นายอนุสรณ์ ธรรมใจ อดีตกรรมการนโยบายและกำกับการบริหารหนี้สาธารณะ กระทรวงการคลัง และอดีตกรรมการและประธานกรรมการบริหารความเสี่ยง ธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธกส) เปิดเผยว่า สถานการณ์วิกฤตการณ์ภาคอสังหาริมทรัพย์และภาคการเงินของจีนได้ลุกลามสู่ธุรกิจอุตสาหกรรมอื่นๆ แม้นทางการจีนจะใช้ทั้งมาตรการผ่อนคลายทางการเงินและผ่อนคลายทางการคลังก็ไม่สามารถแก้ไขปัญหาได้เพียงช่วยบรรเทาปัญหาวิกฤติไม่ให้ลุกลามไปสู่ภาวะเศรษฐกิจตกต่ำรุนแรงและภาวะเรื้อรังของภาวะเงินฝืด
ภาวะวิกฤติในภาคอสังหาริมทรัพย์และภาคการเงินของจีนนั้นเป็นผลจากการลงทุนเกินขนาดมีภาวะอุปทานส่วนเกินอยู่จำนวนมาก มีการเก็งกำไรปั่นฟองสบู่ราคาอสังหาริมทรัพย์ให้สูงเกินจริง ขณะที่อุปสงค์หดตัวอย่างรุนแรงช่วงการแพร่ระบาดของโควิดและการล็อคดาวน์อย่างเข้มงวด รัฐบาลจีนได้ควบคุมบรรดาผู้พัฒนาอสังหาริมทรัพย์ที่ก่อหนี้เกินตัวและพฤติกรรมเก็งกำไรในตลาดอสังหาริมทรัพย์ตั้งแต่ปี พ.ศ. 2564 เป็นต้นมา แต่การดำเนินล่าช้าเกินไปสถานการณ์ฟองสบู่เก็งกำไรในตลาดอสังหาริมทรัพย์และปัญหาหนี้เสียที่ซ่อนอยู่ในสถาบันการเงินและธนาคารเงาได้ลุกลามเกินเยียวยาด้วยมาตรการตามปรกติแล้ว
ในที่สุด บริษัทผู้พัฒนาอสังหาริมทรัพย์รายใหญ่ต่างผิดนัดชำระหนี้ และเข้าสู่กระบวนการล้มละลายตั้งแต่ “เอเวอร์แกรนด์” ไปจนถึง “คันทรี การ์เดน” และล่าสุด ไชน่า อาวหยวน ซึ่งมีสำนักงานใหญ่ในกว่างโจว มีรายการหนี้สินในต่างประเทศทั้งหมดราว 6,000 ล้านดอลลาร์ (กว่า 2 แสนล้านบาท) ผิดนัดชำระหนี้และเข้าสู่กระบวนการล้มละลายโดยยื่นขอพิทักษ์ศาลล้มละลายในสหรัฐอเมริกา ยอดขายอสังหาริมทรัพย์ยังคงดิ่งลงต่อเนื่อง ปัญหาการล้มละลายของภาคอสังหาริมทรัพย์ได้กดดันให้ภาคการเงินและตลาดการเงินของจีนอ่อนแอลง และ ผลกระทบต่อเนื่องมายังอุตสาหกรรมวัสดุก่อสร้าง อุตสาหกรรมเหล็ก อุตสาหกรรมซีเมนต์
คาดว่าการลงทุนโดยตรงจากต่างประเทศ (FDI) ของจีนนั้นปรับตัวลดลงมากกว่า 20% ในปีนี้จากบรรษัทข้ามชาติจำนวนมากพิจารณากระจายความเสี่ยงด้านห่วงโซ่อุปทานและการดำเนินการเพื่อลดการพึ่งพาฐานการผลิตในจีนจากผลกระทบของสงครามการค้าและมาตรการกีดกันทางการค้าจีนต้องเลือกใช้มาตรการปฏิรูปและปรับโครงสร้างเศรษฐกิจมากขึ้นไม่สามารถพึ่งพานโยบายกระตุ้นเศรษฐกิจแบบที่เคยใช้ได้ผลในอดีตได้อีกต่อไป
