วิจัยกสิกรฯ ลุ้นกนง. 2 ส.ค.ขึ้นดอกเบี้ยอีก 0.25% ปิดจบวัฎจักรขาขึ้นปีนี้

ศูนย์วิจัยกสิกรไทย มองว่า คณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) มีแนวโน้มที่จะปรับขึ้นดอกเบี้ยนโยบายอีก 0.25% มาอยู่ที่ระดับ 2.25% ในการประชุม กนง. วันที่ 2 ส.ค.นี้ ตามที่ได้ส่งสัญญาณไว้ แม้ว่าแรงกดดันด้านเงินเฟ้อจะลดลงอย่างมาก เนื่องจากเศรษฐกิจไทยมีทิศทางฟื้นตัวได้อย่างต่อเนื่อง แต่เงินเฟ้อยังมีความเสี่ยงที่จะเร่งสูงขึ้นอีกครั้งในช่วงครึ่งปีหลังของปีนี้ จึงเป็นปัจจัยสนับสนุนให้ กนง. ยังคงเดินหน้าปรับขึ้นดอกเบี้ยนโยบายต่อไป

ทั้งนี้ เงินเฟ้อทั่วไปของไทยเดือนมิ.ย.66 ลดลงมาแตะระดับต่ำสุดในรอบ 22 เดือนที่ 0.23%YoY สะท้อนแรงกดดันด้านเงินเฟ้อที่อ่อนแรงลงอย่างมาก อย่างไรก็ดี เงินเฟ้อที่ปรับลดลงอย่างมากในช่วงที่ผ่านมา ส่วนหนึ่งเป็นเพราะปัจจัยฐานที่สูงในปีก่อนหน้า

สำหรับทิศทางเงินเฟ้อในช่วงครึ่งปีหลังของปีนี้ ศูนย์วิจัยกสิกรไทย มองว่า ยังคงเผชิญความเสี่ยงที่จะพลิกกลับมาเร่งสูงขึ้นอีกครั้ง ท่ามกลางความไม่แน่นอนเกี่ยวกับแนวโน้มราคาสินค้าโภคภัณฑ์ และการส่งผ่านต้นทุนจากผู้ผลิตไปยังผู้บริโภค ประกอบกับปัญหาสภาพอากาศที่รุนแรงจากเอลนีโญ และปัญหาความตึงเครียดทางด้านภูมิรัฐศาสตร์ ที่อาจส่งผลกระทบต่อการค้าสินค้าโภคภัณฑ์ในตลาดโลก ยังคงเป็นปัจจัยเสี่ยงสำคัญที่อาจเพิ่มแรงกดดันด้านเงินเฟ้อในระยะข้างหน้าได้

นอกจากนี้ แม้ว่าเศรษฐกิจไทยจะยังคงเผชิญความเสี่ยงจากปัญหาการเมืองในประเทศ และจากการชะลอตัวของเศรษฐกิจโลก โดยเฉพาะอย่างยิ่งจากการฟื้นตัวของเศรษฐกิจจีนที่อ่อนแรงลง แต่เศรษฐกิจไทยก็มีแนวโน้มที่จะยังฟื้นตัวได้อย่างต่อเนื่อง โดยคาดว่าเศรษฐกิจไทยในช่วงครึ่งปีหลังของปีนี้ จะขยายตัวได้ในอัตราที่สูงกว่าช่วงครึ่งปีแรก โดยมีปัจจัยสนับสนุนหลักมาจากการฟื้นตัวของภาคการท่องเที่ยว

“ดังนั้น ส่งผลให้ กนง. มีแนวโน้มที่จะยังเดินหน้าปรับขึ้นดอกเบี้ยนโยบายต่อ ในการประชุม กนง.ที่จะถึงนี้ เพื่อเพิ่มขีดความสามารถในการดำเนินนโยบายการเงิน (policy space) สำหรับอนาคต หากมีสถานการณ์ที่ส่งผลให้ กนง.จำเป็นต้องปรับลดดอกเบี้ยนโยบายในระยะข้างหน้า” บทวิเคราะห์ระบุ

ศูนย์วิจัยกสิกรไทย มองว่า การปรับขึ้นดอกเบี้ยนโยบายในการประชุม กนง. วันที่ 2 ส.ค.นี้ อาจจะเป็นการปรับขึ้นดอกเบี้ยนโยบายครั้งสุดท้ายในรอบวัฏจักรดอกเบี้ยขาขึ้น ขณะที่หากเศรษฐกิจไทยยังฟื้นตัวได้ต่อเนื่องในช่วงครึ่งปีหลัง 66 ตามที่คาดการณ์ไว้ กนง. มีแนวโน้มที่จะคงดอกเบี้ยนโยบายที่ระดับ 2.25% ไปอย่างน้อยจนถึงสิ้นปี 66 นี้

ทั้งนี้ ท่ามกลางแรงกดดันด้านเงินเฟ้อที่ลดลง ขณะที่ทิศทางเงินเฟ้อในระยะข้างหน้า มีแนวโน้มที่จะอยู่ในกรอบเป้าหมายของธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ที่ 1-3% แม้ว่าอาจเร่งสูงขึ้นจากระดับใกล้ 0% ในช่วงเดือน พ.ค.-มิ.ย.ที่ผ่านมา ประกอบกับธนาคารกลางต่างๆ ทั่วโลก นำโดยธนาคารกลางสหรัฐฯ (เฟด) เริ่มเข้าใกล้จุดสูงสุดของวัฏจักรดอกเบี้ยขาขึ้นในรอบนี้ ซึ่งส่งผลให้แรงกดดันต่อค่าเงินบาทมีแนวโน้มที่จะลดลง

โดย สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (31 ก.ค. 66)

Tags: , , , , ,