วิจัยชี้ประชากรเกือบทั้งโลกเผชิญภาวะโลกร้อนในเดือนมิ.ย.-ส.ค.

รายงานวิจัยที่เผยแพร่เมื่อวานนี้ (7 ก.ย.) ระบุว่า ประชากรเกือบทั้งโลกประสบกับอุณหภูมิที่พุ่งสูงขึ้นตั้งแต่ช่วงเดือนมิ.ย.-ส.ค. เนื่องจากสภาพภูมิอากาศเปลี่ยนแปลงไปอันเกิดจากฝีมือของมนุษย์

ฤดูร้อนในซีกโลกเหนือประจำปี 2566 มีอุณหภูมิสูงที่สุดเป็นประวัติการณ์นับตั้งแต่ที่เริ่มมีการจดบันทึก โดยคลื่นความร้อนที่แผ่ปกคลุมอเมริกาเหนือและทางตอนใต้ของยุโรป ส่งผลให้เกิดไฟป่าอย่างรุนแรง และอัตราการเสียชีวิตพุ่งขึ้นอย่างมาก โดยเดือนก.ค.เป็นเดือนที่ร้อนที่สุดนับตั้งแต่ที่เคยมีการจดบันทึก ขณะที่อุณหภูมิเฉลี่ยในเดือนส.ค.สูงกว่าระดับก่อนยุคอุตสาหกรรมอยู่ 1.5 องศาเซลเซียส

การวิจัยของไคลเมท เซนทรัล (Climate Central) กลุ่มวิจัยซึ่งตั้งอยู่ในสหรัฐได้ทำการสำรวจอุณหภูมิของ 180 ประเทศและ 22 เขตพื้นที่ และพบว่า 98% ของประชากรโลกเผชิญกับอุณหภูมิที่สูงขึ้น และอุณหภูมิมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นอย่างน้อยสองเท่า อันเนื่องมาจากมลภาวะจากก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์

นายแอนดรูว์ เพอร์ชิง รองประธานฝ่ายวิทยาศาสตร์ของไคลเมท เซนทรัล กล่าวว่า “แทบไม่มีใครในโลกที่รอดพ้นจากอิทธิพลของภาวะโลกร้อนในช่วง 3 เดือนที่ผ่านมา ทุกประเทศที่เราวิเคราะห์ ซึ่งรวมถึงประเทศต่าง ๆ ในซีกโลกใต้ซึ่งช่วงเวลานี้จะเป็นช่วงที่เย็นที่สุดของปีนั้น เราได้เห็นระดับอุณหภูมิที่แทบจะเป็นเรื่องยากหรือในบางกรณีที่แทบจะเป็นไปไม่ได้เลย หากไม่มีการเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิอากาศซึ่งเกิดจากฝีมือของมนุษย์”

ทั้งนี้ ไคลเมท เซนทรัล ประเมินว่า อุณหภูมิที่สูงขึ้นน่าจะเป็นผลมาจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศหรือไม่ โดยการเปรียบเทียบอุณหภูมิที่สังเกตได้กับอุณหภูมิที่สร้างโดยแบบจำลองที่ขจัดอิทธิพลของการปล่อยก๊าซเรือนกระจก

ดัชนีการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศของไคลเมท เซนทรัลบ่งชี้ว่า ประชากร 6.2 พันล้านคนต้องเผชิญกับอุณหภูมิเฉลี่ยที่สูงขึ้นอย่างน้อย 1 วัน ซึ่งมีโอกาสเกิดขึ้นมากกว่าปกติอย่างน้อย 5 เท่า อันเป็นผลจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ

โดย สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (08 ก.ย. 66)

Tags: ,