ร้านซีฟู้ดชื่อดังของสหรัฐ “Red Lobster” จ่อหาผู้ซื้อกิจการ หวังเลี่ยงยื่นล้มละลาย

สำนักข่าวซีเอ็นบีซีรายงานโดยอ้างแหล่งข่าววงในว่า เรด ล็อบสเตอร์ (Red Lobster) เชนร้านอาหารซีฟู้ดชื่อดังของสหรัฐ กำลังมองหาคนมาซื้อกิจการเพื่อหลีกเลี่ยงการยื่นล้มละลาย

แหล่งข่าวระบุว่า ก่อนหน้านี้บริษัทคิดจะยื่นเรื่องล้มละลายเพื่อปรับโครงสร้างหนี้และยกเลิกสัญญาเช่าที่แพงและกินระยะเวลานาน แต่ในช่วงไม่กี่เดือนที่ผ่านมาบริษัทยังได้มองหาคนมาซื้อกิจการอีกด้วย โดยมีอย่างน้อยหนึ่งบริษัทที่สนใจเข้าซื้อ แต่ตกลงกันไม่ได้

ทั้งนี้ ยังไม่เป็นที่ชัดเจนว่าในที่สุดแล้วเรด ล็อบสเตอร์ จะแก้ไขปัญหาทางการเงินอย่างไร โดยอาจหาผู้ซื้อได้ หรืออาจยื่นฟ้องล้มละลาย หรือไม่ก็เจ้าหนี้อาจเข้าควบคุมกิจการไปเลย

แหล่งข่าวกล่าวว่า ถึงแม้เรด ล็อบสเตอร์ จะหาคนซื้อได้ แต่ก็ยากที่จะหลีกเลี่ยงการยื่นเรื่องล้มละลายเพื่อฟื้นฟูกิจการ (Chapter 11) เนื่องจากบริษัทต้องการยกเลิกสัญญาเช่าเป็นจำนวนมาก

ตลอดทศวรรษที่ผ่านมา เรด ล็อบสเตอร์ มีการเปลี่ยนมือเจ้าของมาแล้วหลายราย โดยได้กู้เงินมาทำสัญญาเช่าระยะยาวในมากกว่า 700 สาขา ซึ่งส่งผลกระทบต่อฐานะทางการเงินของบริษัท

นายโจนาธาน ทิบัส ผู้เชี่ยวชาญด้านการปรับโครงสร้างองค์กรและเป็นหุ้นส่วนผู้จัดการของบริษัทที่ปรึกษาอัลวาเรซ แอนด์ มาร์แซล (Alvarez & Marsal) เพิ่งได้รับการแต่งตั้งเป็นซีอีโอคนใหม่ของเรด ล็อบสเตอร์ หลังจากที่คณะผู้บริหารระดับสูงพากันลาออกเป็นจำนวนมาก ซึ่งทำให้บริษัทประสบปัญหาในการฟื้นฟูกิจการ

อย่างไรก็ดี ปัญหาของเรด ล็อบสเตอร์ นั้นใหญ่กว่าแค่การเปลี่ยนแปลงผู้นำ โดยโมเดลธุรกิจร้านอาหารแนวแคชชวลไดนิ่ง (Casual dining) ต่างประสบปัญหามานานกว่า 2 ทศวรรษในการแข่งขันกับร้านอาหารแบบฟาสต์แคชชวล (Fast casual) อย่างพาเนร่า เบรด (Panera Bread) และชิโปตเล เม็กซิกัน กริลล์ (Chipotle Mexican Grill) นอกจากนี้ ร้านอาหารที่บริการเต็มรูปแบบอย่างเรด ล็อบสเตอร์ ยังได้รับผลกระทบหนักจากช่วงโควิด-19 อีกด้วย

ยิ่งไปกว่านั้น เรด ล็อบสเตอร์ ยังพลาดท่าเสียเองจากการออกโปรโมชัน “กุ้งไม่อั้น” (endless shrimp) โดยเมื่อปีที่แล้ว เรด ล็อบสเตอร์ ได้เปลี่ยนความถี่ในการจัดโปรฯ จากสัปดาห์ละครั้งมาเป็นจัดทุกวัน หวังกระตุ้นยอดขายช่วงครึ่งปีหลังที่ซบเซา

แต่โปรฯ ดังกล่าวดันได้รับความนิยมมากเกินไป ทำให้ในที่สุด เรด ล็อบสเตอร์ รายงานผลขาดทุนเป็นจำนวน 11 ล้านดอลลาร์ในไตรมาสที่ 3 ของปีงบการเงิน และขาดทุนอีก 12.5 ล้านดอลลาร์ในไตรมาสถัดมา

ทั้งนี้ บริษัท ไทยยูเนี่ยน กรุ๊ป จำกัด (มหาชน) ซึ่งเป็นทั้งซัพพลายเออร์อาหารทะเลและเป็นพาร์ทเนอร์เก่าแก่ของเรดล็อบสเตอร์ ได้ซื้อหุ้นส่วนน้อยของเชนร้านอาหารแห่งนี้เมื่อปี 2559 ต่อมาไทยยูเนี่ยนก็ร่วมมือกับกลุ่มนักลงทุนที่เรียกว่า “กลุ่มพันธมิตรด้านอาหารทะเล” (Seafood Alliance) เพื่อเข้าซื้อหุ้นที่เหลือจากบริษัทโกลเดน เกต แคปิตอล (Golden Gate Capital) ในปี 2563 เพียงไม่กี่เดือนหลังเกิดโควิด-19 แต่เมื่อเดือนม.ค.ที่ผ่านมา ไทยยูเนี่ยน กรุ๊ป ก็ประกาศแผนถอนทุนจากเรด ล็อบสเตอร์

โดย สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (26 เม.ย. 67)

Tags: , , , , ,