นายเอกนัฎ พร้อมพันธุ์ รมว.อุตสาหกรรม กล่าวปาฐกถาพิเศษหัวข้อ “Industry 5.0 ยกระดับอุตสาหกรรมไทย ก้าวข้ามความท้าทายเศรษฐกิจโลก” ในการจัดประชุมสามัญประจำปี 68 สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) ว่า ท่ามกลางปัญหาและอุปสรรคต่าง ๆ ที่บั่นทอนการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจของประเทศ แต่วันนี้ไทยยังมีโอกาสพลิกฟื้นภาวะเศรษฐกิจให้เติบโตอย่างต่อเนื่องด้วยการยกระดับอุตสาหกรรมไทยสู่อุตสาหกรรม 5.0 โดยอาศัยความได้เปรียบด้านความหลากหลายทางชีวภาพและความหลากหลายทางวัฒนธรรม ควบคู่กับโครงสร้างพื้นฐานที่มีประสิทธิภาพ ซึ่งต้องนำมาเป็นจุดแข็งเพื่อสร้างความสามารถในการแข่งขันของภาคอุตสาหกรรมไทย
“ช่วงนี้รัฐมนตรีอุตสาหกรรมงานหนักเรื่องตึกถล่ม เดิมตั้งใจจะมาให้กำลังใจผู้ประกอบการ แต่พอมาถึงงานกลับได้รับกำลังใจจากทุกคน ขอบอกว่าไม่เหนื่อย จะทำงานอย่างเต็มกำลัง” นายเอกนัฏ กล่าว
โดยกระทรวงฯ ได้กำหนดนโยบายการพัฒนาอุตสาหกรรมที่ชัดเจน เพื่อสร้างโอกาสและสร้างการเจริญเติบโตให้กับภาคอุตสาหกรรม โดยใช้หัวและใจในการทำงานเพื่อมุ่งสู่การปฏิรูปอุตสาหกรรมสู่เศรษฐกิจยุคใหม่ ทันสมัย สะอาด สะดวก โปร่งใส หรือนโยบาย 3 ปฏิรูป 3 แนวทาง
ปฏิรูปที่ 1 จัดการกากสารพิษที่ทำร้ายชีวิตประชาชน โดยการบริหารจัดการกากอุตสาหกรรมทั้งระบบ เพื่อคืนน้ำสะอาด อากาศบริสุทธิ์ให้ประชาชน เช่น การแก้ปัญหาฝุ่น PM 2.5 จากการเผาอ้อยในอุตสาหกรรมอ้อยและน้ำตาลทราย โดยส่งเสริมการเข้าถึงเครื่องจักรกลการเกษตร สนับสนุนการใช้ประโยชน์จากใบและยอดอ้อยเพื่อผลิตพลังงานไฟฟ้า สนับสนุนเงินทุนและสินเชื่อดอกเบี้ยต่ำ และส่งเสริมการใช้เทคโนโลยีเพื่อลดการเผาอ้อย การแก้ไขกฎหมายเพื่อส่งเสริมให้เกิดความยั่งยืน เช่น การปรับปรุง พ.ร.บ.โรงงาน พ.ศ.2535 โดยเพิ่มโทษการลักลอบทิ้งกากอุตสาหกรรม น้ำเสีย อากาศเสีย จากโทษปรับ เป็นจำคุกหรือทั้งจำทั้งปรับ เพิ่มอายุความจาก 1 ปี เป็น 5 ปี การจัดการกากอุตสาหกรรมอย่างครบวงจร ด้วยการผลักดันให้โรงงานอุตสาหกรรมเข้าประกอบการในเขตนิคมอุตสาหกรรม การคัดแยก/กำจัดขยะและกากอุตสาหกรรมอย่างถูกต้อง
“ผมลุยแก้ปัญหาเรื่องสินค้าด้อยคุณภาพจนมีข่าวว่าถูกตั้งค่าหัว 200-300 ล้านบาท แต่คิดว่าวันนี้น่าจะเป็นพันล้าน แต่ก็ไม่กลัว” นายเอกนัฏ กล่าว
รมว.อุตสาหกรรม กล่าวว่า สิ่งที่กำลังทำไม่ได้ง่ายอย่างที่พูด แม้ยอดส่งออกจะเติบโต แต่จีดีพีกลับโตไม่มาก เพราะมีอุตสาหกรรมศูนย์เหรียญที่ลักลอบเข้ามาดำเนินการ โดยหลีกเลี่ยงภาษีนำเข้า ไม่ขออนุญาตตั้งโรงงาน และทิ้งกากอุตสาหกรรมให้เกิดผลกระทบต่อประชาชนในประเทศ สร้างความเสียหายให้กับระบบเศรษฐกิจมูลค่ามหาศาลปีละหลายหมื่นล้านบาท
