วิจัยกรุงศรี ปรับเพิ่มคาดการณ์อัตราเงินเฟ้อในปีนี้ขึ้นเป็น 2.0% (เดิมคาด1.5%) หลังเดือนแรกของปีพุ่งแตะระดับสูงสุดในรอบ 8 เดือนที่ 3.23% YoY เร่งขึ้นจาก 2.17% เดือนธันวาคม 64 สาเหตุสำคัญจากการเพิ่มขึ้นของราคาน้ำมันเชื้อเพลิงในประเทศ (+27.9%) ตามราคาน้ำมันดิบในตลาดโลกที่ปรับเร่งขึ้น ผนวกกับการเพิ่มขึ้นของราคาสินค้าในกลุ่มอาหารบางประเภท โดยเฉพาะเนื้อสุกร และน้ำมันพืช ด้านอัตราเงินเฟ้อพื้นฐาน (หักราคาหมวดอาหารสดและพลังงาน) เร่งขึ้นมาอยู่ที่ 0.52% จาก 0.29% เดือนธันวาคม 64
วิจัยกรุงศรี ระบุว่า อัตราเงินเฟ้อที่เร่งขึ้นมาก และยังมีแนวโน้มอยู่เหนือกรอบเงินเฟ้อเป้าหมายของทางการในไตรมาสแรกของปีนี้ ส่วนหนึ่งเป็นผลจากฐานที่ต่ำมากในช่วงเดียวกันปีก่อน ประกอบกับคาดว่าราคาน้ำมันดิบในตลาดโลกจะยังทรงตัวในระดับสูง เนื่องจากปัญหาอุปทานน้ำมันที่มีแนวโน้มฟื้นตัวช้ากว่าอุปสงค์ในช่วงครึ่งปีแรกก่อนที่จะบรรเทาลงในช่วงครึ่งปีหลัง รวมทั้งสถานการณ์ความตึงเครียดระหว่างรัสเซียกับยูเครน แรงกดดันทางด้านราคาโดยเฉพาะในหมวดพลังงานจึงเพิ่มมากกว่าคาด กระทบต้นทุนการผลิตสูงขึ้น วิจัยกรุงศรีได้ปรับเพิ่มคาดการณ์อัตราเงินเฟ้อในปีนี้ขึ้นเป็น 2.0% (เดิมคาด 1.5%)
มุมมองด้านดอกเบี้ยนโยบาย แม้อัตราเงินเฟ้อมีแนวโน้มสูงกว่าคาด ซึ่งเป็นผลจากด้านอุปทานตามราคาพลังงานที่ปรับเร่งขึ้น ขณะที่การฟื้นตัวเศรษฐกิจยังเปราะบาง ท่ามกลางกำลังซื้อที่อ่อนแอ และหนี้ครัวเรือนอยู่ในระดับสูง อีกทั้งยังต้องพึ่งพามาตรการทางการคลังในการกระตุ้นเศรษฐกิจ การดำเนินนโยบายการเงินที่ผ่อนคลาย จึงยังมีความจำเป็นและเหมาะสมกับสถานการณ์ในปัจจุบัน จึงคาดว่าคณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) จะคงอัตราดอกเบี้ยนโยบายไว้ที่ระดับต่ำสุดเป็นประวัติการณ์ที่ 0.50% ในการประชุมกลางสัปดาห์นี้ และมีแนวโน้มที่จะตรึงดอกเบี้ยไว้ตลอดทั้งปี 65
วิจัยกรุงศรี มองว่า ความต่อเนื่องในการฟื้นตัวของเศรษฐกิจจากไตรมาสสุดท้ายของปี 64 อาจชะงักลงเล็กน้อยในช่วงต้นปีนี้ เมื่อต้องเผชิญกับการระบาดของไวรัสโอมิครอน อย่างไรก็ตาม คาดว่าผลกระทบจะอยู่ในวงจำกัดและเป็นผลระยะสั้น แม้ปัจจุบันจำนวนผู้ติดเชื้อรายวันยังอยู่ในระดับสูง แต่อัตราการเสียชีวิตค่อนข้างต่ำ สะท้อนมาตรการควบคุมอาจไม่เข้มงวดเท่ากับการระบาดในรอบก่อนหน้า ประกอบกับการฉีดวัคซีนเพื่อเร่งสร้างภูมิต้านทานมีความคืบหน้าอย่างมาก
นอกจากนี้ ล่าสุดทางการออกมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจวงเงิน 5.32 หมื่นล้านบาท เพื่อประคองกำลังซื้อของผู้บริโภค และสนับสนุนการท่องเที่ยวภายในประเทศ ซึ่งคาดว่าจะช่วยทำให้มีเม็ดเงินหมุนเวียนในระบบเศรษฐกิจได้กว่าแสนล้านบาท อีกทั้งแรงส่งเชิงบวกจากภาคส่งออกที่ยังมีทิศทางเติบโตตามการฟื้นตัวของเศรษฐกิจประเทศคู่ค้า รวมถึงจำนวนนักท่องเที่ยวต่างชาติที่มีแนวโน้มฟื้นตัวหลังจากมีการกลับมาใช้มาตรการ Test & GO วิจัยกรุงศรี จึงยังคงคาดการณ์เศรษฐกิจในปีนี้จะเติบโตที่ 3.7%
โดย สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (08 ก.พ. 65)
Tags: กนง., ดอกเบี้ยนโยบาย, วิจัยกรุงศรี, เงินเฟ้อ, เศรษฐกิจไทย