วิจัยกสิกรฯ คาดศก.ไทยปี 68 โต 2.4% ชะลอตัวจากสงครามการค้า, ท่องเที่ยว-ส่งออกแผ่ว

น.ส.ณัฐพร ตรีรัตน์ศิริกุล รองกรรมการผู้จัดการ บริษัท ศูนย์วิจัยกสิกรไทย จำกัด เปิดเผยว่า ศูนย์วิจัยกสิกรไทย ประเมินเศรษฐกิจไทยปี 68 คาดว่าจะขยายตัวอยู่ที่ 2.4% ชะลอตัวลงจากปี 67 ซึ่งคาดว่าจะขยายตัว 2.6% เนื่องจากสงครามการค้าซึ่งเป็นปัจจัยเสี่ยงหลัก จากความไม่แน่นอนจากนโยบายของ “โดนัลด์ ทรัมป์” ว่าที่ประธานาธิบดีสหรัฐ ซึ่งส่งผลกระทบทั้งทางตรงและทางอ้อมกับประเทศไทย ที่มีความเปราะบางจากปัญหาเชิงโครงสร้างที่ยังไม่ได้รับการแก้ไข

ขณะที่ปัจจัยในประเทศ ประเมินว่าแรงส่งจากการท่องเที่ยวที่ลดลง ตามจำนวนนักท่องเที่ยวที่เข้าใกล้ระดับก่อนโควิด เช่นเดียวกับการส่งออกที่คาดว่าจะโตช้าลง จากผลกระทบสงครามการค้า ทั้งทางตรงจากนโยบายการขึ้นภาษีนำเข้า และทางอ้อมผ่านตลาดอื่น ๆ ที่ต้องแข่งขันกับสินค้าจีน

อย่างไรก็ตาม การลงทุนภาครัฐขยายตัวดีกว่าปีที่ผ่านมา จากเม็ดเงินเบิกจ่ายงบประมาณที่ต่อเนื่อง ในขณะที่การลงทุนเอกชนปรับตัวดีขึ้นจากปี 2567 ที่หดตัว สอดคล้องไปกับการลงทุนโดยตรงจากต่างประเทศ (FDIs) ที่เข้ามาในอุตสาหกรรมยานยนต์ และอิเล็กทรอนิกส์

พร้อมมองว่า ความเสี่ยงต่อเศรษฐกิจไทยยังมีสูง จากความแน่นอนของสงครามการค้า เศรษฐกิจหลักของโลกชะลอตัวลง โดยเฉพาะจีน และภาคการผลิตของไทย ที่เจอภาวะการแข่งขันสูงจากสินค้าจีน ท่ามกลางขีดความสามารถในการแข่งขันที่ลดลง

สำหรับแนวคิดการปรับโครงสร้างภาษีของภาครัฐนั้น มองว่ารัฐบาลมีความพยายามหาแรงดึงดูดให้มีการลงทุนภายในประเทศเพิ่ม รวมทั้งดึงดูดเม็ดเงินจากต่างชาติด้วยการลดภาษีเงินได้นิติบุคคล แต่จะส่งผลให้การจัดเก็บรายได้ของรัฐบาลลดลง ดังนั้น จึงต้องพิจารณาปรับขึ้นภาษีส่วนอื่น นั่นคือ ภาษีมูลค่าเพิ่ม (VAT) จากปัจจุบันเก็บที่อัตรา 7%

“การปรับเพิ่มภาษี VAT จะก่อให้เกิดเงินเฟ้อ และกระทบกับกลุ่มรายได้น้อย สร้างความเหลื่อมล้ำมากขึ้น ดังนั้นภาครัฐอาจต้องมีมาตรการเสริมเพื่อเยียวยา ทั้งนี้ ต้องติดตามรายละเอียดของการปรับโครงสร้างภาษีต่อไป” น.ส.ณัฐพร ระบุ

ด้าน น.ส.เกวลิน หวังพิชญสุข รองกรรมการผู้จัดการ บริษัท ศูนย์วิจัยกสิกรไทย จำกัด มองว่า ในปี 2568 สถานการณ์อุตสาหกรรมไทย คงจะไม่ดีขึ้นได้มากนัก ท่ามกลางหลายปัจจัยกดดัน ทั้งสงครามการค้าภายใต้นโยบาย “ทรัมป์ 2.0” ซึ่งจะมีผลต่อการส่งออกและการผลิต มาตรการภาครัฐบางเรื่องที่อาจกระทบต้นทุน และประเด็นเชิงโครงสร้าง ที่ยังทำให้การใช้จ่ายเป็นไปด้วยความระมัดระวัง

