ล่มซ้ำซาก! ประชุมบอร์ด กสทช.หลังไม่ครบองค์ประชุม

การประชุมกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) ในวันนี้ล่มอีกแล้ว โดยเมื่อถึงเวลาเริ่มประชุมมีกรรมการเข้าประชุมเพียง 2 คนคือ นพ.สรณ บุญใบชัยพฤกษ์ ประธานบอร์ดกสทช. และนายต่อพงศ์ เสลานนท์ เข้าร่วมประชุม ขณะที่บอร์ดที่เหลือ 4 คนไม่เข้าร่วมประชุม ประธานจึงสั่งเลื่อนการประชุม ทำให้ดีลควบรวม ระหว่างบริษัท แอดวานซ์ ไวร์เลส เน็ทเวอร์ค จำกัด (AWN) ในกลุ่ม บมจ.แอดวานซ์ อินโฟร์ เซอร์วิส (ADVANC) และ บมจ.ทริปเปิลที บรอดแบนด์ (3BB) ในกลุ่ม บมจ.จัสมิน อินเตอร์เนชั่นแนล(JAS) และการแต่งตั้งเลขาธิการ กสทช. ยังค้างการพิจารณา

ทั้งนี้ บอร์ด 4 คน คือ พล.อ.ท.ธนพันธุ์ หร่ายเจริญ ,น.ส.พิรงรอง รามสูต ,นายศุภัช ศุภชลาศัย และ นายสมภพ ภูริวิกรัยพงศ์ ที่ไม่ได้เข้าประชุม ได้ชี้แจงเหตุผลว่า ประธานได้นัดประชุมแบบเปิดเผยไม่ชอบด้วยขั้นตอนตามข้อบังคับการประชุมและใช้ดุลพินิจตามอำเภอใจ

เนื่องจากในการประชุม วาระส่วนใหญ่มีข้อมูลความลับทางธุรกิจของบริษัท ข้อมูลส่วนบุคคล และความลับราชการ เป็นต้น ซึ่งการเปิดเผยข้อมูลดังกล่าวมีข้อจำกัดและเงื่อนไขตามกฎหมาย เช่น พระราชบัญญัติข้อมูลข่าวสารของราชการ พ.ศ. 2540 พระราชบัญญัติคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล พ.ศ. 2562 และพระราชบัญญัติความลับทางการค้า พ.ศ. 2540 เป็นต้น การประชุมแบบแบบเปิดเผยโดยเปิดกว้างให้บุคคลที่ไม่เกี่ยวข้องรับทราบข้อมูลดังกล่าวข้างต้นมีความเสี่ยงที่จะละเมิดกฎหมาย รวมทั้งอาจต้องรับผิดทางแพ่ง ทางอาญา หรือทางปกครอง ถือเป็นการใช้อำนาจเกินขอบเขต

การกำหนดให้การประชุมใดเป็นการประชุมแบบเปิดเผยต้องคำนึงถึงลักษณะและเนื้อหาสาระของวาระว่าต้องไม่มีข้อมูลที่มีข้อจำกัดในการเปิดเผย และสุ่มเสี่ยงกับการละเมิดสิทธิของบุคคลใด รวมทั้งต้องเปิดโอกาสให้กรรมการมีสิทธิในการแสดงความคิดเห็นได้อย่างอิสระและไม่ต้องรับผิดชอบในการละเมิดที่อาจเกิดจากการแสดงความคิดเห็นที่บางครั้งกระทบกระเทือนถึงสิทธิบุคคลอื่น ดังนั้น มิใช่ทุกวาระสามารถจัดให้เป็นการประชุมแบบเปิดเผยได้ เช่น วาระการให้ความเห็นชอบผู้สมควรดำรงตำแหน่งเลขาธิการ

นอกจากนี้ยังมี 4 พฤติกรรมที่ใช้ดุลพินิจตามอำเภอใจ คือ การสั่งปิดประชุมกะทันหัน การเปลี่ยนแปลงกำหนดวันประชุม สถานที่ประชุม ยกเลิกประชุมตามความต้องการของประธาน ท่ามกลางเสียงทักท้วงของกรรมการส่วนใหญ่ในเรื่องความปลอดภัยและการบันทึกเสียง

รวมถึงการใช้ดุลพินิจกำหนดลำดับวาระเร่งด่วนโดยอำเภอใจแม้อำนาจในการนำเสนอและลำดับวาระว่าเรื่องใดเป็นวาระเร่งด่วนเพื่อเสนอต่อที่ประชุม เป็นอำนาจของ ประธาน กสทช. ตามระเบียบ ข้อบังคับการประชุม ซึ่งส่งผลทำให้ประธานเป็นผู้สามารถบริหารจัดการและชี้ขาดว่าจะพิจารณาวาระใดก่อนหลัง การใช้ดุลพินิจของประธานที่ผ่านมาในการจัดลำดับความสำคัญของวาระการประชุมกลับไม่คำนึงถึงผลประโยชน์สาธารณะเป็นที่ตั้ง

โดย สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (04 ต.ค. 66)

Tags: , ,