“จะคุยกับบีโอไอเรื่องการปรับเงื่อนไขส่งเสริมการลงทุน ไม่ดูเรื่องงบลงทุนอย่างเดียว ถ้าเป็นอุตสาหกรรมที่ไม่ก่อให้เกิดประโยชน์ต่อประเทศ ไม่มีการถ่ายทอดเทคโนโลยีก็ไม่เอา ไม่ยอมให้ถูกตราหน้าว่าเป็นที่ทิ้งขยะโลก และใช้ประเทศไทยเป็นทางผ่าน ที่ผ่านมามีคนมาวิ่งเต้นเรื่องนี้แต่ผมไม่เอาด้วย” นายเอกนัฏ กล่าว
ปฏิรูปที่ 2 สร้างความเท่าเทียมในการแข่งขันของ SMEs ไทย ด้วยการปกป้องและเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันผู้ประกอบการไทย เช่น การป้องกันการนำเข้าสินค้าไม่ได้มาตรฐาน โดยสร้างความเท่าเทียมด้านกฎระเบียบและภาษีระหว่างร้านค้าที่มีหน้าร้านในไทย ผู้ประกอบการออนไลน์ที่อยู่ในไทย โดยเฉพาะกลุ่ม SMEs และผู้ประกอบการออนไลน์ต่างประเทศ ยกตัวอย่างการดำเนินงานที่กระทรวงฯ กำลังเร่งผลักดัน คือ การใช้ Big Data และเทคโนโลยีปัญญาประดิษฐ์ AI ตรวจจับสินค้าที่ไม่ได้มาตรฐานใน E-Commerce ของประเทศ การแก้กฎระเบียบ/บังคับใช้กฎหมายอย่างเท่าเทียมในการตรวจสอบมาตรฐานสินค้า กระบวนการผลิตสินค้าและวัตถุอันตรายและการนำเข้าที่ต้องควบคุมเป็นการทั่วไปในเขต Free Zone การยกระดับขีดความสามารถในการแข่งขัน โดยผลักดันมาตรการ Made in Thailand และ SME GP ส่งเสริม SMEs และสตาร์ทอัพให้สามารถเข้าถึงแหล่งเงินทุน เทคโนโลยีและความรู้
ปฏิรูปที่ 3 สร้างอุตสาหกรรมเศรษฐกิจใหม่ที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม ซึ่งจะมุ่งเน้นอุตสาหกรรมเป้าหมายของประเทศ อาทิ อุตสาหกรรมยานยนต์ไฟฟ้า อิเล็กทรอนิกส์อัจฉริยะ การแปรรูปเกษตรมูลค่าสูง เครื่องมือแพทย์ ป้องกันประเทศ และอุตสาหกรรมพื้นฐานที่สำคัญ เช่น อุตสาหกรรมเหล็กและเหล็กกล้า การขับเคลื่อนการสร้างเกษตรมูลค่าสูง โดยปรับโครงสร้างภาคการเกษตร ยกระดับการพัฒนาสู่เกษตรอุตสาหกรรม ผ่านการดำเนินการตามมาตรการต่าง ๆ ได้แก่ การกำหนดชนิดและคุณภาพวัตถุดิบในการผลิตของโรงงาน การส่งเสริมการทำเกษตรทันสมัย การเพิ่มผลิตภาพภาคการเกษตร การสนับสนุนเครื่องจักรที่ทันสมัย การบริหารต้นทุนของเกษตรกร และการสร้างนักธุรกิจเกษตรอุตสาหกรรม รวมถึงการส่งเสริมอุตสาหกรรมสีเขียว ซึ่งจะทำให้ผลิตภัณฑ์มวลรวมสีเขียวของประเทศ (Green GDP) มีมูลค่าสูงขึ้น และปัจจุบันมีโรงงานอุตสาหกรรม (เฉพาะโรงงานจำพวก 3) ที่เข้าโครงการอุตสาหกรรมสีเขียวแล้ว 91% ซึ่งเรามีเป้าหมายในปีนี้ให้โรงงานอุตสาหกรรมต้องเข้าโครงการทั้งหมด 100% และในปี 2570 ครึ่งหนึ่งของสถานประกอบการอุตสาหกรรมจะต้องเข้าสู่อุตสาหกรรมสีเขียวระดับ 3 หรือมีการบริหารจัดการสิ่งแวดล้อมอย่างเป็นระบบ และคาดหวังว่าธุรกิจจะสามารถยกระดับไปสู่ระดับ 5 ได้ในท้ายที่สุด หรือมีการสร้างเครือข่ายสีเขียวครอบคลุมตลอดห่วงโซ่อุปทาน
สำหรับ 3 แนวทางภายใต้นโยบายของกระทรวงอุตสาหกรรม ได้แก่
