วิจัยกสิกรฯ แนะภาครัฐจัดเก็บภาษีความเค็มแบบขั้นบันไดตามปริมาณโซเดียม

ศูนย์วิจัยกสิกรไทย ระบุว่า จากการที่ภาครัฐอยู่ระหว่างพิจารณากำหนดแนวทางการจัดเก็บภาษีความเค็ม และคาดว่าน่าจะประกาศแนวทางปฏิบัติในปี 65 เพื่อให้ผู้ประกอบการปรับปรุงการผลิต ก่อนจะกำหนดวันเริ่มบังคับใช้ในระยะต่อไป โดยพิจารณาความพร้อมของผู้ประกอบการและผู้บริโภค รวมถึงภาวะเศรษฐกิจประกอบด้วย โดยมีเป้าหมายเพื่อลดการบริโภคโซเดียมของคนไทยลง

ทั้งนี้ จากงานวิจัยของสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) และสมาคมโรคไตแห่งประเทศไทย พบว่า การบริโภคโซเดียมเฉลี่ยของไทยอยู่ที่ 3,636 มิลลิกรัมต่อวัน เทียบเท่ากับการบริโภคเกลือ 1.8 ช้อนชา ซึ่งสูงกว่าปริมาณที่องค์การอนามัยโลก (WHO) แนะนำในปริมาณไม่เกิน 2,000 มิลลิกรัมต่อวัน ถึงเกือบ 2 เท่า

ในขณะเดียวกัน การบริโภคโซเดียมมากเกินกว่าเกณฑ์ที่กำหนด อาจเป็นหนึ่งในสาเหตุของโรคไม่ติดต่อเรื้อรังหลายชนิด เช่น โรคไตเรื้อรัง โรคความดันโลหิตสูง โรคหัวใจ โรคหลอดเลือดสมอง และโรคเบาหวาน โดยประมาณการค่ารักษาพยาบาลของ 5 กลุ่มโรคข้างต้น อยู่ที่ไม่ต่ำกว่า 1 แสนล้านบาทต่อปี หรือคิดเป็นสัดส่วนเกือบ 1 ใน 4 ของค่าใช้จ่ายด้านสุขภาพทั้งหมดของประเทศ (ประมาณ 4 แสนล้านบาท)

โดยที่ผ่านมาภาครัฐและหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ได้ดำเนินงานเพื่อลดการบริโภคเค็มของคนไทยมาอย่างต่อเนื่อง ผ่านรูปแบบการรณรงค์ รวมถึงการกำหนดให้ผู้ผลิตต้องแสดงปริมาณโซเดียมบนฉลากโภชนาการแบบ Guideline Daily Amounts (GDA) ซึ่งจะแสดงเป็นปริมาณต่อหน่วยบรรจุภัณฑ์/ต่อหน่วยการบริโภค และแสดงสัดส่วนร้อยละของปริมาณสูงสุดที่บริโภคได้ต่อวัน

ซึ่งบังคับใช้กับอาหารและเครื่องดื่ม 13 กลุ่ม อาทิ อาหารขบเคี้ยว อาหารกึ่งสำเร็จรูป อาหารพร้อมทานแช่แข็ง/แช่เย็น เช่นเดียวกับในต่างประเทศที่กำหนดให้แสดงปริมาณโซเดียมบนฉลากแบบระดับสีเพื่อให้ผู้บริโภคสังเกตเห็นได้ง่าย เช่น สหราชอาณาจักรกำหนดให้สีแดง สีเหลือง และสีเขียว บ่งบอกปริมาณโซเดียมต่ออาหาร 100 กรัม ระดับสูง ปานกลาง และต่ำ ตามลำดับ

