จากการประชุมคณะกรรมการกำหนดนโยบายการเงิน ของธนาคารกลางสหรัฐ (FOMC) วันที่ 17-18 ธ.ค. ซึ่งมีมติไม่เป็นเอกฉันท์ 11 ต่อ 1 เสียง ให้ปรับลดอัตราดอกเบี้ยนโยบาย 0.25% จากระดับ 4.50-4.75% สู่ระดับ 4.25-4.50% ตามตลาดคาด ซึ่งเป็นการปรับลดดอกเบี้ยต่อเนื่องเป็นครั้งที่ 3 หลังจากการปรับลด 0.50% ในเดือนก.ย. และ 0.25% ในเดือนพ.ย. เพื่อสนับสนุนการบรรลุเป้าหมายการจ้างงานสูงสุด และเป้าหมายอัตราเงินเฟ้อที่ 2% ในระยะยาว ท่ามกลางตลาดแรงงานที่ผ่อนคลายลง แต่ตัวเลขอัตราว่างงานยังอยู่ในระดับค่อนข้างต่ำ และเงินเฟ้อที่ปรับลดลง แต่ยังอยู่สูงกว่าเป้าหมาย ขณะที่มองแนวโน้มเศรษฐกิจมีความไม่แน่นอนมากขึ้น
อย่างไรก็ดี ประธานธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) ส่งสัญญาณปรับลดดอกเบี้ยเพียง 2 ครั้งในปี 2568 ซึ่งลดลงจากคาดการณ์รอบก่อน ที่มองว่าจะปรับลดดอกเบี้ยได้ถึง 4 ครั้ง จากความเสี่ยงเงินเฟ้อที่คาดว่าจะไม่ลดลงเร็ว โดยเฟดปรับคาดการณ์เศรษฐกิจ และเงินเฟ้อล่าสุด มีการปรับการขยายตัวทางเศรษฐกิจปี 2567 และ 2568 เพิ่มขึ้น ปรับอัตราการว่างงานปี 2567 และ ปี 2568 ลดลง ขณะเดียวกัน ปรับคาดการณ์เงินเฟ้อปี 2567 และ ปี 2568 เพิ่มขึ้น
ทั้งนี้ ศูนย์วิจัยกสิกรไทย มองว่า เฟดมีแนวโน้มปรับลดดอกเบี้ย 2 ครั้งตาม Dot Plot ล่าสุด แต่ยังมีความเสี่ยงจากนโยบายของสหรัฐฯ ภายใต้การบริหารงานของประธานาธิบดีทรัมป์ โดยเฉพาะอย่างยิ่งจากมาตรการปรับขึ้นภาษีนำเข้า มาตรการกีดกันแรงงานอพยพ และมาตรการลดภาษีเงินได้ ที่อาจเพิ่มแรงกดดันต่อเงินเฟ้อสหรัฐฯ ให้สูงขึ้น
อย่างไรก็ดี หลังผลการประชุม FOMC ออกมา ตลาดหุ้นสหรัฐฯ ปรับลดลงแรง และค่าเงินดอลลาร์แข็งค่าขึ้น โดยดัชนี Dow Jones ปรับลดลง 1,123 จุด ซึ่งเป็นการลดลงติดต่อกันเป็นวันที่ 10 และเป็นการลดลงที่ยาวนานที่สุดตั้งแต่ปี 2517 ในขณะที่ดัชนี S&P 500 และ Nasdaq ก็ปรับลดลงเช่นกัน
ในด้านอัตราแลกเปลี่ยน ค่าเงินดอลลาร์ฯ แข็งค่าขึ้น และส่งผลให้ค่าเงินบาทอ่อนค่ามาแตะระดับอ่อนค่าสุดที่ 34.60 บาท/ดอลลาร์ (ข้อมูล ณ เวลา 09.00 น. วันที่ 19 ธ.ค.67) อ่อนค่าจากระดับ 34.22 บาท/ดอลลาร์ ในช่วงก่อนการประชุม
โดย สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (19 ธ.ค. 67)
Tags: FOMC, ธนาคารกลางสหรัฐ, นโยบายการเงิน