จากกรณีพบประชาชนป่วยโรคเยื่อบุตาอักเสบ และตาแดง จำนวน 200 คน ในคอนโดมิเนียมแห่งหนึ่งในกรุงเทพมหานคร โดยจากการตรวจสอบพบเชื้ออะแคนทามีบา (Acanthamoeba) ในน้ำประปา
นพ.อภิชาต วชิรพันธ์ รองอธิบดีกรมควบคุมโรค กระทรวงสาธารณสุข (สธ.) กล่าวว่า เชื้ออะแคนทามีบา (Acanthamoeba) เป็นเชื้อปรสิตที่ก่อโรคและพบได้ในสิ่งแวดล้อมทั่วไป เช่น น้ำ ดิน ฝุ่นละออง ซึ่งก่อให้เกิดโรคได้ไม่บ่อย แต่ทุกคนสามารถติดเชื้อได้ ซึ่งอาการมักไม่รุนแรง
โรคที่พบบ่อยที่สุดหากติดเชื้อนี้คือ กระจกตาอักเสบ (Acanthamoeba keratitis) โดยพบว่าผู้ที่ใส่คอนแทคเลนส์มีโอกาสสูงที่จะติดเชื้อ และเกิดกระจกตาอักเสบ หากทำความสะอาดไม่ถูกวิธี ใส่ไม่ถูกสุขลักษณะ ใส่ในขณะที่ว่ายน้ำหรืออาบน้ำ รวมทั้งผู้ที่เคยมีประวัติกระจกตาอักเสบมาก่อน ผู้ป่วยมักมีอาการปวดตา ตาแดง น้ำตาไหล แพ้แสง การมองเห็นลดลง
สำหรับการติดเชื้อที่สมองหรือการติดเชื้อแบบแพร่กระจายไปยังส่วนต่าง ๆ ของร่างกาย ซึ่งมีความรุนแรงนั้นพบได้น้อยมาก ผู้ที่มีความเสี่ยงที่จะมีอาการรุนแรง ได้แก่ กลุ่มผู้มีภูมิคุ้มกันบกพร่อง
เชื้อนี้สามารถเข้าสู่ร่างกายได้หลายช่องทาง เช่น ผ่านทางดวงตาโดยเฉพาะในผู้ที่ใส่คอนแทคเลนส์ ทางบาดแผลที่ผิวหนัง การสูดหายใจเอาเชื้อเข้าสู่ปอด
ในส่วนของการป้องกันการติดเชื้อที่กระจกตา และการรักษา ทำได้โดยการล้างมือให้สะอาดอยู่เสมอ โดยเฉพาะก่อนสัมผัสดวงตา หลีกเลี่ยงการขยี้ตา เพราะจะทำให้เชื้อโรคแพร่กระจายสู่ดวงตาได้ ใช้น้ำสะอาดในการอุปโภค บริโภค หลีกเลี่ยงการใช้สระว่ายน้ำที่ไม่ได้รับการดูแลอย่างถูกต้อง หลีกเลี่ยงการอยู่ใกล้หรือใช้ของร่วมกับคนที่ป่วยเป็นโรคตาแดง เพราะจะทำให้ติดต่อกันได้ง่าย
ทั้งนี้ สำหรับผู้ที่ใส่คอนแทคเลนส์นั้น การดูแลรักษาความสะอาดคอนแทคเลนส์มีความสำคัญมาก ควรหลีกเลี่ยงการใช้น้ำประปาหรือน้ำจืดในการล้างเลนส์ เชื้อนี้ถูกทำลายด้วยวิธีการเติมคลอรีนให้มีคลอรีนอิสระคงเหลือไม่ต่ำกว่า 0.2 ส่วนในล้านส่วน (ppm) ควรไปรับการตรวจรักษาเพื่อการวินิจฉัยที่ถูกต้อง กรณีมีการติดเชื้อ แพทย์จะพิจารณาให้ยาปฏิชีวนะที่เหมาะสม
