ธนาคารกลางญี่ปุ่น (BOJ) ได้เผยแพร่รายงานการประชุมซึ่งจัดขึ้นเมื่อวันที่ 21-22 ก.ย. โดยระบุว่า คณะกรรมการกำหนดนโยบายการเงินของ BOJ มีความเห็นตรงกันว่า BOJ จะเดินหน้าใช้นโยบายผ่อนการเงินเพื่อให้บรรลุเป้าหมายเงินเฟ้อที่ยั่งยืนควบคู่ไปกับการเติบโตของค่าจ้าง
รายงานการประชุมดังกล่าวระบุว่า สมาชิกส่วนใหญ่ของ BOJ มองว่า การยกเลิกใช้นโยบายอัตราดอกเบี้ยติดลบและยกเลิกการควบคุมเส้นอัตราผลตอบแทน (YCC) ควรจะเกิดขึ้นเมื่อ BOJ สามารถบรรลุเป้าหมายเงินเฟ้อที่ระดับ 2%
ในการประชุมวันเมื่อวันที่ 21-22 ก.ย. คณะกรรมการ BOJ มีมติคงนโยบายการเงินแบบผ่อนคลายพิเศษ (Ultra-loose Policy) โดยคงอัตราดอกเบี้ยนโยบายที่ระดับ -0.1% และคงอัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลญี่ปุ่นประเภทอายุ 10 ปีไว้ที่ราวระดับ 0% ซึ่งสะท้อนให้เห็นว่า BOJ มีความกังวลเกี่ยวกับความไม่แน่นอนของแนวโน้มเศรษฐกิจทั้งภายในประเทศและทั่วโลก
อย่างไรก็ดี ในการประชุมครั้งถัดมาซึ่งจัดขึ้นเมื่อวันที่ 31 ต.ค.นั้น คณะกรรมการ BOJ ประกาศปรับนโยบายควบคุมเส้นอัตราผลตอบแทนพันธบัตร (YCC) โดยกำหนดเพดานกรอบบนของอัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลอายุ 10 ปีที่ระดับ 1.0% พร้อมปรับเพิ่มคาดการณ์แนวโน้มอัตราเงินเฟ้อในปีงบประมาณ 2566 ขึ้นสู่ระดับ 2.8% จากเดิมที่ระดับ 2.5%
การดำเนินการดังกล่าวส่งผลให้อัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลญี่ปุ่นอายุ 10 ปีดีดตัวขึ้น 0.02% แตะที่ 0.970% ซึ่งเป็นระดับสูงสุดนับตั้งแต่เดือนพ.ค. 2556 เมื่อวันที่ 1 พ.ย. และทำให้ BOJ ตัดสินใจเข้าแทรกแซงตลาดด้วยการเข้าซื้อพันธบัตรฉุกเฉิน
เคอิซูเกะ ทัตสึรูตะ นักกลยุทธ์จากบริษัทมิตซูบิชิ ยูเอฟเจ มอร์แกน สแตนลีย์ ซิเคียวริตีส์ กล่าวว่า “การที่ BOJ ปรับนโยบายการเงินในการประชุมเมื่อวันที่ 1 พ.ย.ทำให้นักลงทุนในตลาดระมัดระวังว่า BOJ อาจจะเริ่มปรับนโยบายการเงินสู่ระดับปกติ และส่วนตัวผมมองว่าการปรับ YCC ถือเป็นก้าวแรกของ BOJ ในการยุติการใช้นโยบายอัตราดอกเบี้ยเป็นศูนย์ ซึ่งคาดว่าการยุตินโยบายดังกล่าวอาจจะเกิดขึ้นในช่วงต้นปีหน้า”
โดย สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (06 พ.ย. 66)
Tags: ธนาคารกลางญี่ปุ่น, นโยบายการเงิน