ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) เผยแพร่รายงานการประชุมคณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) ครั้งที่ 4/2566 เมื่อวันที่ 2 ส.ค. 66 ซึ่งคณะกรรมการฯ มีมติเป็นเอกฉันท์ให้ขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบายอีก 0.25% จาก 2.00% เป็น 2.25% ต่อปี โดยประเมินว่าในบริบทเศรษฐกิจที่กำลังฟื้นตัวกลับเข้าสู่ระดับศักยภาพ นโยบายการเงิน ควรดูแลให้เงินเฟ้ออยู่ในกรอบเป้าหมายอย่างยั่งยืน และช่วยเสริมเสถียรภาพเศรษฐกิจการเงินในระยะยาว โดยการป้องกันการสะสมความไม่สมดุลทางการเงินที่เกิดจากอัตราดอกเบี้ยที่อยู่ในระดับต่ำเป็นเวลานาน รวมทั้งรักษาขีดความสามารถของนโยบายการเงินในการรองรับความไม่แน่นอนในระยะข้างหน้าที่อยู่ในระดับสูง
“จึงเห็นควรให้ปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบาย 0.25% ต่อปี ในการประชุมครั้งนี้ โดยการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบายเพิ่มเติม จะพิจารณาให้เหมาะสมกับแนวโน้ม และความเสี่ยงของเศรษฐกิจ และเงินเฟ้อ” รายงาน กนง.ระบุ
คณะกรรมการฯ ประเมินว่า เศรษฐกิจไทยมีแนวโน้มฟื้นตัวจากภาคการท่องเที่ยวและการบริโภคภาคเอกชนเป็นหลัก แม้ภาคการส่งออกขยายตัวต่ำกว่าที่ประเมินไว้ แต่คาดว่าจะทยอยปรับดีขึ้นในระยะต่อไป โดยปัจจัยที่สนับสนุนการฟื้นตัวของเศรษฐกิจ ได้แก่ (1) ภาคการท่องเที่ยวที่ฟื้นตัวต่อเนื่อง สะท้อนจากจำนวนนักท่องเที่ยวต่างชาติที่มีแนวโน้มเพิ่มขึ้น สอดคล้องกับประมาณการเดิมที่ 29 และ 35.5 ล้านคนในปี 2566 และ 2567 ตามลำดับ โดยแม้จำนวนนักท่องเที่ยวจีนจะฟื้นตัวช้ากว่าที่ประเมินไว้ แต่ได้รับการชดเชยจากจำนวนนักท่องเที่ยวประเทศอื่น และ (2) การบริโภคภาคเอกชนที่ขยายตัวดี จากผู้บริโภคในกลุ่มรายได้ปานกลางและสูง
ด้านอัตราเงินเฟ้อทั่วไปปรับลดลงในระยะสั้น แต่ในระยะข้างหน้ามีแนวโน้มทรงตัวอยู่ในกรอบเป้าหมาย โดยอัตราเงินเฟ้อทั่วไปปรับลดลงจาก (1) ผลของฐานที่สูงในปีก่อนและมาตรการลดค่าครองชีพซึ่งเป็นปัจจัยชั่วคราว และ (2) แนวโน้มค่าไฟฟ้าที่ปรับลดลงตามต้นทุนราคาก๊าซธรรมชาติ รวมถึงแนวโน้มราคาน้ำมันขายปลีกในประเทศที่ปรับลดลง ทั้งนี้ อัตราเงินเฟ้อทั่วไปในช่วงครึ่งหลังของปี 2566 จะปรับสูงขึ้นหลังปัจจัยชั่วคราวทยอยหมดลง ขณะเดียวกัน ราคาในหมวดอาหารสดมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นจากปรากฏการณ์เอลนีโญ
ทั้งนี้ คณะกรรมการฯ ได้มีการอภิปรายกันในประเด็นที่สำคัญ เช่น
– คณะกรรมการฯ เห็นว่าเศรษฐกิจและเงินเฟ้อยังมีความไม่แน่นอนสูงในระยะข้างหน้า โดยเฉพาะการฟื้นตัวของเศรษฐกิจโลก ความไม่แน่นอนทางการเมืองของไทย รวมถึงความรุนแรงของปรากฏการณ์เอลนีโญ
– คณะกรรมการฯ ประเมินว่าภาวะการเงินไทยผ่อนคลายลดลง แต่ยังเอื้อต่อการระดมทุนของภาคเอกชน และการฟื้นตัวของเศรษฐกิจ อย่างไรก็ดี ยังมีความกังวลต่อฐานะการเงินของครัวเรือนและธุรกิจกลุ่มเปราะบาง จึงสนับสนุนแนวทางแก้ปัญหาหนี้อย่างยั่งยืน
– คณะกรรมการฯ เห็นพ้องว่าการดำเนินนโยบายการเงิน ควรให้น้ำหนักเรื่องเสถียรภาพเศรษฐกิจการเงินในระยะยาว โดยอัตราดอกเบี้ยที่อยู่ในระดับต่ำเป็นเวลานาน เป็นหนึ่งในปัจจัยที่สนับสนุนให้เกิดการสะสมความเปราะบางต่อเสถียรภาพเศรษฐกิจการเงินในอนาคตได้ อาทิ หนี้ครัวเรือนที่เพิ่มขึ้นจนอยู่ในระดับสูง
– คณะกรรมการฯ เห็นว่าอัตราดอกเบี้ยที่สูงขึ้นจะช่วยเพิ่มขีดความสามารถของนโยบายการเงิน (policy space) ในการรองรับความไม่แน่นอนในระยะข้างหน้า เพื่อให้นโยบายการเงินและระบบการเงินมีศักยภาพเพียงพอ ในกรณีที่เกิดแรงกระแทกด้านลบต่อเศรษฐกิจ (shocks) ในอนาคต
– คณะกรรมการฯ เห็นว่าอัตราดอกเบี้ยนโยบาย ได้เข้าใกล้ระดับที่เหมาะสมกับเสถียรภาพเศรษฐกิจการเงินในระยะยาวเป็นลำดับ แต่ยังต้องติดตามความเสี่ยงด้านสูง นโยบายการเงินยังควรดูแลให้เงินเฟ้ออยู่ในกรอบเป้าหมายอย่างยั่งยืน ควบคู่กับให้ความสำคัญกับเสถียรภาพเศรษฐกิจการเงินในระยะยาว
“การปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบายเพิ่มเติม จะพิจารณาให้เหมาะสมกับแนวโน้มเศรษฐกิจ เงินเฟ้อ และการประเมินความเสี่ยงในระยะข้างหน้า (outlook dependent) ภายใต้ความไม่แน่นอนที่ยังอยู่ในระดับสูง” รายงาน กนง.ระบุ
โดย สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (16 ส.ค. 66)
Tags: กนง., คณะกรรมการนโยบายการเงิน, ธนาคารแห่งประเทศไทย, ธปท., อัตราดอกเบี้ย, เศรษฐกิจไทย