วิกฤตสื่อไทย ปี 67 ถูกคุกคามสิทธิเสรีภาพ-ถูกเลิกจ้าง

สมาคมนักข่าวนักหนังสือพิมพ์แห่งประเทศไทย ออกรายงานสถานการณ์สื่อมวลชนในรอบปี 67 “ปีแห่งความยากลำบากของสื่อมวลชน” โดยระบุว่า ตลอดปี 67 ที่กำลังจะผ่านไป สื่อมวลชนยังคงต้องเผชิญกับการเปลี่ยนแปลงด้านต่าง ๆ อย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะผลกระทบจากเทคโนโลยีดิจิทัลที่ก้าวหน้าไม่หยุดนิ่ง ทำให้พฤติกรรมของผู้บริโภคสื่อเปลี่ยนแปลงตลอดเวลา โดยเฉพาะการเข้าถึงข้อมูลข่าวสารผ่านแพลตฟอร์มออนไลน์ ถือเป็นประเด็นที่ท้าทายต่อการทำงานของสื่อมวลชนทั้งในเรื่องความน่าเชื่อถือของข่าว และการปรับตัวจากผลกระทบของปัญหาเศรษฐกิจ

ทั้งนี้ จากสถานการณ์ดังกล่าวในภาพรวม อาจส่งผลกระทบต่อสื่อมวลชนในประเด็นหลัก 2 ประการ คือ

1. ปัญหาการละเมิดสิทธิและเสรีภาพสื่อมวลชน

1.1 เจ้าหน้าที่ตำรวจ สน.พระราชวัง เข้าจับกุมนายณัฐพล เมฆโสภณ ผู้สื่อข่าวสำนักข่าวประชาไท และนายณัฐพล พันธ์พงษ์สานนท์ ช่างภาพอิสระ เมื่อวันที่ 12 ก.พ. 67 ตามหมายจับของศาล ข้อหาสนับสนุนให้มีการกระทำผิดตาม พ.ร.บ.โบราณสถาน และพ.ร.บ.การรักษาความสะอาด จากการไปรายงานข่าวและถ่ายภาพบุคคลที่กำลังพ่นสีเขียนข้อความที่กำแพงวัดพระศรีรัตนศาสดาราม (วัดพระแก้ว) ในวันที่ 28 มี.ค. 66 โดยนำไปเกี่ยวโยงกับเคลื่อนไหวของกลุ่มทะลุวัง ในการแก้ไขประมวลกฎหมายอาญามาตรา 112 ในขณะนั้น ซึ่งอาจเข้าข่ายกระทบต่อสถาบัน

ทั้งนี้ ทั้งสองคนได้ถูกนำตัวไปคุมขังไว้ 1 คืน ขณะที่องค์กรวิชาชีพสื่อออกแถลงการณ์แสดงความเป็นห่วงต่อการทำหน้าที่ของเจ้าหน้าที่ตำรวจที่อาจเข้าข่ายคุกคาม และละเมิดสิทธิเสรีภาพในการนำเสนอข้อมูลข่าวสารของสื่อมวลชนที่ได้รับการรับรองโดยรัฐธรรมนูญ และมองว่าการจับกุมของเจ้าหน้าที่ โดยไม่มีหมายเรียกเป็นการกระทำเกินกว่าเหตุ และเป็นการปรามสื่อถึงการรายงานข่าวที่เกี่ยวข้องกับการแก้ไขประมวลกฎหมายอาญามาตรา 112 ก่อนที่ศาลอนุญาตให้ประกันตัวออกมาภายหลัง

1.2 หลังการเปลี่ยนรัฐบาลเมื่อเดือนสิงหาคม พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ หัวหน้าพรรคพลังประชารัฐ อดีตรองนายกรัฐมนตรี ถูกผู้สื่อข่าวไทยพีบีเอสซักถามถึงการที่ไม่เข้าร่วมประชุมสภาเพื่อลงมติเลือก น.ส.แพทองธาร ชินวัตร เป็นนายกรัฐมนตรี พล.อ.ประวิตร มีท่าทีฉุนเฉียว พร้อมใช้มือผลักไปที่ศีรษะของผู้สื่อข่าวสุภาพสตรี ก่อนจะรีบเดินขึ้นรถไป