ส่วนกลุ่มที่ยังฟื้นตัวได้ช้า จะเป็นธุรกิจขนาดกลางถึงล่าง โดยมีความเสี่ยงที่จำนวนผู้ประกอบการภาคการผลิตในธุรกิจรถยนต์ อิเล็กทรอนิกส์ เคมีภัณฑ์ โลหะ แฟชั่น อาจลดลงอีก ส่วนในภาคการค้าและบริการ แม้จำนวนผู้ประกอบการอาจเพิ่ม แต่การยืนระยะทางธุรกิจก็คงไม่ง่ายเช่นกัน

น.ส.ธัญญลักษณ์ วัชระชัยสุรพล รองกรรมการผู้จัดการ บริษัท ศูนย์วิจัยกสิกรไทย จำกัด กล่าวเพิ่มเติมว่า ปี 2568 คาดว่าจะยังเห็นสถานการณ์แนวโน้มสินเชื่อของระบบธนาคารพาณิชย์ไทยเติบโตช้าและต่ำ โดยมีอัตราการขยายตัวราว 0.2% จากปี 2567 ที่คาดว่าจะหดตัว 0.6% ท่ามกลางปัญหาหนี้ครัวเรือนสูง ที่ยังจะกดดันให้สินเชื่อรายย่อยยังหดตัวต่อเนื่อง

ขณะที่หนี้ด้อยคุณภาพ ยังเป็นปัญหาที่ต้องเฝ้าระวังต่อเนื่อง ทั้งฝั่งสินเชื่อรายย่อย รวมถึงฝั่งสินเชื่อ SME โดยศูนย์วิจัยกสิกรไทย ได้วิเคราะห์ข้อมูลสินเชื่อธุรกิจจากฐานข้อมูลบัญชีลูกหนี้นิติบุคคล ซึ่งเป็นข้อมูลสถิติที่ไม่ระบุตัวตนของเครดิตบูโร (NCB) พบ 5 ประเด็นสำคัญ คือ

1. หนี้ธุรกิจไทยกลับมาถดถอยลงตั้งแต่ช่วงปลายปี 2566 ถึงต้นปี 2567 หลังหมดแรงส่งมาตรการช่วยเหลือทางการเงินช่วงโควิด

2. ธุรกิจยิ่งเล็ก ปัญหาหนี้เสียยิ่งรุนแรง

3. สถาบันการเงินทุกประเภทที่ปล่อยสินเชื่อ เผชิญผลกระทบด้านปัญหาหนี้ด้อยคุณภาพชัดเจนขึ้น

4. การเจาะกลุ่มปัญหาหนี้เรื้อรัง คือ ธุรกิจบัญชีเดิมที่เป็นหนี้ด้อยคุณภาพในช่วง 3 ปีที่ผ่านมา พบว่าธุรกิจขนาดเล็กและกลางน่าห่วงมากขึ้น

5. ประเภทธุรกิจหลักที่มีปัญหาหนี้ด้อยคุณภาพ เน้นไปที่อสังหาริมทรัพย์ ค้าส่ง-ค้าปลีก ที่พักและอาหาร และภาคการผลิต ซึ่งสะท้อนปัญหาเฉพาะหน้า อาทิ ปัญหาอำนาจซื้อของผู้บริโภคที่ลดลง การแข่งขันรุนแรง และการฟื้นตัวของธุรกิจที่กระจายไม่ทั่วถึง รวมถึงสะท้อนปัญหาเชิงโครงสร้างจากความสามารถในการแข่งขันที่ถดถอย ซึ่งจากผลสำรวจความคิดเห็นของผู้ประกอบการ SME ณ สิ้นเดือนพ.ย.67 ชี้ว่าการสนับสนุนเศรษฐกิจภาพรวมให้เติบโตต่อเนื่อง เพื่อให้เกิดผลดีต่อรายได้ของธุรกิจ จะเป็นหนึ่งในทางออกที่ยั่งยืน

ด้านนายบุรินทร์ อดุลวัฒนะ กรรมการผู้จัดการ และ Chief Economist บริษัท ศูนย์วิจัยกสิกรไทย จำกัด มองว่า การกลับมาดำรงตำแหน่งประธานาธิบดีสหรัฐฯ อีกครั้งของ “โดนัลด์ ทรัมป์” ได้สร้างความไม่แน่นอนขึ้นต่อการลงทุนและการค้าโลก โดยเฉพาะอย่างยิ่ง นโยบายการขึ้นภาษีนำเข้าที่ต้องรอความชัดเจนในต้นปีหน้า ซึ่งได้ก่อให้เกิดความกังวลว่าเศรษฐกิจโลกจะซบเซาเหมือนช่วงทศวรรษ 1930

นอกจากนั้น นโยบาย America First จะทำให้มีการเปลี่ยนระเบียบโลก (Global Order) สร้างความเสี่ยงต่อองค์กรระหว่างประเทศ เช่น องค์การการค้าโลก (WTO) และองค์การสนธิสัญญาแอตแลนติกเหนือ (NATO) ได้

โดย สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (04 ธ.ค. 67)

Tags: , , , ,