สำนักอนามัย กรุงเทพมหานคร ระบุว่า ในช่วงหน้าร้อนแบบนี้ การสัมผัสอากาศร้อนเป็นเวลานานจนร่างกายไม่สามารถปรับตัวต่อความร้อนได้ทำให้เกิดผลกระทบต่อสุขภาพ อาจทำให้เกิดอาการได้ดังนี้
*ผื่น
อาการ
- มีตุ่มคันเล็กๆ มักพบบริเวณคอ หน้าอก ใต้ราวนม รักแร้ ขาหนีบ ข้อพับแขนและขา
การดูแลรักษา
- อยู่ในที่อากาศเย็น เพื่อลดการเหงื่อออก
- อาบน้ำบ่อยๆ รักษาความสะอาดของผิว
- สวมใส่เสื้อผ้าที่ระบายอากาศได้ดี
- ทายาที่มีฤทธิ์ช่วยลดอาการคัน
*บวม
อาการ
- บวมโดยเฉพาะบริเวณเท้า มักเกิดขึ้นในช่วง 2-3 วันแรกที่สัมผัสความร้อน
การดูแลรักษา
- อาการบวมสามารถหายเองได้
- ควรพักผ่อนให้เพียงพอและนอนยกขาให้สูง
- ไม่ควรใช้ยาขับปัสสาวะ
*ตะคริว
อาการ
- กล้ามเนื้อหดเกร็งเฉียบพลัน มักเกิดบริเวณหน้าท้อง แขน ขา
การดูแลรักษา
- ควรพักทันทีในที่ร่มและเย็น
- นวดเบาๆ ตรงที่เป็นตะคริว สลับกับการยืดกล้ามเนื้อ
- ดื่มน้ำสะอาดหรือเครื่องดื่มเกลือแร่ เพื่อชดเชยน้ำที่ร่างกายสูญเสียไป
- หากเป็นตะคริวนานกว่า 1 ชั่วโมง ควรปรึกษาแพทย์
*ลมแดด
อาการ
- หน้ามืด วิงเวียน และเป็นลมหมดสติ พบบ่อยในผู้ที่ไม่เคยชินกับอากาศร้อน
การดูแลรักษา
- ควรพักที่ร่มและเย็น นอนหงายลงกับพื้น เหยียดแขนขา
- ใช้หมอนหรือสิ่งอื่นรองขาและเท้าให้สูงกว่าลำตัว
- คลายเสื้อผ้าให้หลวม ใช้ผ้าชุบน้ำเย็นเช็ดหน้า และบีบนวดแขนขา
- หากอาการไม่ดีขึ้นใน 30 นาที ควรรีบไปพบแพทย์
*เพลียแดด
อาการ
- เหงื่อออกมาก อ่อนแรง ปวดกล้ามเมื้อ ปวดหัว เวียนหัว สับสน มึนงง คลื่นไส้ อาเจียน และอาจเป็นลม
การดูแลรักษา
- ย้ายผู้ป่วยไปอยู่ในที่ร่มและเย็น หรือสถานที่ที่มีเครื่องปรับอากาศ
- ถอดเสื้อผ้าผู้ป่วยออกให้เหลือเท่าที่จำเป็น เพื่อระบายความร้อน
- จับผู้ป่วยนอนราบ ใช้หมอนหรือสิ่งอื่นรองขาและเท้าให้สูงกว่าลำตัว
- ห่มด้วยผ้าเปียกและใช้พัดลมเป่า วางถุงใส่น้ำแข็งไว้ตามซอกคอ รักแร้และขาหนีบ
- หากอาการไม่ดีขึ้น ให้รีบนำส่งโรงพยาบาลทันที
*โรคฮีทสโตรก
อาการ
- ตัวร้อนจัด (อุณหภูมิร่างกายมากกว่า 40 องศาเซลเซียส) ผิวหนังแดง แห้ง เหงื่อไม่ออก ปวดหัว สับสน มึนงง คลื่นไส้ อาเจียน ตอบสนองช้า หมดสติและอาจเสียชีวิตได้
การดูแลรักษา
- ย้ายผู้ป่วยไปอยู่ในที่ร่มและเย็น หรือสถานที่ที่มีเครื่องปรับอากาศ
- ถอดเสื้อผ้าผู้ป่วยออกให้เหลือเท่าที่จำเป็น เพื่อระบายความร้อน
- จับผู้ป่วยนอนราบ ใช้หมอนหรือสิ่งอื่นรองขาและเท้าให้สูงกว่าลำตัว
- ใช้ผ้าชุบน้ำเย็นเช็ดตัวและใช้พัดลมเป่า วางถุงใส่น้ำแข็งไว้ตามซอกคอ รักแร้และขาหนีบ เพื่อช่วยให้อุณหภูมิในร่างกายเย็นลง
- หากหมดสติให้จับนอนตะแคง เพื่อป้องกันโคนลิ้นอุดตันทางเดินหายใจ และควรรีบนำส่งโรงพยาบาลทันที
โดย สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (06 เม.ย. 67)