ที่หายจากการติดเชื้อโควิด-19 แล้ว โดยคาดว่า เกิดจากการที่ร่างกายมีเซลล์รับรู้กลิ่นลดลง จึงทำให้รับรู้สารประกอบของกลิ่นได้เพียงบางส่วนเท่านั้น
ผู้เชี่ยวชาญระบุว่า ปัจจุบันมีชาวอังกฤษวัยผู้ใหญ่ราว 250,000 คนที่ประสบกับภาวะ Parosmia จากการติดเชื้อโควิด-19 อีกทั้งภาวะนี้ยังอาจเป็นสาเหตุที่เด็กไม่ยอมรับประทานอาหารที่เคยชอบหลังจากหายป่วยแล้ว
สำนักข่าวซีเอ็นบีซีรายงานว่า ศาสตราจารย์ฟิลพ็อตต์ได้ร่วมมือกับองค์กรการกุศล Fifth Sense ออกคู่มือแนะนำสำหรับพ่อแม่และบุคลากรการแพทย์ เพื่อให้สามารถแยกแยะระหว่างเด็กที่มีภาวะ Parosmia และเด็กที่เลือกกินโดยทั่วไป
นายดันแคน โบ๊ก ประธาน Fifth Sense กล่าวว่า “เราได้รับรายงานจากพ่อแม่ที่มีลูกซึ่งประสบปัญหาด้านโภชนาการและมีน้ำหนักตัวลดลง ซึ่งก่อนหน้านี้แพทย์มักวินิจฉัยว่าเกิดจากการที่เด็กเลือกกินเอง เราต้องการเผยแพร่ข้อมูลนี้ให้บุคลากรทางการแพทย์รับรู้และตระหนักว่า เรื่องนี้เป็นปัญหาที่เกิดขึ้นเป็นวงกว้าง”
โดย สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (19 ม.ค. 65)
Tags: วิจัย, อังกฤษ, อาหาร, เด็ก, โควิด-19