นายวันมูหะมัดนอร์ มะทา ประธานรัฐสภา กล่าวถึงเรื่องเสียงวิพากษ์วิจารณ์ทั้งในโซเชียล และสมาชิกรัฐสภาหรือทัวร์ลงนั้น จากการทำหน้าที่ในการประชุมรัฐสภาวันที่ 19 ก.ค. ที่ผ่านมานั้นว่า ใครจะคิดเห็นอย่างไรก็เป็นสิทธิที่สามารถคิดแตกต่างได้ ส่วนตัวไม่กลัวทัวร์ลง เพราะต้องการทำหน้าที่เพื่อให้ได้นายกรัฐมนตรีของประเทศไทย ส่วนที่จะมีข้อตำหนินั้นพร้อมยอมรับคำตำหนิส่วนตัวไม่มีปัญหาและยอมรับได้ พร้อมย้ำว่า ได้ทำหน้าที่อย่างดีที่สุด ทำด้วยความเป็นกลางแล้ว เป็นเรื่องธรรมดา หากต้องตัดสินอะไร ย่อมมีผู้เห็นด้วยและไม่เห็นด้วย
ทั้งนี้ การประชุมรัฐสภาเมื่อวันที่ 19 ก.ค.ที่ผ่านมายังมีบางประเด็นที่ไม่เข้าใจถึงการทำหน้าที่ของประธานการประชุมเพื่อเลือกนายกรัฐมนตรีตามรัฐธรรมนูญมาตรา 272 แต่ก่อนการประชุมมีข้อคิดเห็นที่ยังไม่ตรงกัน คือ มีบางฝ่ายเสนอว่าไม่ควรเสนอชื่อซ้ำ เพราะจะไปขัดกับข้อบังคับข้อที่ 41 แต่มีอีกฝ่ายเห็นว่าการเสนอเลือกนายกรัฐมนตรีไม่ใช่ญัตติปกติทั่วไปเป็นการปฏิบัติตามรัฐธรรมนูญ และข้อบังคับการประชุม หมวด 9 ที่ได้ออกพิเศษเพื่อเลือกนายกรัฐมนตรี จึงเกิดการถกเถียงว่าไม่ควรใช้ข้อบังคับข้อที่ 41 และในการประชุมวิป 3 ฝ่าย เมื่อวันที่ 18 ก.ค.66 ก็ยังไม่ได้ข้อสรุป จึงต้องไปขอความคิดเห็นต่อที่ประชุมรัฐสภาในวันที่ 19 ก.ค.66 แต่การถกเถียงก็ยังไม่ได้ข้อสรุป และจากการที่ได้ฟังการอภิปรายตลอด 6 ชั่วโมงไม่มีใครอภิปรายว่า มีเหตุการณ์อะไรเปลี่ยนแปลงไปจากเดิม จึงตัดสินใจวินิจฉัยให้ลงมติจนมีการวิพากษ์วิจารณ์การทำหน้าที่เกิดขึ้น
นายวันมูหะมัดนอร์ ชี้แจงว่า เป็นประธานรัฐสภาสามารถชี้ขาดได้โดยไม่ต้องรอมติที่ประชุม แต่ก็มีคนฟ้องได้ ไม่ใช่ไม่กล้าที่จะชี้ขาด แต่วินิจฉัยแล้วว่าไม่มีข้อมูลที่จะชี้ขาดอย่างใดอย่างหนึ่งได้ ก็เป็นเรื่องของข้อขัดแย้ง จึงใช้ข้อบังคับข้อที่ 151 การให้รัฐสภาตีความนั้นดีกว่าเป็นเรื่องที่ต้องให้ใครคนใดคนหนึ่งตัดสินใจ พร้อมย้ำว่าไม่มีวันที่จะท้อใจ เมื่อรับหน้าที่แล้วก็จะปฏิบัติหน้าที่ให้ดีที่สุด
“ทำหน้าที่ตามข้อบังคับการประชุมและตามนโยบายที่ยึดหลักจะปฏิบัตตัวเป็นกลางทางการเมือง ไม่ใช่รับฟังฝ่ายใดฝ่ายหนึ่ง ส่วนในการโหวตครั้งที่ 3 จะเสนอชื่อเดิมได้หรือไม่นั้น เรื่องนี้ตอบไม่ถูก ต้องแล้วแต่คำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญ”
นายวันมูหะมัดนอร์ กล่าว
หากพรรคก้าวไกลจะไปยื่นให้ศาลรัฐธรรมนูญตีความนั้นก็เป็นสิทธิ์ที่ทำได้ หากศาลวินิจฉัยออกมาเป็นอย่างไรก็ต้องดำเนินไปตามนั้น เพราะมีผลผูกพันไปทุกองค์กร ส่วนเรื่องเสียงวิพากษ์วิจารณ์ทั้งในโซเชียล และสมาชิกรัฐสภาหรือทัวร์ลงนั้น ใครจะคิดเห็นอย่างไรก็เป็นสิทธิ์ที่สามารถคิดแตกต่างได้ ส่วนตัวไม่กลัวทัวร์ลง เพราะต้องการทำหน้าที่เพื่อให้ได้นายกรัฐมนตรีของประเทศไทย ส่วนที่จะมีข้อตำหนินั้นพร้อมยอมรับคำตำหนิส่วนตัวไม่มีปัญหาและยอมรับได้ พร้อมย้ำว่า ได้ทำหน้าที่อย่างดีที่สุด ทำด้วยความเป็นกลางแล้ว เป็นเรื่องธรรมดา หากต้องตัดสินอะไร ย่อมมีผู้เห็นด้วยและไม่เห็นด้วย
สำหรับการโหวตเลือกนายกรัฐมนตรีในรอบต่อไปยังเป็นวันที่ 27 ก.ค.นี้ ซึ่งได้ออกหนังสือเชิญประชุมแล้ว และจะประชุมวิป 3 ฝ่ายก่อนในวันที่ 26 ก.ค.66 เวลา 14.00 น.
โดย สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (21 ก.ค. 66)
Tags: ประชุมรัฐสภา, วันมูหะมัดนอร์ มะทา, โหวตนายก