กรณีนี้องค์กรวิชาชีพสื่อมวลชน ได้ออกแถลงการณ์ประณามพฤติกรรม การข่มขู่ คุกคามสิทธิเสรีภาพ ถือเป็นการใช้ความรุนแรงและไม่ให้เกียรติต่อผู้สื่อข่าว มีการยื่นเรื่องถึงประธานสภาผู้แทนราษฎร เพื่อตรวจสอบจริยธรรมของ พล.อ.ประวิตร พร้อมทั้งเรียกร้องให้แสดงความรับผิดชอบต่อการกระทำดังกล่าว

1.3 กรณีที่ สส.พรรคเพื่อไทย ไม่พอใจการทำหน้าที่ของสื่อมวลชนอาวุโสบางราย ที่วิพากษ์วิจารณ์นายกรัฐมนตรี และเรียกร้องให้สถานีโทรทัศน์ไทยพีบีเอส พิจารณาถอดรายการบางรายการเพื่อไม่ให้ผู้ที่ไม่เป็นกลาง มาจัดรายการตำหนิรัฐบาล ซึ่งเป็นการพูดในระหว่างที่คณะกรรมการนโยบายและผู้บริหารของไทยพีบีเอสเข้ารายงานผลการปฏิบัติงานประจำปี 2566 ต่อสภาผู้แทนราษฎร ทำให้ถูกมองว่าเป็นการข่มขู่สื่อมวลชนกลางสภาฯ

โดยจากทั้ง 3 เหตุการณ์ข้างต้น ย่อมมีผลต่อการลดทอนคุณภาพในการทำหน้าที่ของสื่อมวลชนลงได้ เป็นที่มาของการที่สื่อมวลชนต้องเซ็นเชอร์ตนเอง จากสถานการณ์ต่าง ๆ ที่เกิดขึ้นในสังคมบางกรณี โดยผู้สื่อข่าวและองค์กรสื่อมวลชนจึงมีความจำเป็นต้องการรายงานข้อมูลข่าวสารไปตามสถานการณ์เบื้องต้นเท่านั้น เนื่องจากต้องการหลีกเลี่ยงประเด็นอ่อนไหวต่าง ๆ และเพื่อเป็นการป้องกันการเผชิญหน้ากับการโจมตีจากกลุ่มผลประโยชน์หรือผลกระทบทางกฎหมาย หรือเพื่อป้องกันตัวเองเพื่อไม่ให้ถูกดำเนินคดีตามมา

2. ปัญหาการเลิกจ้างสื่อ และการปรับตัวเข้ากับแพลตฟอร์มออนไลน์

สืบเนื่องจากปัญหาทางด้านเศรษฐกิจของสื่อมวลชนในยุคปัจจุบัน พบว่า รายได้ที่มาจากโฆษณาต่าง ๆ ลดลงอย่างต่อเนื่อง ทำให้หลายสื่อมวลชนหลายองค์กรต้องพึ่งพาแหล่งทุนที่เป็นหน่วยงานของภาครัฐบาลและกลุ่มทุนขนาดใหญ่ ส่งผลให้สื่อมวลชนเกิดความเกรงใจอันเนื่องมาจากความจำเป็นในการพึ่งพางบประมาณค่าโฆษณาประชาสัมพันธ์ของหน่วยงาน จนไม่สามารถตรวจสอบ วิพากษ์วิจารณ์นโยบายสาธารณะหรือกลุ่มทุนภาคธุรกิจที่ให้การสนับสนุนได้อย่างเต็มที่ นอกจากนี้ รูปแบบของการใช้แพลตฟอร์มออนไลน์ที่มีการแข่งขันกันสูงขึ้นเรื่อย ๆ ทำให้เห็นได้ว่า การนำเสนอเนื้อหาสาระมักจะมุ่งเน้นที่ความนิยมหรือเรตติ้ง มากกว่าคุณภาพของข้อมูลข่าวสารที่นำเสนอ