- แนวทางที่ 1 สร้างความร่วมมือ พันธมิตร ห่วงโซ่อุตสาหกรรมที่สมบูรณ์แบบ เพื่อขับเคลื่อนการปฏิรูปอุตสาหกรรม โดยการปรับมาตรการและสิทธิประโยชน์เพื่อดึงดูดการลงทุน ส่งเสริมอุตสาหกรรมของประเทศไทยให้สามารถเข้าเป็นส่วนหนึ่งในห่วงโซ่มูลค่าของอุตสาหกรรมหลักต่าง ๆ ของโลก
- แนวทางที่ 2 สร้าง Ease of Doing Business เช่น การปรับกฎหมายและภารกิจเข้าสู่ภาครัฐดิจิทัล โดยการให้บริการผ่านระบบออนไลน์ แบบ One Stop Service ได้แก่ ระบบขออนุมัติ/อนุญาต (e-License) ระบบกำกับดูแล (e-Monitoring) ระบบรับชำระเงิน (e-Payment) และระบบรายงานข้อมูล (e-Report) รวมถึงการปรับปรุงกฎหมายที่เกี่ยวข้อง
- แนวทางที่ 3 จัดตั้งกองทุนเพื่อการปฏิรูปอุตสาหกรรมเพื่อความยั่งยืน โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อสนับสนุนการพัฒนาศักยภาพบุคลากรทั้ง Hard Skills และ Soft Skills โดยเฉพาะกำลังคนกลุ่มเป้าหมายที่อยู่ในสายอาชีพและอาชีวศึกษา บุคลากรภาคอุตสาหกรรมและบุคลากรศักยภาพสูง เช่น นักพัฒนาเทคโนโลยีผู้เชี่ยวชาญทักษะ STEM เพื่อเตรียมพร้อมในการปรับตัวสู่การทำงานร่วมกับ AI ในยุคของการปฏิรูปอุตสาหกรรม
รมว.อุตสาหกรรม กล่าวว่า กระทรวงฯ มีความมุ่งมั่นในการสร้างอุตสาหกรรมเศรษฐกิจยุคใหม่ ขับเคลื่อนเศรษฐกิจไทย เชื่อมโยงเศรษฐกิจโลก นำพาอุตสาหกรรมไทยเข้าสู่อุตสาหกรรม 5.0 เร่งดึงดูดนักลงทุนชาวต่างชาติให้เข้ามาลงทุน เพื่อสร้างรายได้ให้กับประเทศและผู้ประกอบการและก่อให้เกิดการจ้างงานเพิ่มขึ้นภายในประเทศ โดยได้จัดทำมาตรการปรับโครงสร้างอุตสาหกรรมที่มุ่งเน้นการปฏิรูปอุตสาหกรรมเพื่อรองรับการปรับโครงสร้างเศรษฐกิจใหม่ เพื่อให้เกิดการขับเคลื่อนไปสู่การปฏิบัติอย่างเป็นรูปธรรมและส่งผลให้ภาคอุตสาหกรรมไทยสามารถแข่งขันได้ในตลาดโลกและเติบโตได้อย่างยั่งยืน
เราจำเป็นต้องมีการปฏิรูปครั้งใหญ่ เพื่อยกระดับภาคอุตสาหกรรมภายใต้บริบทความท้าทายในยุคอุตสาหกรรม 5.0 (Industry 5.0) ที่มีความซับซ้อนทางเทคโนโลยีมากขึ้น ซึ่งเป็นภารกิจใหญ่ของกระทรวงฯ ที่ไม่สามารถทำให้แล้วเสร็จได้เพียงข้ามคืน และไม่สามารถทำได้เพียงลำพัง แต่จำเป็นต้องมีการสานพลังจากทุกภาคส่วน ซึ่งจะเป็นพลังหนึ่งที่สำคัญอย่างมากที่ช่วยผลักดันให้ประเทศไทยของเราสามารถก้าวสู่ประเทศที่มีความมั่นคง มั่งคั่ง และยั่งยืน กระทรวงฯ พร้อมที่จะจับมือพาทุกคนฝ่าฟันวิกฤต และหลุดพ้นจากกับดักประเทศรายได้ปานกลาง เพื่อก้าวเดินไปด้วยกันสู่การสร้างเศรษฐกิจใหม่ และการพัฒนาอย่างยั่งยืน ซึ่งจะเป็นกลไกสำคัญในการเชื่อมโยงเศรษฐกิจไทยสู่เศรษฐกิจโลกต่อไป
“ผมจะไม่ปล่อยให้สินค้าด้อยคุณภาพทะลักเข้ามา เหมือนปล่อยให้ไฟไหม้บ้านแล้วใครจะมารับผิดชอบ ใครจะกล่าวหาว่าผมเป็นพวกชาตินิยมก็ไม่ว่า เพราะต้องดูแลผู้ประกอบการในประเทศก่อน” นายเอกนัฏ กล่าว
โดย สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (31 มี.ค. 68)
Tags: อุตสาหกรรม, เอกนัฎ พร้อมพันธุ์