นพ.อภิชาต กล่าวว่า ในช่วงหน้าฝนนี้มีโอกาสพบผู้ป่วยโรคตาแดงเพิ่มขึ้น แม้เกิดได้จากหลายสาเหตุ เช่น เชื้อไวรัส เชื้อแบคทีเรีย รวมทั้งเชื้อปรสิต แต่สามารถป้องกันโรคได้ ดังนี้
1. ล้างมือด้วยน้ำและสบู่ให้สะอาดอยู่เสมอ
2. ไม่คลุกคลีใกล้ชิดหรือใช้สิ่งของร่วมกับผู้ป่วย
3. หากฝุ่นละอองหรือน้ำสกปรกเข้าตา ควรล้างตาด้วยน้ำสะอาดทันที ไม่ควรขยี้ตา
4. หมั่นดูแลรักษาความสะอาดของร่างกาย สิ่งของเครื่องใช้ต่าง ๆ เช่น ผ้าเช็ดหน้า ผ้าปูที่นอน ปลอกหมอน เสื้อผ้า ให้สะอาดอยู่เสมอ
5. ผู้ใส่คอนแทคเลนส์ต้องดูแลรักษาความสะอาด และสวมใส่อย่างถูกวิธี
6. หมั่นทำความสะอาดแทงก์น้ำใช้ และสระว่ายน้ำให้สะอาดอย่างถูกวิธีอยู่เสมอ
7. สำหรับผู้ป่วยโรคตาแดงนั้นไม่ควรขยี้ตา การเช็ดน้ำตาหรือขี้ตาให้ใช้กระดาษทิชชู หรือผ้าสะอาดเช็ด รักษาตัวตามคำแนะนำของแพทย์
ด้านกรมอนามัย กระทรวงสาธารณสุข ได้ให้คำแนะนำนิติบุคคลอาคารชุดให้ดำเนินการตรวจสอบรอยรั่วของระบบน้ำ ล้างถังพักน้ำท่อน้ำ และสระว่ายน้ำด้วยวิธี Chlorine shock การสื่อสารสร้างการรับรู้กับผู้อาศัย
สำหรับเชื้อปรสิตสามารถพบในแหล่งน้ำจืด น้ำกร่อย น้ำทะเล และน้ำเสียจากโรงงานอุตสาหกรรม ส่วนใหญ่การได้รับเชื้อจะได้รับโดยบังเอิญ และหากมีการติดเชื้อในระบบหายใจจะทำให้ปอดอักเสบติดเชื้อทางบาดแผลทำให้เกิด โรคผิวหนังอักเสบเรื้อรัง ส่วนการติดเชื้อที่กระจกตาซึ่งมักพบในผู้ใส่คอนแทคเลนส์ทำให้เกิดอาการระคายเคืองตา ตาแดง ปวดตา ถ้าเชื้อลุกลามอาจถึงขั้นสูญเสียการมองเห็นหรือตาบอดได้ แต่หากเชื้ออะแคนทามีบาเข้าสู่ระบบเลือดอาจก่อเกิดโรคสมองอักเสบและอาจเสียชีวิตในที่สุด
นอกจากนี้ยังมี ไมโครสปอริเดีย หรือปรสิตที่อาศัยอยู่ในแหล่งน้ำเช่นเดียวกับอะแคนทามีบา ผู้ติดเชื้อจะเกิดอาการท้องเสียเป็นน้ำ และเสี่ยงต่อภาวะแทรกซ้อนอื่นๆ นอกจากนี้ ยังเป็นสาเหตุสำคัญของโรคอุจจาระร่วง ดังนั้น หากมีอาการผิดปกติหลังจากสัมผัสน้ำหรือการใช้น้ำ ควรรีบไปพบแพทย์เพื่อวินิจฉัยและรับการรักษาอย่างทันท่วงที
โดย สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (12 ก.ค. 67)
Tags: Acanthamoeba, คอนโดมิเนียม, น้ำประปา, ปรสิต, อะแคนทามีบา, โรคเยื่อบุตาอักเสบ