รายย่อยถือหุ้น STARK ร่วมลงชื่อต่อสู้แล้ว 660 รายรวมความเสียหายทะลุ 1 พันลบ.

ผู้เสียหายรายย่อยจากการลงทุนหุ้น บมจ.สตาร์ค คอร์ปอเรชั่น (STARK) รวมตัวเข้าชื่อเพื่อต่อสู้เรียกร้องความเป็นธรรมล่าสุดมากกว่า 660 ราย ความเสียหายทะลุ 1 พันล้านบาท โดยขณะนี้ยังเปิดให้ผู้เสียหายมาร่วมลงทะเบียนอย่างต่อเนื่องเพื่อรวมตัวฟ้องคดีกลุ่มเรียกค่าเสียหายถึงวันที่ 25 มิ.ย.นี้ หลังจากที่มูลค่าหุ้นประมาณ 7 หมื่นล้านบาทละลายแทบเป็นศูนย์

นายณัฐวุฒิ รุ่งวงษ์ ประธานกรรมการ บริษัทหลักทรัพย์ที่ปรึกษาการลงทุน ต้นธารคอร์ปอเรชั่น จำกัด เปิดเผยว่ ขณะนี้ผู้ลงทุนรายย่อยที่เข้าลงทุนในหุ้น STARK เข้าชื่อกันแล้วล่าสุดกว่า 661 ราย รวมมูลค่าความเสียหายเกินกว่า 1,100 ล้านบาท โดยจะรวบรวมผู้เสียหายไปจนถึงวันที่ 25 มิ.ย.นี้ คาดว่าจะมีผู้เข้าชื่อร่วมดำเนินคดีกลุ่มไม่ต่ำกว่า 1,000 ราย จากผู้ถือหุ้นทั้งหมดมากกว่า 10,000 ราย

หุ้น STARK เคยมีมูลค่าสูงสุดตามราคาตลาดเมื่อครั้งราคา 5.50 บาท/หุ้น อยู่ที่ 73,733 ล้านบาท ล่าสุดถึงวันนี้ราคาหุ้นลงมาต่ำสุดที่ 0.01 บาท ซึ่งเป็นราคาต่ำสุดที่ตลาดหลักทรัพย์ฯกำหนด หรือเหลือมูลค่าหลักทรัพย์ตามราคาตลาดเพียง 135 ล้านบาท เท่ากับเงินละลายไปกับหุ้นตัวนี้มากถึง 73,598 ล้านบาท

ผู้ลงทุนหุ้น STARK ได้รับความเสียหายจากมูลค่าหุ้นแทบจะกลายเป็นศูนย์ ขณะที่เจ้าหนี้ที่มีหลักประกัน เจ้าหนี้การค้า เจ้าหนี้หุ้นกู้ที่ยังอาจพอมีหวังได้รับเฉลี่ยหนี้คืนบ้าง ซึ่งแม้ว่านักลงทุนในตลาดหลักทรัพย์จะมีคำเตือนว่า “การลงทุนย่อมมีความเสี่ยง” แต่ควรจะต้องเป็นความเสี่ยงจากความผิดพลาดในการลงทุนตามปกติธุรกิจ กรณี STARK เกิดจากการกระทำอันไม่สุจริตของผู้เกี่ยวข้อง ผู้ถือหุ้นรายย่อยจึงได้รวมตัวกันขึ้นเพื่อรวมรวมหลักฐานเพื่อดำเนินการฟ้องร้องแบบหมู่ หรือ Class Action

สมาคมส่งเสริมผู้ลงทุนไทยได้เปิดให้นักลงทุนที่ได้รับความเสียหายจากหุ้น STARK กรอกแบบฟอร์มข้อมูลหลักฐานเพื่อดำเนินคดีแบบกลุ่มได้ภายในวันที่ 25 มิ.ย.นี้ เนื่องจากตลาดหลักทรัพย์ได้กำหนดให้หุ้น STARK สามารถซื้อขายถึงวันที่ 30 มิ.ย.เป็นวันสุดท้าย ก่อนจะขึ้น SP ยาวระหว่างการฟื้นฟูกิจการ

นายณัฐวุฒิ กล่าวว่า ในจำนวนผู้ลงทุนที่เข้าชื่อกันมามีผู้เสียหายตั้งแต่ระดับหลักหมื่นบาทไปสูงสุดถึงหลักร้อยล้านบาท การดำเนินคดีแบบกลุ่มในกรณีทำนองเดียวกันนี้มีบทเรียนว่าผู้เสียหายชนะคดีมาแล้ว และได้รับเฉลี่ยเงินคืน โดยจะมีการแต่งตั้งผู้แทนของเหยื่อผู้เสียหายเพียงไม่กี่คนเท่านั้น ที่เหลือทั้งหมดเพียงแต่รวบรวมหลักฐานความเสียหายร่วมยื่นฟ้องเท่านั้น ทั้งนี้ได้มีนักกฎหมาย ทนายความผู้เชี่ยวชาญทั้งคดีกลุ่ม คดีธุรกิจร่วมกันเข้ามาเป็นผู้ดำเนินการตามกฏหมายเพื่อหวังจะให้เกิดความยุติธรรม เกิดบทเรียน และป้องปรามพฤติการณ์ฉ้อฉลในตลาดหุ้นในอนาคตต่อไป

โดย สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (21 มิ.ย. 66)

Tags: , , ,