“มองว่าสินค้าอาหารสำเร็จรูปและกึ่งสำเร็จรูป 6 หมวด เป็นกลุ่มสินค้าหลักที่คาดว่าจะได้รับผลกระทบจากการจัดเก็บภาษีความเค็ม ในบรรดาสินค้าอาหารสำเร็จรูปและกึ่งสำเร็จรูปทั้งหมดซึ่งมีมูลค่าตลาดหลายแสนล้านบาทต่อปีนั้น กลุ่มสินค้าอาหารที่มีโซเดียมสูง ซึ่งวัดจากปริมาณโซเดียม (มิลลิกรัม) ต่อหนึ่งบรรจุภัณฑ์ เป็นกลุ่มสินค้าที่เข้าข่ายจะได้รับผลกระทบหากมีการจัดเก็บภาษีความเค็ม”

วิจัยกสิกรฯ ระบุ

จากการสำรวจสุ่มตัวอย่าง ศูนย์วิจัยกสิกรไทย พบว่า กลุ่มสินค้าอาหารที่มีโซเดียมสูงอาจจัดกลุ่มได้เป็น 6 ประเภทเรียงตามลำดับปริมาณโซเดียมต่อหนึ่งบรรจุภัณฑ์จากมากไปน้อยตามลำดับ ได้แก่ บะหมี่กึ่งสำเร็จรูป อาหารแช่เย็น/แช่แข็ง โจ๊กกึ่งสำเร็จรูป อาหารปรุงสำเร็จแบบ Shelf stable ปลากระป๋อง และขนมขบเคี้ยว โดยเบื้องต้นประเมินว่า มูลค่าตลาดของสินค้ากลุ่มนี้ในปี 65 น่าจะอยู่ที่ประมาณ 88,000 ล้านบาท คิดเป็น 18% ของมูลค่าตลาดอาหารสำเร็จรูปและกึ่งสำเร็จรูปทั้งหมด

ดังนั้น ท่ามกลางสถานการณ์ต้นทุนการผลิตที่ปรับเพิ่มขึ้น ทั้งต้นทุนด้านพลังงาน ราคาน้ำมันปาล์ม และข้อจำกัดด้านการขนส่ง ซึ่งสวนทางกับกำลังซื้อที่ต้องใช้เวลาฟื้นตัว และค่าครองชีพที่เร่งตัวขึ้นจากภาวะเงินเฟ้อ ผู้ประกอบการผลิตสินค้าที่มีโซเดียมสูงกลุ่มนี้ ยังอาจเผชิญความท้าทายเพิ่มเติม และต้องเร่งปรับตัวหากภาครัฐมีการประกาศแนวทางปฏิบัติ และบังคับใช้ภาษีความเค็มในอนาคต

อย่างไรก็ดี ศูนย์วิจัยกสิกรไทยมองว่า ในการพิจารณาจัดเก็บภาษีความเค็มนั้น ภาครัฐน่าจะคำนึงถึงช่วงเวลาที่เหมาะสมในการจัดเก็บภาษีเพื่อให้ผู้ผลิตมีระยะเวลาในการปรับตัว โดยแนวทางการจัดเก็บภาษีที่เป็นไปได้ น่าจะเป็นการจัดเก็บจากผู้ผลิตอาหารโดยตรง และใช้อัตราภาษีแบบขั้นบันไดตามปริมาณโซเดียม กล่าวคือ เค็มมาก เก็บภาษีมาก ซึ่งน่าจะกำหนดโครงสร้างอัตราภาษีที่แตกต่างกันสำหรับสินค้าอาหารแต่ละประเภท ในลักษณะเดียวกับการจัดเก็บภาษีความหวานของสินค้าประเภทเครื่องดื่ม