ผลของการปฏิรูปและปรับโครงสร้างเศรษฐกิจ การทุ่มตลาดของสินค้าจีนการขยายห่วงโซ่อุปทานของจีนในอาเซียน ล้วนส่งผลต่อเศรษฐกิจไทยและภูมิภาคทั้งทางบวกและทางลบอย่างไม่อาจหลีกเลี่ยงได้ ประกอบกับยังไม่มีการปรับลดดอกเบี้ยนโยบายในประเทศไทยในขณะนี้ แต่คาดว่าทั้งปีน่าจะมีการปรับลดอัตราดอกเบี้ยนโยบายโดยคณะกรรมการกำหนดนโยบายของแบงก์ชาติอย่างน้อย 1-2 ครั้ง
ดัชนีราคาผู้บริโภคเดือนมีนาคมของสหรัฐอเมริกายังคงปรับตัวสูงขึ้น อัตราเงินเฟ้อทั่วไปอยู่ที่ 3.5% ทำให้โอกาสของการปรับลดอัตราดอกเบี้ยของธนาคารกลางสหรัฐฯในเดือนมิถุนายนมีความเป็นไปได้น้อยลง ส่วนต่างของอัตราดอกเบี้ยดอลลาร์สหรัฐฯและอัตราดอกเบี้ยบาทจึงไม่ได้เป็นปัจจัยที่กำหนดการเคลื่อนย้ายเงินทุนแต่อย่างใด โดยเฉพาะอย่างยิ่งการลงทุนโดยตรงจากต่างประเทศ
ปัจจัยผลตอบแทนจากการลงทุนที่ปรับความเสี่ยงแล้ว ปัจจัยคุณภาพของทุนมนุษย์ ปัจจัยความพร้อมของโครงสร้างพื้นฐานทางเศรษฐกิจ ปัจจัยเชิงสถาบันและเสถียรภาพของระบบการเมืองมีความสำคัญกว่าส่วนต่างของอัตราดอกเบี้ย เศรษฐกิจไทย เศรษฐกิจอาเซียน เศรษฐกิจจีนเป็นห่วงโซ่อุปทานเดียวกันและพึ่งพาอาศัยกันในสัดส่วนสูงเมื่อเศรษฐกิจจีนชะลอตัวลงอย่างมาก ย่อมส่งผลกระทบต่อไทยและภูมิภาค
ปัจจัยนี้จะสร้างแรงกดดันต่อการฟื้นตัวและอัตราการขยายตัวทางเศรษฐกิจของไทย ในที่สุดคาดรัฐบาลอาจต้องขยับเพดาน ภาระผูกพันตามมาตรา 28 เป็น 35% ของงบประมาณในอนาคตหากต้องใช้มาตรากึ่งการคลังดูแลเศรษฐกิจเพิ่มเติม เพราะการใช้สภาพคล่องและกู้เงินจาก ธกส เพื่อใช้ในโครงการแจกเงินดิจิทัล 10,000 บาทจะทำให้ภาระผูกพันตามมาตรา 28 แตะเพดาน 32% ของงบประมาณอันเป็นเพดานที่ขยับลงมาจากระดับ 35%ก่อนหน้านี้
สัดส่วนที่คณะกรรมการนโยบายการเงินการคลังของรัฐกำหนดไว้ที่ไม่เกินร้อยละ 35 ของงบประมาณรายจ่ายประจำปี 2565 ได้ถูกขยับลงมาหลังจากรัฐบาลชุดที่แล้วได้จัดสรรเงินงบประมาณชำระคืนภาระยอดคงค้างตามมาตรา 28 จำนวน 104,472 ล้านบาท คิดเป็นสัดส่วน 3.28% ของงบประมาณรายจ่ายประจำปี โดยภายในการสิ้นสุดปีงบประมาณ 2566 จะต้องมียอดหนี้คงค้างตามมาตรา28 ไม่เกิน 32% ตามที่คณะกรรมการกำหนด
