ลีน่า ข่าน สาบานตนเข้ารับตำแหน่งประธานคณะกรรมาธิการการค้าของรัฐบาลกลางสหรัฐ (FTC) เมื่อวานนี้ โดยลีน่า ข่านเป็นนักวิจัยด้านกฎหมายต่อต้านการผูกขาดผู้ค้นคว้าเรื่องอำนาจมหาศาลของบริษัทเทคโนโลยีรายใหญ่ที่มีต่อตลาด การแต่งตั้งลีน่า ข่านเป็นประธาน FTC นั้น เป็นชัยชนะครั้งใหญ่ของฝ่ายก้าวหน้าที่ต้องการกำกับดูแลบริษัทเทคโนโลยีให้เข้มงวดขึ้น เนื่องจากบริษัทเหล่านี้นับเป็นส่วนสำคัญของภาคธุรกิจที่กำลังเติบโตในระบบเศรษฐกิจ
ก่อนหน้านี้ ลีน่าข่านได้ทำหน้าที่เป็นอาจารย์ผู้สอนที่คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยโคลัมเบีย ในฐานะผู้เชี่ยวชาญด้านกฎหมายต่อต้านการผูกขาดในคณะกรรมาธิการด้านการยุติธรรมแห่งสภาผู้แทนราษฎร ข่านเป็นหนึ่งในผู้จัดทำรายงานที่ระบุว่า แอมะซอน, แอปเปิล, เฟซบุ๊ก และอัลฟาเบทซึ่งเป็นบริษัทแม่ของกูเกิลนั้น ได้หาประโยชน์โดยมิชอบจากอิทธิพลของบริษัทที่มีต่อตลาด
กลุ่มเคลื่อนไหว Public Citizen ระบุในแถลงการณ์ว่า “เราขอชื่นชมประธานาธิบดีไบเดนและวุฒิสภาสหรัฐที่ยอมรับว่า ปัจจุบันเราจำเป็นต้องจัดการกับปัญหาการใช้อำนาจของบริษัทรายใหญ่ตามอำเภอใจอย่างเร่งด่วน”
ศูนย์วิจัยด้านนวัตกรรมและเทคโนโลยีสารสนเทศของสหรัฐ (ITIF) ซึ่งมีตัวแทนจากบริษัทเทคโนโลยีรายใหญ่เป็นสมาชิกคณะกรรมการบริหาร ออกแถลงการณ์เตือนว่า การใช้แนวทางแบบประชานิยมสำหรับกฎหมายต่อต้านการผูกขาดนั้น อาจทำให้เกิดผลเสียต่อบริษัทในสหรัฐ และเอื้อประโยชน์ให้บริษัทคู่แข่งจากต่างชาติซึ่งไม่ได้มีจริยธรรมมากเท่ากันได้
ทั้งนี้ รัฐบาลกลางสหรัฐและหน่วยงานบริหารของรัฐต่างๆ อยู่ในระหว่างการฟ้องร้องและดำเนินการสอบสวนบริษัทเทคโนโลยีรายใหญ่หลายราย โดย FTC ได้ฟ้องร้องเฟซบุ๊กและสอบสวนอเมซอน ขณะที่กระทรวงยุติธรรมสหรัฐได้ฟ้องร้องกูเกิล
เมื่อปี 2560 ลีน่า ข่านเผยแพร่บทความลงในวารสารเยล ลอว์ เจอร์นอลในหัวข้อ “Amazon’s Antitrust Paradox” (ความย้อนแย้งของนโยบายต่อต้านการผูกขาดของแอมะซอน) ซึ่งได้รับการชื่นชมอย่างมาก โดยบทความระบุว่า กฎหมายต่อต้านการผูกขาดแบบดั้งเดิมที่มุ่งเน้นการพิจารณาด้านราคานั้น ไม่เพียงพอต่อการวิเคราะห์ความเสียหายจากการผูกขาดที่แอมะซอนได้กระทำ
โดย สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (16 มิ.ย. 64)
Tags: FTC, กฎหมายต่อต้านการผูกขาด, การค้า, คณะกรรมาธิการการค้าของรัฐบาลกลางสหรัฐ, ระบบเศรษฐกิจ, ลีน่า ข่าน, เทคโนโลยี