นพ.ธิติ แสวงธรรม รองอธิบดีกรมอนามัย กระทรวงสาธารณสุข (สธ.) เปิดเผยแนวทางป้องกันฝุ่นละอองขนาดเล็ก (PM 2.5) ว่า สธ. มีมาตรการ “ห้องปลอดฝุ่น” คือห้องที่ช่วยลดปริมาณฝุ่นละอองภายในห้อง และลดโอกาสสัมผัสฝุ่นละอองภายในอาคาร ในภาวะที่เกิดฝุ่นละอองสูงในบรรยากาศ โดยเฉพาะกลุ่มเสี่ยง
ทั้งนี้ โดยหลักการแล้ว ห้องปลอดฝุ่น คือ ห้องที่ป้องกันฝุ่นจากภายนอกเข้าไปในห้อง, ป้องกันการก่อให้เกิดฝุ่นภายในห้อง, ป้องกันการสะสมของฝุ่นภายในห้อง และลดฝุ่นลงได้มากถึง 50-80% โดยรูปแบบของห้องปลอดฝุ่นแบ่งออกเป็น 3 ชนิด คือ 1. การปิดประตูหน้าต่าง 2. ระบบฟอกอากาศ และ 3.ระบบแรงดันบวก
สำหรับวิธีการทำห้องปลอดฝุ่น คือ
1. เลือกพื้นที่หรือห้องสำหรับทำห้องปลอดฝุ่น ห่างจากแหล่งกำเนิดฝุ่น มีช่องว่าง ประตู หน้าต่างน้อย
2. ปิดประตู-หน้าต่างให้มิดชิด เพื่อลดช่องว่าง ป้องกันฝุ่นจากภายนอกเข้ามาในห้อง
3. ตรวจสอบรอยรั่วของห้อง เช่น หน้าต่าง ประตู โดยปิดช่องหรือรูที่อากาศภายนอกเข้าอาคารได้ด้วยวัสดุปิดผนึก เช่น พลาสติก ยิปซัมบอร์ด หรือเทป
4. เลือกวิธีการลดฝุ่น ด้วยระบบฟอกอากาศ หรือระบบแรงดันบวก ทั้งนี้ กรณีที่ใช้เครื่องฟอกอากาศ ควรหมั่นตรวจและควรเปลี่ยนทุก 6 เดือน-1 ปี
5. ดูแลรักษาห้อง ทำความสะอาด (เน้นแบบเปียก) จัดสภาพแวดล้อมภายนอก เพิ่มการระบายอากาศ
โดย สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (23 ม.ค. 68)
Tags: PM2.5, กรมอนามัย, กระทรวงสาธารณสุข, ธิติ แสวงธรรม, สธ., ห้องปลอดฝุ่น