หากย้อนกลับไปปลายปี พ.ศ. 2565 รัฐบาลประยุทธ์ได้มีการขยายเพดานหนี้ในมาตรา 28 ตาม พ.ร.บ.วินัยการเงินการคลังของภาครัฐ ในส่วนการก่อหนี้ภาครัฐต่อสัดส่วนงบประมาณจากเดิมที่กำหนดไว้ที่ 30% เป็น 35% เป็นเวลาชั่วคราว 1 ปี ก่อนที่จะปรับลงมาเป็น 32% แต่ ตนคาดว่า หากเศรษฐกิจไทยไม่สามารถขยายตัวได้เต็มศักยภาพในระดับ 5-6% รัฐบาลเศรษฐาอาจจำเป็นต้องขยับเพดานไปที่ระดับ 35% อีกครั้งหนึ่งเพื่อใช้ก่อภาระผูกพันนำเงินนอกงบประมาณหรือมาตรการกึ่งการคลังไปดูแลเศรษฐกิจในอนาคต
นายอนุสรณ์ กล่าวว่า ธ.ก.ส. เป็นสถาบันการเงินเฉพาะกิจของรัฐที่ต้องปฏิบัติตามพันธกิจที่กำหนดไว้ตามกฎหมายและตอบสนองต่อนโยบายของรัฐบาลที่เข้ามาปฏิบัติหน้าที่ในแต่ละช่วงเวลา ธ.ก.ส. เป็นองค์กรสนับสนุนมาตรการแทรกแซงราคาสินค้าเกษตรเพื่อช่วยเหลือเกษตรกรตามนโยบายประกันรายได้ จำนำสินค้าเกษตร สนับสนุนกองทุนต่างๆเพื่อช่วยเหลือเกษตรกรตามนโยบายของรัฐบาลหลายชุดมาอย่างต่อเนื่อง
การใช้สภาพคล่องที่เหลืออยู่ของ ธ.ก.ส. ในการสนับสนุบโครงการแจกเงินดิจิทัล วอลเลต หรือ กู้เงิน 1.7 แสนล้านจากธนาคาร ธกส เพื่อดำเนินการในมาตรการดังกล่าว สามารถทำได้บนเงื่อนไขดังต่อไปนี้
-
ประการแรก ต้องมีความมั่นใจว่า ธ.ก.ส. มีสภาพคล่องเพียงพอในการสนับสนุนโครงการดังกล่าวโดยไม่กระทบต่อสภาพคล่องของ ธกส ในการดำเนินงานตามพันธกิจสำคัญ
-
ประการที่สอง ต้องทำให้เกิดความมั่นใจต่อการดำเนินงานของ ธกส และไม่มีการถอนเงินฝากหรือสภาพคล่องออกจาก ธกส มากกว่าปรกติ
-
ประการที่สาม มีการบันทึกบัญชีแยกออกจากกันอย่างชัดเจน ระหว่าง บัญชีดำเนินการตามปรกติ และบัญชีดำเนินการเพื่อสนับสนุนนโยบายของรัฐโดยเฉพาะนโยบายแจกเงินดิจิทัล วอลเลต 10,000 บาท
-
ประการที่สี่ มีการทำแผนการชำระเงินคืนและชดเชยรายได้จากการดำเนินการแจกเงินดิจิทัลให้เกษตรกร
โดยกำหนดให้กระทรวงการคลังต้องจัดสรรงบประมาณจ่ายชดเชยและชำระคืนให้ ธกส อย่างชัดเจนอย่างน้อยปีละ 4-5 หมื่นล้าน หากสามารถดำเนินการสนับสนุนการแจกเงินดิจิทัล 10,000 บาท ให้เป็นไปตามกฎหมายและมีการบริหารจัดการความเสี่ยงได้ดี ก็จะไม่มีปัญหาใดๆต่อฐานะทางการเงินของ ธกส และ สามารถดำเนินการสนับสนุนนโยบายดังกล่าวได้