การจัดเก็บภาษีตามปริมาณโซเดียมในอาหารมีการใช้ในบางประเทศ อาทิ ฮังการี และโปรตุเกส ได้จัดเก็บภาษีจากอาหารที่มีปริมาณเกลือสูง ไม่ว่าจะเป็นของขบเคี้ยว เครื่องปรุงรส อาหารสำเร็จรูป ซีเรียล ในอัตรา 0.8 ยูโรต่อกิโลกรัม หากมีปริมาณเกลือเกินกว่า 1 กรัมต่ออาหาร 100 กรัม ทั้งนี้ การจัดเก็บภาษีดังกล่าวส่งผลให้ผู้ผลิตอาหารในฮังการีกว่า 40% ปรับเปลี่ยนสูตรอาหารเพื่อลดปริมาณโซเดียมลง

ส่วนผู้บริโภคอย่างน้อย 14% เปลี่ยนไปเลือกซื้ออาหารสุขภาพทดแทนอาหารที่มีโซเดียมสูง หากภาครัฐมีการจัดเก็บภาษีดังกล่าวในอนาคต ศูนย์วิจัยกสิกรไทยมองว่า ผลกระทบต่อผู้ประกอบการแต่ละกลุ่มยังขึ้นอยู่กับหลายปัจจัย อาทิ อัตราภาษี กรอบเวลาการบังคับใช้ สภาพการแข่งขันของตลาด และความยืดหยุ่นในการปรับตัวของผู้ผลิตอาหารแต่ละประเภท อย่างไรก็ตาม แม้ว่าการจัดเก็บภาษีความเค็มยังคงอยู่ระหว่างการพิจารณา แต่แนวโน้มผู้บริโภคที่หันมาเลือกซื้ออาหารสุขภาพและให้ความสำคัญกับเรื่องสิ่งแวดล้อมมากขึ้น ก็เป็นปัจจัยกระตุ้นให้ผู้ประกอบการต้องเร่งปรับตัว

ศูนย์วิจัยกสิกรไทย มองว่า ผู้ประกอบการส่วนใหญ่น่าจะมุ่งเน้นที่การปรับสูตรอาหารให้มีปริมาณโซเดียมลดลงหรือการใช้เกลือโซเดียมต่ำทดแทน โดยเฉพาะกลุ่มสินค้าอย่างอาหารกระป๋อง บะหมี่กึ่งสำเร็จรูปที่เป็นอาหารพื้นฐาน และมีข้อจำกัดในการปรับเพิ่มราคาสินค้า เนื่องจากผู้บริโภคส่วนใหญ่มีแนวโน้มที่จะเลือกซื้อสินค้าตามปัจจัยด้านราคาเป็นหลัก

ส่วนกลุ่มสินค้าที่มีราคาสูง เช่น บะหมี่กึ่งสำเร็จรูปที่มีราคาต่อหน่วยตั้งแต่ 25 บาทขึ้นไป อาหารแช่เย็น/แช่แข็งแบบพรีเมียม ผู้ประกอบการอาจผลักภาระต้นทุนภาษีไปสู่ราคาสินค้าได้บางส่วน ทั้งนี้ ผู้ประกอบการอาจใช้กลยุทธ์ปรับเปลี่ยนไปสู่การผลิตอาหารสุขภาพมากขึ้นทดแทน เนื่องจากผู้บริโภคที่มีกำลังซื้อมีแนวโน้มความเต็มใจที่จะจ่ายสำหรับสินค้าสุขภาพมากกว่า

อย่างไรก็ดี แม้ว่าการจัดเก็บภาษีความเค็มจะเป็นอีกหนึ่งเครื่องมือ ที่อาจนำมาใช้เพื่อช่วยลดการบริโภคเค็มลง แต่ประสิทธิผลยังขึ้นอยู่กับการใช้มาตรการอื่นๆ ควบคู่ไปด้วย โดยเฉพาะการรณรงค์ให้ผู้บริโภคปรับเปลี่ยนพฤติกรรมการเลือกรับประทานอาหารให้ถูกต้องตามหลักโภชนาการ และการให้ความรู้ถึงความเสี่ยงของโรคจากการบริโภคโซเดียมมากเกินไป

โดย สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (29 ธ.ค. 64)

Tags: , , , , ,