ปัจจุบัน ผู้บริโภคสื่อหันมาใช้แพลตฟอร์มออนไลน์มากขึ้น ไม่ว่าจะเป็นการใช้สื่อสังคมออนไลน์ ประเภทต่าง ๆ รวมถึงการใช้เว็บไซต์ข่าวที่ไม่มีการเก็บค่าบริการ ส่งผลให้การจำหน่ายหนังสือพิมพ์และนิตยสารแบบดั้งเดิมลดลง นอกจากนี้ ผู้บริโภคยังสามารถเข้าถึงข้อมูลข่าวสารผ่านช่องทางที่หลากหลายโดยไม่เสียค่าบริการ ดังนั้น ความท้าทายของการนำเสนอข่าวสารบนแพลตฟอร์มออนไลน์คือ ทำอย่างไรจึงสามารถทำให้ผู้บริโภคสมัครใจที่จะเข้าสู่การสมัครสมาชิกได้อย่างไม่มีข้อจำกัด ซึ่งค่อนข้างเป็นไปได้ยากในบริบทของสังคมไทย

ดังนั้น เมื่อองค์กรสื่อมวลชนต้องสูญเสียรายได้จากโฆษณา เพราะภาคธุรกิจเลือกใช้แพลตฟอร์มออนไลน์เช่น Google หรือ Facebook ส่งผลให้สื่อมวลชนขาดรายได้ที่จะมาสนับสนุนการผลิตข้อมูลข่าวสารที่มีคุณภาพในปัจจุบัน สถานการณ์เช่นนี้ ส่งผลกระทบอย่างเห็นได้ชัดต่อองค์กรสื่อมวลชน

โดยตลอดปี 67 องค์กรสื่อมวลชนหลายองค์กรจำเป็นปรับโครงสร้างขนานใหญ่ด้วยการเลิกจ้างพนักงาน โดยเฉพาะสื่อทีวีที่มีปัญหาการขาดทุนสะสม เช่น กรณีสถานีโทรทัศน์ออนไลน์ Voice TV ปิดตัวลงเมื่อเดือนพ.ค. 67 หลังจากดำเนินกิจการมากว่า 15 ปี พนักงานกว่า 200 คนต้องถูกเลิกจ้าง/ สถานีโทรทัศน์ Mono29 ประกาศเลิกจ้างพนักงานกว่า 100 คน/ เครือเนชั่น ออกมาตรการพักการจ่ายเงินเดือน 10% ให้แก่พนักงานที่มีเงินเดือนตั้งแต่ 50,000 บาทขึ้นไปเป็นเวลา 6 เดือน และในเดือนพ.ย. ที่ผ่านมา ช่อง 3 ปรับโครงสร้างองค์กรครั้งใหญ่ เลิกจ้างพนักงานเกือบ 300 คน ขณะที่หนังสือพิมพ์ไทยรัฐเปิดโครงการให้พนักงานลาออกโดยสมัครใจ นอกจากนี้ ยังมีสื่อทีวีหลายช่องและองค์กรสื่อมวลชนหลายสำนักที่มีการปรับโครงสร้างด้วยการเลิกจ้างพนักงาน หรือพักการจ่ายเงินเดือนบางส่วน

ดังนั้น ปี 67 จึงเป็นปีแห่งความยากลำบากขององค์กรสื่อมวลชน ตลอดจนผู้ประกอบวิชาชีพสื่อมวลชนที่ต้องเผชิญกับความไม่มั่นคงทางวิชาชีพ กระทบต่อสิทธิเสรีภาพของสื่อในการทำหน้าที่นำเสนอข้อมูลข่าวสารอย่างตรงไปตรงมา

ภาวะความผันผวนนี้ สะท้อนให้เห็นถึงความจำเป็นที่องค์กรสื่อมวลชนจะต้องปรับตัว และสร้างความแตกต่างเพื่อความอยู่รอดในระยะยาวได้อย่างมั่นคงต่อไป

โดย สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (26 ธ.ค. 67)

Tags: , , ,