ศูนย์วิจัยกสิกรไทย ประเมินว่า ในการประชุมคณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) วันที่ 31 พ.ค.นี้ คาดว่า กนง. จะปรับขึ้นดอกเบี้ยนโยบายอีก 0.25% ซึ่งเป็นครั้งสุดท้ายในรอบวัฏจักรดอกเบี้ยขาขึ้น มาอยู่ที่ระดับ 2.00% ท่ามกลางแรงกดดันด้านเงินเฟ้อที่ลดลงอย่างมีนัยสำคัญ ประกอบกับแนวโน้มเศรษฐกิจไทยที่เผชิญความเสี่ยงมากขึ้น ขณะที่แรงกดดันจากแนวโน้มนโยบายการเงินแบบตึงตัวของธนาคารกลางต่างๆ ทั่วโลกเริ่มลดลง เนื่องจากธนาคารกลางหลัก เช่น ธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) เริ่มส่งสัญญาณหยุดขึ้นดอกเบี้ยในระยะอันใกล้
นอกจากนี้ เงินเฟ้อทั่วไปของไทยเดือนเม.ย.66 ลดลงมาแตะระดับต่ำสุดในรอบ 16 เดือนที่ 2.67% สะท้อนแรงกดดันด้านเงินเฟ้อที่อ่อนแรงลง ขณะที่แนวโน้มเงินเฟ้อในระยะข้างหน้า คาดว่าจะยังคงมีทิศทางชะลอลงตามฐานที่สูงในปีก่อนหน้า ประกอบกับแนวโน้มราคาน้ำมันดิบในตลาดโลก ที่คาดว่าจะทรงตัวอยู่ในระดับต่ำกว่า 90 ดอลลาร์ฯ ต่อบาร์เรล
“เงินเฟ้อของไทยเดือนเม.ย.66 ลดลงมาอยู่ในกรอบเป้าหมายของธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ที่ 1-3% เป็นเดือนที่ 2 ติดต่อกัน ส่งผลให้ กนง. อาจปรับขึ้นดอกเบี้ยนโยบายอีก 0.25% เป็นครั้งสุดท้ายในรอบวัฏจักรดอกเบี้ยขาขึ้น” บทวิเคราะห์ระบุ
อย่างไรก็ดี ในการประชุม กนง.ครั้งก่อน ได้ส่งสัญญาณว่า กนง. อาจยังไม่หยุดเดินหน้าปรับขึ้นดอกเบี้ย ท่ามกลางความเสี่ยงด้านเงินเฟ้อที่อาจคงอยู่ในระดับสูง จากอุปสงค์ในประเทศที่ฟื้นตัวต่อเนื่อง โดยมีปัจจัยสนับสนุนจากการฟื้นตัวของภาคการท่องเที่ยว ประกอบกับยังมีความไม่แน่นอนเกี่ยวกับการส่งผ่านต้นทุนจากผู้ผลิตไปยังผู้บริโภค รวมถึงแนวโน้มราคาพลังงานและสินค้าโภคภัณฑ์ต่างๆ ในระยะข้างหน้า อาจส่งผลให้ กนง.มีแนวโน้มที่จะเดินหน้าปรับขึ้นดอกเบี้ยนโยบายต่อในการประชุม กนง.วันที่ 31 พ.ค. นี้ตามที่ได้ส่งสัญญาณไว้ เพื่อเพิ่มขีดความสามารถในการดำเนินนโยบายการเงิน (policy space) สำหรับอนาคต หากมีสถานการณ์ที่ส่งผลให้กนง. จำเป็นต้องมีการปรับลดดอกเบี้ยนโยบายในระยะข้างหน้า
ทั้งนี้ ศูนย์วิจัยกสิกรไทย มองว่าในระยะข้างหน้า กนง. มีแนวโน้มที่จะคงดอกเบี้ยที่ระดับ 2.00% ไปตลอดปี 2566 หากเศรษฐกิจไทยยังฟื้นตัวได้ต่อเนื่องในช่วงครึ่งปีหลัง 2566 ตามที่คาดการณ์ไว้
เงินบาทยังมีแนวโน้มผันผวน จากหลายปัจจัยทั้งใน-ตปท.
อย่างไรก็ดี ทิศทางค่าเงินบาท ยังมีแนวโน้มที่จะยังคงเผชิญความผันผวน ท่ามกลางความไม่แน่นอนเกี่ยวกับแนวโน้มเศรษฐกิจ และเงินเฟ้อ ทิศทางนโยบายการเงินของธนาคารกลางหลักทั่วโลก รวมถึงความไม่แน่นอนทางการเมืองในประเทศ
ศูนย์วิจัยกสิกรไทย ประเมินว่า ทิศทางค่าเงินบาทในระยะข้างหน้า จะได้รับปัจจัยหนุนจากดุลบัญชีเดินสะพัดที่คาดว่าจะกลับมาเป็นบวกตามการฟื้นตัวของภาคการท่องเที่ยว
ทั้งนี้ ค่าเงินบาทยังมีแนวโน้มที่จะเผชิญความผันผวนต่อไปในระยะข้างหน้า โดยความไม่แน่นอนเกี่ยวกับการจัดตั้งรัฐบาล คงเป็นปัจจัยที่อาจกดดันค่าเงินบาทให้อ่อนค่าลง ขณะที่ค่าเงินดอลลาร์ฯ อาจได้รับปัจจัยหนุน หากเฟดเดินหน้าปรับขึ้นดอกเบี้ยนโยบายต่อ ต่างจากที่ตลาดส่วนใหญ่คาด ท่ามกลางเงินเฟ้อที่ยังทรงตัวอยู่ในระดับสูงและตลาดแรงงานที่ยังคงแข็งแกร่ง
นอกจากนี้ ความต้องการสกุลเงินดอลลาร์ฯ ในฐานะสินทรัพย์ปลอดภัย (safe haven) ท่ามกลางความเสี่ยงของเศรษฐกิจโลกที่มีมากขึ้นคงจะเป็นอีกปัจจัยที่หนุนให้ค่าเงินดอลลาร์ฯ กลับมาแข็งค่าได้
โดย สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (23 พ.ค. 66)
Tags: กนง., ศูนย์วิจัยกสิกรไทย, อัตราดอกเบี้ยนโยบาย, เศรษฐกิจไทย