เป้าหมายของจัดตั้ง ธ.ก.ส. ก็เพื่อให้มีสถาบันการเงินช่วยเหลือทางการเงินแก่เกษตรกร กลุ่มเกษตรกร หรือสหกรณ์การเกษตร ฉะนั้น เงินที่เกษตรกรได้รับแจกไปจาก ธกส ควรต้องเป็นเงินที่นำไปประกอบอาชีพเพื่อเพิ่มรายได้ นำไปพัฒนาความรู้ในด้านเกษตรกรรมหรือพัฒนาความรู้ หรือ นำไปลงเพื่อประกอบอาชีพอื่นเพื่อเพิ่มรายได้และพัฒนาคุณภาพชีวิตของตัวเองและ
-
ประการที่ห้า การแจกเงินดิจิทัล วอลเลต ผ่านการใช้สภาพคล่อง ธกส เป็นการดำเนินการมาตรการกึ่งการคลังและก่อภาระผูกพันผ่านหน่วยงานของรัฐ ซึ่งการดำเนินการในลักษณะดังกล่าวต้องอยู่ในกรอบมาตรา 28 พ.ร.บ.วินัยการเงินการคลังของรัฐ อันเป็นมาตราที่กำหนดไว้เพื่อ ควบคุมไม่ให้รัฐบาลใช้จ่ายเงินเกินตัว
รัฐบาลสามารถขยับเพดานหนี้และภาระผูกพันตามมาตรา 28 กฎหมายวินัยการเงินการคลังจาก 32% เป็น 35% ของงบประมาณได้ หากมีความจำเป็นที่ต้องใช้เงินนอกงบประมาณในการดูแลประชาชนหรือแก้ไขปัญหาทางเศรษฐกิจ แต่พึงตระหนักว่า ภาระผูกพันเหล่านี้จะกลายเป็นหนี้สาธารณะได้หากรัฐบาลไม่สามาถเก็บภาษีหรือหารายได้เพิ่มขึ้นได้ในอนาคต
นายอนุสรณ์ ได้เสนอความเห็นเพิ่มเติม ว่าการให้สถาบันการเงินเฉพาะกิจของรัฐ ทำกิจกรรม มาตรการ หรือสนับสนุนนโยบายรัฐ แล้วทยอยตั้งงบประมาณมาชดเชยค่าใช้จ่ายและรายได้ให้กับรัฐวิสาหกิจในภายหลังตามมาตรา 28 นี้ถือเป็นเงินนอกงบประมาณเป็น “มาตรการกึ่งการคลัง” (quasi-fiscal Measures) จึงไม่นับวงเงินที่ใช้เข้ามารวมอยู่ในหนี้สาธารณะในครั้งแรก อาจก่อให้เกิดการประเมินหนี้สาธารณะต่ำกว่าความจริงได้ ปลายปี 2567 นี้รัฐบาลจะให้ธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.) ดูแลกลุ่มประชาชนที่เป็นเกษตรกรจำนวน 17 ล้านคน ผ่านกลไกมาตรา 28 ของปีงบประมาณ 68 สามารถเดินหน้าดำเนินการได้แต่ แนวทางและเงื่อนไข 5 ประการในบริหารความเสี่ยงภายใต้การกำกับดูแลกิจการที่ดี (Good Governance)ที่ได้เสนอไปจะทำให้มาตรการบรรลุเป้าหมายทางเศรษฐกิจทั้งมิติการเติบโต มิติความเป็นธรรมและไม่ก่อให้เกิดความเสี่ยงทางการคลังมากขึ้นในอนาคต
โดย สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (14 เม.ย. 67)
Tags: อนุสรณ์ ธรรมใจ, เศรษฐกิจจีน, เศรษฐกิจสหรัฐ, เศรษฐกิจไทย